มาตรการผ่อนปรนการเดินทางกระตุ้นการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวเอเชีย-แปซิฟิก

นักท่องเที่ยว สนามบิน
Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ดเผยมาตรการผ่อนปรนการเดินทางกระตุ้นการฟื้นตัวการท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิกในปี’65 เผยช่วง เม.ย. ยอดจองตั๋วเครื่องบินขยับต่อเนื่อง สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในทวีปเอเชียภายหลังการเปิดพรมแดน ขณะที่ซัพพลายเชนท่องเที่ยวหยุดชะงักดันต้นทุนการเดินทางสูงขึ้น

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 นายเดวิด แมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ มาสเตอร์การ์ด เอเชีย-แปซิฟิกและตะวันออกกลาง เปิดเผยว่า รายงานจากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ดฉบับล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2565 ระบุว่า เม็ดเงินกับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั้งทางเรือสำราญ รถบัส หรือแม้เต่รถไฟ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นับเป็นก้าวสำคัญของการฟื้นตัวการท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นครั้งแรกที่ยอดจองเที่ยวบินโดยสารทั้งภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อกินเวลากว่า 2 ปี

นอกจากนี้ มาสเตอร์การ์ดยังได้เสนอรายงาน Travel 2022 : Trends and Transitions ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกของการท่องเที่ยวในพื้นที่ผ่อนปรนข้อจำกัดในการเดินทางของสถานที่ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ซึ่งครอบคลุม 9 แห่งในเอเชีย-แปซิฟิก และ 37 แห่งทั่วโลก โดยได้เปรียบเทียบสถานะของการเดินทางทั่วโลกเป็น 2 จุด ทั้งสถานการณ์ก่อนการแพร่ะบาดในปี 2562 และแนวโน้มที่เกิดขึ้นภายหลังการเปิดพรมแดนหลังจากที่มาตรการในการเดินทางสู่จุดมุ่งหมายในภูมิภาคอื่น ๆ เริ่มมีการผ่อนปรน

โดยวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และการรวมรวมข้อมูลกิจกรรมการซื้อขายผ่านเครือข่ายของมาสเตอร์การ์ด รายงานการท่องเที่ยวประจำปีฉบับที่สามของสถาบันวิจัยทางเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด มุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบสำคัญของการเดินทาง เนื้อหาของรายงานประกอบไปด้วยการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่รวดเร็วของผู้บริโภคต่อการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง และแนวโน้มของเศรษฐกิจระดับมหภาค เช่น อัตราเงินเฟ้อ การทำงานแบบไฮบริด ความเสี่ยงด้านสุขภาพ และการปฏิรูปด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เป็นต้น

โดยข้อมูลสำคัญจากรายงานเดือนเมษายน 2565 สำหรับเอเชีย-แปซิฟิก สรุปดังนี้ 1.การเปิดพรมแดนทำให้ทวีปเอเชียกลับมาเป็นจุดสนใจของการท่องเที่ยว โดยยอดการจองตั๋วเครื่องบินยังมีคงอยู่ต่อเนื่อง คาดจะมียอดผู้โดยสารกว่า 430 ล้านที่เดินทางเข้าสู่ทวีปเอเชียเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้แนวโน้มของการเดินทางในทวีปดีขึ้น แม้ว่าเอเชียเหนือและประเทศจีนยังไม่มีมาตรการในการผ่อนปรนการเปิดพรมแดนก็ตาม

2.ความต้องการในการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวของการเดินทาง โดยหลังจากระยะเวลากว่าสองปีที่ตัวเลขการท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิกลดลงอย่างเห็นได้ชัด มาตรการการผ่อนปรนการท่องเที่ยวและการเปิดพรมแดนได้จุดประกายความต้องการที่จะเดินทางทั้งขาเข้าและขาออกในกลุ่มนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่าผู้คนเริ่มนำเงินออมสำหรับการท่องเที่ยวมาใช้จ่าย โดยในปี 2564 เมื่อประเทศออสเตรเลียเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้ ยอดการจองตั๋วเครื่องบินจากออสเตรเลียสู่ประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นกว่า 200% และยอดการจองตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

3.การใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์มากกว่าสิ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกส่วนมากเริ่มมีการใช้จ่ายต่อประสบการณ์การท่องเที่ยว ณ จุดมุ่งหมายมากกว่าการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือสิ่งของ และแนวโน้มนี้ยังพบเห็นในเอเชีย สิงคโปร์ ที่ถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ในจุดหมายปลายทางทั่วโลกสูงที่สุด มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 60% จากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดจนถึงเดือนมีนาคม 2565

อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่น ๆ ในทวีป เช่น อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้ ที่เปิดพรมแดนในเดือนเมษายน 2565 มีสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยมีการท่องเที่ยวขาเข้าในระดับต่ำ นับเป็นเทรนด์สำคัญที่น่าจับตามองในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อการควบคุมมาตรการการเดินทางเริ่มถูกยกเลิกและนักท่องเที่ยวเอเชีย-แปซิฟิกเริ่มจับจ่ายซื้อของและใช้จ่ายในต่างประเทศ

4.ตัวเลือกการเดินทางถูกจำกัดด้วยมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่การเริ่มต้นของการแพร่ระบาด แนวโน้มของผู้บริโภคต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่การเดินทางมักชื่นชอบสถานที่ที่ข้อจำกัดของการเดินทางเข้าประเทศ การกักตัว และขั้นตอนการตรวจสอบต่าง ๆ สะดวกสบาย

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเป็นตัวเลือกที่นักท่องเที่ยวจากเอเชียนิยมเดินทางไปมากที่สุด รองลงมาคือออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และแคนาดา อย่างไรก็ตามในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ มีการผ่อนคลายลงและการเดินทางภายในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

5.ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และดำเนินการเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการหยุดชะงักของซัพพลายเชน โดยภาระที่เพิ่มขึ้นของสายการบินต่าง ๆ ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากการแพร่ระบาดทำให้ค่าโดยสารในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ

โดยค่าตั๋วเครื่องบินเฉลี่ยในเอเชีย-แปซิฟิกยังคงสูงขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 11% และ 27% ในออสเตรเลียและสิงคโปร์ และเนื่องจากข้อจำกัด เช่น การจ้างงานในอุตสหากรรมการขนส่งทางอากาศที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด

และ 6.ภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งได้รับผลกระทบ โดย นับตั้งแต่การแพร่ระบาด ผู้คนหันมาใช้การสัญจรภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัว ทำให้ยอดการใช้จ่ายในการเช่ารถยนต์และค่าผ่านทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีที่ผ่านมา และการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศด้วยรถยนต์ หรือ โรดทริป ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิกมากขึ้น

รวมทั้งการใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะและสายการเดินเรือต่าง ๆ กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งแรก เนื่องจากประสบกับข้อจำกัดเกี่ยวกับการเดินทางสำหรับหมู่คณะ

“แม้การฟื้นฟูเป็นไปได้อย่างล่าช้าประกอบกับความเสี่ยงในหลายปัจจัย เช่น ผลกระทบของเงินเฟ้อในการจับจ่ายใช้สอย ทว่าความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิกยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นปี 2565 จึงเป็นปีสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อพรมแดนได้ถูกผ่อนคลาย คาดเราจะได้เห็นตัวเลขที่ทวีสูงขึ้นจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นพร้อมกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก” นายเดวิด แมน กล่าว