อุตสาหกรรมการบินโลกฟื้นตัว รูตอเมริกา กลับมาทะลุก่อนโควิดระบาดแล้ว

นักเดินทางกำลังเดินในสนามบินสุวรรณภูมิ
VIVEK PRAKASH / AFP

IATA ชี้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกฟื้นตัว ระบุรูตอเมริกาบางเส้นทาง ตัวเลขการขนส่งผู้โดยสารกลับมาทะลุก่อนโควิดระบาดไปแล้ว ส่วนปริมาณการผลิตผู้โดยสารของเอเชียรั้งท้ายตาราง

วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกรายงานวิเคราะห์ตลาดการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ (Air Passenger Market Analysis) ประจำเดือนพฤษภาคม 2565 ระบุว่า เส้นทางบินระหว่างประเทศบางเส้นทางนั้น กลับมาให้บริการมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว

โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร (Revenue Passenger Kilometer : RPK) ของทั้งอุตสาหกรรม เติบโต 83.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 68.7% ของเดือนพฤษภาคม 2562 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาด และเพิ่มขึ้น 6% จากเดือนเมษายนที่ผ่านมา

กราฟปริมาณการขนส่งผู้โดยสารพุ่งขึ้น
ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, May 2022

เมื่อปรับการคำนวณค่าฤดูกาล (Seasonally Adjusted) พบว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร (RPKs) ของทั้งอุตสาหกรรม มีอัตราการเติบโตที่ 10.7% เทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic RPKs) ของทั้งอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 42.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในประเทศจีนยังอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็น 28.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ทั้งนี้ ตลาดเที่ยวบินภายในประเทศจีน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

กราฟแสดงปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในประเทศจีนยังต่ำ
ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, May 2022

ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International RPKs) ของทั้งอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม  2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 325.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินที่จดทะเบียนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 453.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อปรับด้วยดัชนีฤดูกาลแล้วพบว่า เติบโต 31.3% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ สำหรับนักท่องเที่ยว

กราฟแสดงปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัว
ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, May 2022

ขณะที่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินที่จดทะเบียนในภูมิภาคละตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 180.5% และ 203.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเห็นการฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกันกับปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19

อีกทั้งในบางเส้นทาง คือ ยุโรป-อเมริกากลาง, ตะวันออกกลาง-อเมริกาเหนือ, อเมริกาเหนือ-อเมริกากลาง มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศสูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโควิดไปเรียบร้อยแล้ว

กราฟแสดงปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศรายเส้นทาง โดยเส้นทางอเมริกาทะลุปี 2019 ไปแล้ว
ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, May 2022

รายงานจาก IATA ระบุต่อไปว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร ของผู้โดยสารชั้นประหยัด (Economy RPKs) ซึ่งรวมไปถึงที่นั่งชั้นประหยัดพรีเมี่ยม (Premium Economy) ของเดือนเมษายน 2565 มีสัดส่วน 57% ของเดือนมกราคม 2562

ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ (Premium RPKs) ของเดือนเมษายน 2565 โดยมีสัดส่วน 59.9% ของเดือนมกราคม 2562 และเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 323.9%

กราฟแสดงปริมาณการขนส่งผู้โดยสารแยกตามชั้นโดยสาร พบว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน
ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, May 2022

ด้านปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารของทั้งอุตสาหกรรม (ASKs) ในเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 52.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่ที่ 28.9%

โดยปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 8.2% และคิดเป็นสัดส่วนเพียง 43.3% (หรือ -56.7%) ของเดือนพฤษภาคม 2562 น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกภูมิภาค สะท้อนว่าปริมาณการผลิตผู้โดยสารของภูมิภาค ยังห่างไกลจากฐานเดิมในปี 2562 อยู่มาก

ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger Load Factor) เดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 79.1% และเพิ่มขึ้น 13.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และต่ำกว่าเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ 2.7% แสดงถึงถึงการฟื้นตัวของทั้งอุตสาหกรรมในช่วงเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger Load Factor) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (รวมเส้นทางในและต่างประเทศ) ประจำพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 69.6% ครองอันดับสุดท้ายร่วมกับภูมิภาคแอฟริกา เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบทุกภูมิภาคทั่วโลก

ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศจีน อยู่ที่ 59.1% ลดลง 18.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งยังต่ำกว่าเส้นทางบินในประเทศของอินเดียและสหรัฐ ที่มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 81.8% และ 88.7% ตามลำดับ