“โรงแรม” ชี้ธุรกิจทยอยฟื้นตัว คาดครึ่งปีหลังอัตราเข้าพักพุ่งเกิน 50%

ผลสำรวจชี้ธุรกิจโรงแรมทยอยฟื้นตัว เผยเดือนมิถุนายนโรงแรมเปิดให้บริการแล้วเกือบ 90% เหลือปิดชั่วคราวเพียง 1% อัตราการเข้าพักเฉลี่ยขยับสูงขึ้นทุกภูมิภาค คาดพุ่งเกิน 50% ในไตรมาส 4 นี้ ยันแนวโน้มดีร้อยละ 28 มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น หวั่นเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน สงครามส่งผลกระทบต่อการโดยสารเที่ยวบินระยะไกล

รายงานข่าวจากสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า สมาคมโรงแรมไทยได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม (hotel business operator sentiment index) เดือนมิถุนายน 2565 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 137 แห่ง ในช่วงระหว่าง 13-26 มิถุนายน 2565 พบว่าโรงแรมร้อยละ 88 เปิดกิจการปกติ คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศในช่วงปลายปีก่อน

โดยโรงแรมร้อยละ 10 เปิดให้บริการบางส่วนมากกว่า 50% ร้อยละ 1 เปิดบริการบางส่วนน้อยกว่า 50% และร้อยละ 1 ยังปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งส่วนนี้เป็นโรงแรมที่ปิดให้บริการมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/2565 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น

ทั้งนี้ โรแรมที่เปิดให้บริการแล้วมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนมิถุนายน 2565 ในอัตรา 38% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2565 ที่มีอัตราเฉลี่ย 36% ซึ่งเป็นไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายนโยบายการเปิดประเทศเพิ่มเติม เช่น ปรับปรุงวิธีลงทะเบียน Thailand Pass สำหรับชาวต่างชาติให้สะดวกขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ตารางโรงแรมไทย

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า อัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้และภาคตะวันออกที่ปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นและผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่สิ้นสุดลง โดยภูมิภาคที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุด คือ ภาคกลาง 42.5% รองลงมาคือ ภาคตะวันออก 41.8% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38.5% ภาคใต้ 34.5% และภาคเหนือ 30.5%

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ถึงประมาณ 40% ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ เนื่องจากมาตรการยกเลิก Thailand Pass สำหรับชาวต่างชาติ และการขยายสิทธิโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่เริ่มในเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2565 นี้

นอกจากนี้ ยังประเมินด้วยว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 4/2565 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นจะมากกว่า 50% โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ ขณะที่อุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจ คือ ต้นทุนที่สูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงาน

“ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงแรมส่วนหนึ่งรายได้เริ่มปรับดีขึ้น แต่ในภาพรวมยังคงมีรายได้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนโควิด โดยร้อยละ 74 ยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% และร้อยละ 68 มีรายได้กลับมาไม่ถึง 50% อย่างไรก็ดี โรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 32% จากเดือนก่อนที่มี 26%” รายงานข่าวระบุ

สำหรับกลุ่มลูกค้านั้น พบว่าลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าชาวไทย แต่เริ่มมีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% ทยอยเพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง รองลงมาคือ ยุโรปตะวันตก

นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงแรมร้อยละ 28 มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 40-60% โรงแรมร้อยละ 44 มีสภาพคล่องใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่โรงแรมที่มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 39% กลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือน มีสัดส่วนอยู่เพียง 7%

“เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 71.2% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะทยอยเข้ามาหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจโรงแรมยังต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านต้นทุน อาทิ ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า-ประปา) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมากจึงอยากให้มีการขยายเวลาเรียกเก็บ หรือตรึงอัตราเดิมในช่วงโควิดไว้อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 หรือการลดหย่อนภาษีบำรุงท้องถิ่นและภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดเงินสมทบประกันสังคม และควบคุมราคาสินค้า

รวมถึงมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับปรับปรุงห้องพัก พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยให้ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นควบคู่ไปกับการปรับปรุงทัศนียภาพ และสนับสนุนการประชุมสัมมนาโดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง-เล็ก

ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวเสริมว่า การยกเลิก Thailand Pass และไม่บังคับสวมหน้ากากอนามัยตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจโรงแรม โดยมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ความต้องการท่องเที่ยวไทยอยู่ในระดับสูง เนื่องจากไม่ได้ท่องเที่ยวต่างประเทศมานาน และเข้าสู่วันหยุดหน้าร้อน (summer holiday) ของนักท่องเที่ยวยุโรป และการเข้าสู่ช่วงหยุดโรงเรียน (school holiday) ของนักท่องเที่ยว

ในทางกลับกันยังมีปัจจัยลบที่กดดัน คือ ปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการโดยสารเที่ยวบินระยะไกล ประกอบกับธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องเตรียมพนักงานไว้เพื่อรองรับการให้บริการทุกช่วงเวลา ทำให้แบกรับภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนหรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมีจำนวนสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นสวนทางรายได้