“รัสเซีย-ยูเครน” ทุบซ้ำ ยอดจอง “โรงแรม” เดือนมีนาฯร่วง

เป็นที่ชัดเจนว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2565 นอกจากจะยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19แล้ว ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมอีกระลอก

จากข้อมูลของสมาคมโรงแรมไทย (THA) ระบุถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก (Hotel Business Operator Sentiment Index) เดือนมีนาคม 2565 (ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 127 แห่ง) ว่า โรงแรมเปิดกิจการปกติแล้ว 79% เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่มีสัดส่วนเปิดกิจการปกติ 72% ทั้งนี้ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการ Test & Go

ขณะเดียวกันยังมีโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวอยู่ประมาณ 2% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมานานกว่า 1 ปี โดยกลุ่มนี้คาดว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไป ส่วนอีกประมาณ 19% ยังคงเปิดให้บริการเพียงแค่บางส่วน

โดยโรงแรมกลุ่มที่เปิดให้บริการปกติส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ในระดับที่ต่ำใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์กล่าวคือ โรงแรมมีรายได้ไม่เกิน 50% คิดเป็นสัดส่วน 80% และโรงแรมที่มีรายได้ไม่เกิน 30% คิดเป็นสัดส่วน 50% ขณะที่โรงแรมมีรายได้เกิน 50% มีสัดส่วนเพียง 19% เท่านั้น (เทียบรายได้กับช่วงเดียวกันของปี 2562)

ในด้านอัตราการเข้าพักนั้น พบว่าภาพรวมของเดือนมีนาคม 2565 โรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 33% ใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 34% ซึ่งเป็นผลจากแรงสนับสนุนของโครการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 และการผ่อนคลายมาตรการ Test & Go รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวยังมีปัจจัยลบเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ และส่งผลกระทบสำคัญในหลายประเด็น ได้แก่ นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทาง (50%) ลูกค้ายกเลิกการจองห้องพัก (25%) ความไม่สะดวกในการรับชำระเงิน (11%) ลูกค้าหรือคู่ค้าค้างชำระค่าบริการ (1%) และอื่น ๆ อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน ฯลฯ (13%)

โดยโรงแรมในทุกภาคของประเทศกว่า 90% ให้ข้อมูลว่ามีลูกค้ายกเลิกการจองห้องพัก ยกเว้นโรงแรมในภาคตะวันออกฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบน้อย

อย่างไรก็ดี โรงแรมส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าเป็นการยกเลิกการจองน้อยกว่า 25% ของยอดจองทั้งหมด และยังน้อยกว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่รัฐบาลประกาศระงับมาตรการ Test & Go ชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลด้วยว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลูกค้าหลักของโรงแรมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป แบ่งเป็นลูกค้าท่องเที่ยวทั่วไปชาวไทย 65% และลูกค้าท่องเที่ยวทั่วไปชาวต่างชาติ 47% โดยอันดับ 1 เป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันตก (56%) รองลงมาคือ เอเชียและตะวันออกกลาง (46%) อเมริกา (29%)

ส่วนลูกค้ารัสเซียและยุโรปตะวันออก (12%) มีสัดส่วนลดลงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ และออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (6%) ซึ่งเป็นผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาภาคธุรกิจโรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 69.5% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2562) โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค สอดคล้องกับสัดส่วนโรงแรมที่กลับมาเปิดกิจการปกติมากขึ้น หลังมีการผ่อนคลายมาตรการ Test & Go และเตรียมรองรับเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้

“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังฟื้นกลับมาได้น้อยมาก จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามีจำนวนไม่มากนัก อัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยยังอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนของการเปิดให้บริการ

“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่จะอยู่ที่กรุงเทพฯและภูเก็ตเป็นหลัก ส่วนโลเกชั่นอื่นยังไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก”

และย้ำว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศกลับมาฟื้นตัวในปีนี้ คือ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรัฐบาลต้องยกเลิกมาตรการการเดินทางเข้าประเทศเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยเร่งด่วน

โดยปลดล็อกมาตรการทั้งการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Thailand Pass การตรวจหาเชื้อโควิดแบบ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึง เหลือไว้เพียงแค่การตรวจแบบ ATK ครั้งเดียวในวันที่เดินทางมาถึงก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายกันไปหมดแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อลดการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสด้านการแข่งขันของประเทศไทย

“มาริสา” บอกด้วยว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่กลุ่มธุรกิจโรงแรมต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นมาตรการเดิม คือ สนับสนุนค่าจ้างงาน (copayment), มาตรการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า เป็นต้น, มาตรการพักชำระหนี้ ฯลฯ

รวมถึงขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และให้ธนาคารของรัฐช่วยรับโอนสินเชื่อของโรงแรมที่ได้รับผลกระทบไปพักหนี้ไว้ 3-5 ปี โดยใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมสามารถพยุงการจ้างงาน และมีเงินหมุนเวียนเพียงพอสำหรับประคองธุรกิจให้เดินต่อไปได้ เพราะจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาระบุชัดเจนว่า มีโรงแรมถึง 44% มีสภาพคล่องอยู่ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือนนับจากนี้

“ไฮเน็คกี้” ชี้ถึงเวลาฟื้น ศก. จี้ยกเลิก Thailand Pass ด่วน !

นับเป็นนักธุรกิจที่เรียกร้องพร้อมเสนอแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาโดยตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับ “วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู้ด ไฮเน็ค” หรือ “ไฮเน็คกี้” ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2563 “ไฮเน็คกี้” ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ บิ๊กตู่ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยไม่มีเงื่อนไข

พร้อมย้ำมาตลอดว่าการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดที่เข้มข้นเกินไปไม่ใช่คำตอบ และอาจส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และทำให้เกิดการหยุดชะงักของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดได้เสนอให้รัฐบาลเร่งยกเลิก Thailand Pass ระบบลงทะเบียนเข้าประเทศของไทยโดยเร่งด่วน หลังจากที่รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯออกมาให้ข้อมูลว่า จะเสนอให้ยกเลิกระบบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป

“ไฮเน็คกี้” บอกว่า ตามกระแสข่าวที่ว่าภาครัฐเตรียมยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go และ Thailand Pass ภายในเดือนมิถุนายน 2565 นั้น ตนประเมินว่าช้าเกินไป ตรงกันข้ามภาครัฐควรพิจารณาเปิดประเทศตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป เนื่องจากในหลายประเทศต่างปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศกันไปแล้ว

พร้อมระบุว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำในการปรับตัวเพื่อเข้ากับสถานการณ์ แต่ปัจจุบันประเทศไทยปรับตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่กลับต้องเจอความไม่สะดวกสบาย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างหนัก ดังนั้น หากรัฐบาลยังไม่ยกเลิกมาตรการการเข้าประเทศทั้งหมดภายในเร็ววัน ทุกฝ่ายก็จะได้รับผลกระทบหนักมากขึ้นไปอีก ขณะนี้ถึงเวลาพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว” ไฮเน็คกี้ย้ำ และบอกอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าหากประเทศไทยสามารถปลดล็อกมาตรการการเดินทางเข้าประเทศทุกอย่างได้ตั้งแต่ตอนนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายใน1 ปี แม้ว่านักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่เดินทางเข้ามาก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางในช่วงนี้มีการใช้จ่ายในจำนวนเงินที่มากขึ้น เห็นได้จากกรณีตัวอย่างจากประเทศมัลดีฟส์ ที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังลดมาตรการเข้าประเทศ