ผู้นำยูเครนฟ้องยูเอ็น รัสเซียโหดสุดเทียบได้กับไอเอส แต่ไม่เอ่ย ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

Ukrainian President Volodymyr Zelenskyy speaks via remote feed during a meeting of the UN Security Council, Tuesday, April 5, 2022, at United Nations headquarters. (AP Photo/John Minchillo)

ภาพสะเทือนขวัญที่มีศพเกลื่อนตามท้องถนนเมืองบูชา ใกล้กรุงเคียฟ ทำให้ผู้นำยูเครนกล่าวหาและประณามรัสเซียว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชาวยูเครน แต่ต่อมาไม่เอ่ยถึงคำนี้อีกในที่ประชุมยูเอ็น

วันที่ 5 เมษายน 2565  ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยืนยันข้อกล่าวหาว่ากองทัพรัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม อย่างโหดร้าย เทียบได้กับกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส

แต่เป็นที่สังเกตว่าครั้งนี้ผู้นำยูเครนไม่ได้ใช้คำว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ตามที่เคยกล่าวระหว่างลงพื้นที่ดูซากความเสียหายในเมืองบูชา ใกล้กรุงเคียฟ

 

สำนักข่าว เอพี รายงานว่า นายเซเลนสกีซึ่งลงพื้นที่สำรวจสภาพเมืองบูชา กล่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังห้องประชุมยูเอ็นเรียกร้องให้นานาประเทศลงโทษต่อรัสเซียให้หนักกว่าเดิม และกดดันขั้นสุด พร้อมนำตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีเหมือนกับการดำเนินคดีนูเรมเบิร์ก (เนิร์นแบร์ก) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

 “พวกเขาตัดแขนขา ตัดคอ ผู้หญิงถูกข่มขืนและฆ่าต่อหน้าลูกๆ ของเธอ ผู้คนถูกควักลิ้น เพราะคนโหดไม่ต้องการได้ยินสิ่งที่ได้ยินจากผู้คน” เซเลนสกี กล่าวและว่า ชาวยูเครนถูกทรมาน ถูกปาระเบิดใส่ ถูกรถถังพุ่งชนขณะอยู่ในรถยนต์

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
Journalists take pictures next to a mass grave in Bucha, in the outskirts of Kyiv, Ukraine, Sunday, April 3, 2022. (AP Photo/Rodrigo Abd)

ยูเครนพบศพพลเรือนตามถนนหนทางในเมืองบูชา หลังจากรัสเซียถอนทหารออกไปแล้ว สภาพศพบ่งบอกว่าผู้ตายถูกทารุณ หรือถูกสังหารขณะมือถูกมัดไพล่หลัง ซึ่งเซเลนสกีบอกกับที่ประชุมยูเอ็นว่า บูชาเป็นเพียงสถานที่หนึ่ง ยังมีอีกหลายๆ ที่สยองขวัญแบบเดียวกันนี้

ภาพข่าวสะเทือนขวัญดังกล่าวเรียกเสียงประณามรัสเซียจากชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง ขณะที่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้ทำร้ายพลเรือน และว่าการเสียชีวิตเหล่านี้เกิดหลังจากรัสเซียถอนทหารออกไปแล้ว แต่ภาพจากดาวเทียม Maxar Technologies ของสหรัฐเผยว่า มีศพกองอยู่บางจุดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ก่อนที่รัสเซียถอนทหารออกไป

ทันยา เนดาชคิฟสกา วัย 57 ปีร่ำไห้ที่สามีถูกสังหารในเมืองบูชา เมื่อ 4 เม.ย. 2022 (AP Photo/Rodrigo Abd)

ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ควรดำเนินคดีกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม แต่ไม่ได้เรียกเหตุการณ์นี้ว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และน่าสังเกตว่า ต่อมาผู้นำยูเครนไม่ได้เอ่ยคำนี้ ระหว่างกล่าวต่อที่ประชุมความมั่นคงของยูเอ็น

การตีความ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

บีบีซีไทย รายงานว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือ genocide (เจโนไซด์) ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดต่อมนุษยชาติ เพราะเป็นการกำจัดคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้หมดสิ้นไป ดังที่นาซีพยายามขจัดประชากรเชื้อสายยิวให้หมดสิ้นไปในช่วงทศวรษที่ 1940

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
The hand of a corpse buried along with other bodies is seen in a mass grave in Bucha, in the outskirts of Kyiv, Ukraine, Sunday, April 3, 2022. (AP Photo/Rodrigo Abd)

อย่างไรก็ตามคำๆ นี้มีความซับซ้อนในเชิงกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นคำที่กำหนดขึ้นในปี 1943 โดย ดร.ราฟาเอล เลมคิน นักกฎหมายชาวโปแลนด์เชื้อสาวยิว ที่นำเอาคำภาษากรีก genos ซึ่งแปลว่าเชื้อชาติ หรือ เผ่าพันธุ์ มารวมกับคำภาษาละติน cide ซึ่งแปลว่า การฆ่า

หลังจากได้เห็นความโหดร้ายของ “ฮอโลคอสต์” หรือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งสมาชิกในครอบครัวของเขาทุกคน ยกเว้นพี่น้องผู้ชายของเขา ต่างถูกสังหารด้วยน้ำมือนาซี ดร. เลมคิน จึงพยายามผลักดันให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ค่ายเอาชวิตซ์ ประเทศโปแลนด์ ที่นาซีใช้สังหารหมู่ชาวยิว / AFP

