แอร์บัส ชี้อุตฯการบินเริ่มฟื้น ดีมานด์เครื่องใหม่พุ่ง-รอส่งมอบทั่วโลก 7 พันลำ

อานันท์ สแตนลีย์

“แอร์บัส” เผยวิกฤตโควิด-19 ไม่กระทบสายการผลิตเครื่องบิน ส่งมอบเครื่องใหม่ทุกเดือน แค่ 4 เดือนแรกปีนี้ส่งมอบเครื่องบินตามสัญญาไปแล้ว 190 ลำ ยอดแบ็กล็อกทั่วโลกทะลักอยู่ที่ 7 พันลำ ชี้อุตสาหกรรมการบินทยอยฟื้นตัวจากโดเมสติกดีมานด์ขยับสู่ระดับภูมิภาค-ระดับโลก ตลาดมีความต้องการเครื่องบินอีก 1.7 หมื่นลำ ใน 20 ปีข้างหน้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครองส่วนแบ่งถึง 45%

นายอานันท์ สแตนลีย์ ประธานแอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเริ่มทยอยฟื้นตัว โดยสะท้อนจากตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้ยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางไปแล้วมีปริมาณการเดินทางสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นการฟื้นตัวจากตลาดภายในประเทศ (domestic) และขยับไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับในประเทศไทย ที่ได้เรียกคืนตำแหน่งการเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยมของโลก และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจ

โดยในส่วนของแอร์บัสในฐานะผู้ผลิตด้านการบินและอวกาศชั้นนำ ยังคงยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และประเทศไทยยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินป้องกันทางอากาศและอวกาศ และเฮลิคอปเตอร์ของแอร์บัส

“ในช่วงก่อนวิกฤตโควิดแอร์บัสเรามีความพร้อมที่ดี และตอนนี้เราก็ยังมีความแข็งแกร่งเหมือนเดิม วิกฤตที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตของเรา ซึ่งปัจจุบันเรามีแบ็กล็อกหรือคำสั่งซื้อรอส่งมอบเครื่องบินในทั่วโลกอยู่ที่ 7,000 ลำ” นายอานันท์กล่าวและว่า ปี 2565 นี้แอร์บัสยังส่งมอบเครื่องบินใหม่ทุกเดือน โดยในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) แอร์บัสได้ส่งมอบเครื่องบินตามคำสั่งซื้อให้กับสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกไปแล้วจำนวน 190 ลำ

นอกจากนี้ ยังพบว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปี และมีความต้องการเครื่องบินใหม่อีกจำนวน 17,000 ลำภายใน 20 ปีข้างหน้า ในจำนวนนี้เป็นความต้องการภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกถึงประมาณ 45%

นายอานันท์กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยเครื่องบินพาณิชย์ของแอร์บัสเป็นกำลังสำคัญของฝูงบินสายการบินในประเทศไทย และมีส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีเครื่องบินแอร์บัสประจำฝูงบินของสายการบินต่าง ๆ ในประเทศไทยทั้งสิ้น 67 ลำ ซึ่งครอบคลุมเครื่องบินเกือบทุกรุ่นของสายการผลิต

อาทิ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และไทยสมายล์ ปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินตระกูล A320 ซึ่งเป็นรุ่นที่เหมาะสำหรับตลาดการบินภายในประเทศและภูมิภาค สายการบินไทยให้บริการด้วย A330 และ A350 สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ให้บริการด้วยเครื่องบิน A330neo รุ่นใหม่ล่าสุดที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นต้น

“นอกจากตลาดเครื่องบินพาณิชย์ ตลาดเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินป้องกันทางอากาศ ไทยก็เป็นตลาดสำคัญด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันมีอากาศยานปีกหมุนจำนวน 70 ลำ และเครื่องบินทหารจำนวน 20 ลำที่ประจำการอยู่ โดยฝูงบินปฏิบัติการในภารกิจที่หลากหลาย อาทิ ภารกิจขนส่งลำเลียงพล สาธารณประโยชน์ การอพยพฉุกเฉินทางการแพทย์การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ฯลฯ”

นายอานันท์กล่าวต่อไปอีกว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยรองรับตำแหน่งงานถึง 4.3 ล้านตำแหน่ง มีมูลค่ารวม 63,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) ต่อจีดีพีของประเทศ แอร์บัสจึงมุ่งมั่นทำธุรกิจในประเทศไทยและร่วมมือกับบริษัทในประเทศไทยต่อไป

“แอร์บัสมีสำนักงานและศูนย์ปฏิบัติการการบินในกรุงเทพฯ ตลอดจนศูนย์บริการลูกค้าเฮลิคอปเตอร์ที่ให้การบำรุงรักษาและพัฒนาฝูงบินของพลเรือนและทหาร และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับลูกค้าในลาวและกัมพูชา ที่สำคัญแอร์บัสถือเป็นผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์รายเดียวในปัจจุบันที่มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ในประเทศไทย” นายอานันท์กล่าว