ความพยายามของ ดร.เลมคิน บรรลุผล เมื่อเกิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและการลงโทษอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขึ้นเมื่อ ธ.ค. 1948 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ ม.ค. 1951

มาตรา 2 ของอนุสัญญานี้ได้นิยามคำว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่าหมายถึง “การกระทำใด ๆ ดังต่อไปนี้ซึ่งกระทำโดยเจตนาที่จะทำลายกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา ทั้งหมดหรือบางส่วน”

ได้แก่ การสังหารสมาชิกของกลุ่มก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายหรือจิตใจต่อสมาชิกของกลุ่มจงใจทำลายสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่ม โดยมุ่งเป้าเพื่อทำลายล้างทางกายภาพทั้งหมดหรือบางส่วนกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดภายในกลุ่มบังคับโยกย้ายลูกของคนในกลุ่มไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง

อนุสัญญาฉบับนี้ยังกำหนดหน้าที่ของรัฐที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าต้อง “ป้องกันและลงโทษ” การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

รายชื่อชาวยิวที่ถูกนาซีสังหารช่วงทศวรรษ 1940 / AFP

มีเพียง3เหตุการณ์เรียก ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นับตั้งแต่มีการใช้อนุสัญญาฉบับนี้ ก็มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่พอใจกับความยากลำบากในการบังคับใช้กับกรณีต่าง ๆ โดยบางคนระบุว่า มีคำนิยามที่แคบเกินไป ขณะที่คนอื่นระบุว่ามันได้ถูกลดทอนคุณค่าลงจากการนำไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อจนเกินไป

นักวิเคราะห์บางคนระบุว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีคำนิยามที่แคบมาก จนทำให้การสังหารหมู่แทบจะไม่เข้าเกณฑ์ที่บัญญัติเอาไว้เลย

ไอรา กาฟริลุก อุ้มแมวออกมาผ่านร่างสามีและน้องชายที่ถูกสังหารในเมืองบูชา วันที่ 4 เม.ย. 2022 (AP Photo/Rodrigo Abd)

บางคนระบุว่า มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในศตวรรษที่แล้ว นั่นคือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี หรือ ฮอโลคอสต์ แต่บางคนชี้ว่า มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นมาอย่างน้อย 3 ครั้ง หากยึดตามคำนิยามของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในปี 1948 ได้แก่

– การสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียโดยชาวเติร์กในจักรวรรดิออตโตมันที่ตุรกี ระหว่างปี 1915-1920 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ชาวเติร์กปฏิเสธ

– การสังหารหมู่ชาวยิวโดยนาซี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 6 ล้านคน

– การสังหารหมู่ในรวันดา ปี 1994 กลุ่มหัวรุนแรงเชื้อสายฮูตู มุ่งเป้าฆ่าล้างชาวทุตซี ชนกลุ่มน้อยในประเทศ รวมถึงศัตรูทางการเมืองโดยไม่สนใจว่าคนเหล่านั้นจะมีชาติพันธุ์อะไร จนสังหารผู้คนไปราว 800,000 ราย ภายในเวลา 100 วัน

สังหารหมู่เข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บางคนได้จัดให้เหตุสังหารหมู่บางแห่งเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่น

– ปี 1995 การสังหารหมู่ที่เมืองซเรบเบรนิตซา ประเทศบอสเนีย ทางศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย วินิจฉัยว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

– ปี 2016 สหรัฐกล่าวหากลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์ ชาวยาซิดี และชาวนิกายชีอะห์ในอิรักและซีเรีย

งานฝังศพชาวยาซิดีที่ถูกกองกำลังไอเอสสังหารในอิรัก (Photo by Zaid AL-OBEIDI / AFP)

– ปี 2017 แกมเบียยื่นฟ้องเมียนมาในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) โดยกล่าวหาว่า กองทัพเมียนมาปฏิบัติการ “กวาดล้างอย่างแพร่หลายและเป็นระบบ” ตามหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา

– ปี 2021 รัฐบาลสหรัฐ แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ กล่าวหาจีนอย่างเป็นทางการว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ระบุถึงหลักฐานที่พบบ่งชี้ว่าจีนใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกวาดล้างชาวอุยกูร์ เช่น การบังคับทำหมัน การบังคับใช้แรงงาน การคุมขังหมู่ รวมถึงการข่มขืนและทรมานอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง

การดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

คดีรวันดา กรณีแรกที่มีการใช้อนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือการดำเนินคดีต่อนายฌอง พอล อคาเยซู นายกเทศมนตรีเชื้อสายฮูตู ของเมืองทาบา
ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดาพิพากษาให้นายอคาเยซูมีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 1998
ศาลอาญาระหว่างประเทศยังตัดสินให้บุคคลอีกกว่า 85 รายมีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

คดีบอสเนีย
ปี 2001 พลเอก ราดิสลาฟ เคิร์สติตช์ อดีตนายพลชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ กลายเป็นบุคคลแรกที่ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย
ปี 2007 นายรัตโก มลาดิช อดีตผู้บัญชาการทหารบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “นักฆ่าแห่งบอสเนีย” ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตหลังศาลพิพากษาว่าเขามีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

คดีเขมรแดง
ปี 2018 นายนวน เจีย วัย 92 ปี และนายเขียว สัมพัน วัย 87 ปี สองผู้นำเขมรแดง ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการมีบทบาทในเหตุสังหารหมู่ชาวกัมพูชาของเขมรแดง