นกแอร์ ยังประเมินค่าเสียหายเครื่องบินไถลที่ “เชียงราย” ไม่ได้

เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 สายการบินนกแอร์ส่วนล้อหน้าจมลงไปในพื้นดิน ที่ประตูด้านขวา สไลด์ฉุกเฉินกางออก มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยกางร่มรอรับผู้โดยสาร

นกแอร์แถลงขออภัยเครื่องบิน “ดอนเมือง-เชียงราย” ไถลออกนอกรันเวย์ เบื้องต้นยังประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ได้ แต่คาดว่าซ่อมราว 2-3 เดือน เร่งนำเครื่องบินจากต่างประเทศเข้ามาเสริมทัพแก้ปัญหาดีเลย์

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์เที่ยวบิน DD108 เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เชียงราย ไถลออกนอกทางวิ่ง (Runway) ขณะลงจอด ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เวลา 21.06 น. นั้น

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวขอแจ้งให้ทราบว่าผู้โดยสารทุกคนปลอดภัย และปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเคลื่อนย้ายอากาศยานดังกล่าวเพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ระหว่างเกิดเหตุ ผู้โดยสารอาจได้รับความไม่สะดวกในการรับบริการจากสายการบิน ทั้งยังมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นข้อบกพร่องด้านการสื่อสารแก่ประชาชน

นายวุฒิภูมิกล่าวว่า ตนและสายการบินนกแอร์ต้องขออภัยอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และข้อบกพร่องต่าง ๆ บริษัทพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะบริหารภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและดำเนินการทุกประเด็นเต็มความสามารถ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนความปลอดภัยของสายการบินตามมาตรฐานสากล ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ

“ผมและบริษัทขอน้อมรับทุกคำติชมเพื่อไปปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้น และยืนยันว่าแม้บริษัทจะอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ นกแอร์จะพยายามมุ่งบริหารจัดการที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลต่อไป” นายวุฒิภูมิกล่าว

รอการสอบสวน

นายสุธี กุลชาต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ สายการบินจะเริ่มเยียวยาจากผู้โดยสารเที่ยวบิน DD108, 109 เราได้มีการติดต่อผู้โดยสาร พร้อมเปิดทางเลือกให้ผู้โดยสารให้บริการเที่ยวบินเสริมจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ เลื่อนวันเดินทาง เก็บค่าโดยสารเป็นเครดิต

ผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นด้านความเชื่อมั่นของสายการบินหลังเหตุการณ์ดังกล่าว นายสุธีกล่าวว่า ในฐานะนักบิน ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่เท่าที่ตนมองสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่ว่ามีการแก้ไขได้ถูกต้อง หรือมีปัจจัยอื่นขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบว่า (การเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว) มีปัจจัยภายนอกร่วมด้วยหรือไม่…ทั้งนี้ ต้องรอผลสอบสวนจากคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (กสอ.) ก่อน

ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าอากาศยานลำดังกล่าวได้เข้ารับการตรวจบำรุงรักษาแบบ C-Check มาไม่นาน สำหรับการตรวจแบบ C-Check มีความหมายพอสังเขปคือ การตรวจเช็กใหญ่ของเครื่องบิน โดยเช็กส่วนต่าง ๆ ของเครื่องบินอย่างละเอียด จะตรวจเช็กทุก ๆ 20-24 เดือน เครื่องบินที่อยู่ในขั้นตอน C-Check จะต้องรับการตรวจในโรงซ่อมที่ได้รับรองมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
ซึ่งใช้เวลาเข้าตรวจประมาณ 1-2 สัปดาห์

ส่วนแผนการบริหารจัดการเที่ยวบินหลังจากเหตุการณ์นี้ สายการบินจะประเมินสถานการณ์ในอนาคต รวมถึงพิจารณาแผนการเปิดเส้นทางต่างประเทศให้เหมาะสม

“ถามว่าจะปรับแผนอย่างไร นำเครื่องบินลำใหม่เข้ามาหรือไม่ มันคงจะเร็วไปที่จะตอบได้ แต่เราต้องปรับแผนแน่ เราคงอยู่เฉย ๆ ไม่ได้” นายสุธีกล่าว

ยังประเมินค่าเสียหายเครื่องบินไม่ได้

นายสุธีกล่าวว่า ส่วนการประเมินราคาความเสียหายของเครื่องบินนั้นอาจจะยังไม่สามารถประเมินได้ แต่เบื้องต้นคาดว่าอาจใช้เวลาซ่อมแซมเครื่องบินลำดังกล่าว 2-3 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบอีกครั้ง เพราะพบว่ามีส่วนของเครื่องยนต์ที่สัมผัสกับพื้น

นายวุฒิภูมิกล่าวเสริมว่า จากการประเมินเบื้องต้น มูลค่าที่สายการบินชดเชยแก่ผู้โดยสารเที่ยวบินที่ DD108 และ DD109 อยู่ที่ประมาณหลักล้านบาท ส่วนค่าเสียหายและค่าซ่อมแซมเครื่องบินลำที่ประสบอุบัติเหตุดังกล่าวยังไม่สามารถตอบได้

เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 สายการบินนกแอร์ส่วนล้อหน้าจมลงไปในพื้นดิน ลำตัวเครื่องด้านท้ายเชิดขึ้นมากกว่าปกติ
ที่มาภาพ : สายการบินนกแอร์

เร่งนำเครื่องบินเข้ามาเสริมบริการ

นายวุฒิภูมิกล่าวว่า สายการบินนกแอร์มีฝูงบินประจำการอยู่ทั้งหมด 17 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ และเครื่องบินแบบบอมบาดิเอร์ แดช 8 คิว 400 จำนวน 3 ลำ

โดยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 มี 2 ลำที่อยู่ระหว่างการตรวจบำรุงรักษาตามวงรอบทุกส่วน ในรูปแบบ C-Check ในต่างประเทศ และอีก 1 ลำเป็นลำที่ประสบอุบัติเหตุ

“ปัจจุบันสายการบินมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) อยู่ที่ประมาณ 60-70% ซึ่งถือว่ายังมีปริมาณเหลือให้รองรับจำนวนเที่ยวบินได้อยู่ และสายการบินจะนำเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 ทั้งสองลำที่ผ่านการตรวจบำรุงรักษาตามวงรอบแล้วเสร็จกลับมาให้บริการเพื่อเสริมทัพฝูงบิน” นายวุฒิภูมิกล่าว

แหล่งข่าวจากสายการบินนกแอร์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเครื่องบินทั้งสองลำตรวจบำรุงรักษาตามวงรอบครบถ้วนตามมาตรฐานแล้ว สายการบินได้เร่งรัดนำเครื่องบินทั้งสองลำดังกล่าวเข้ามาเสริมการให้บริการ โดยมี 1 ลำจะเดินทางมาถึงประเทศไทยในคืนวันนี้ (4 สิงหาคม) และจะพร้อมให้บริการในวันที่ 5 สิงหาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าเที่ยวบินของสายการบินมีอัตราการล่าช้าสูงกว่าปกติ ซึ่งแม้ว่าเครื่องบินที่มีจะสามารถรองรับจำนวนเที่ยวบินของสายการบินได้ แต่ตารางเวลานั้นยังไม่ลงตัว สายการบินจะมีการปรับแผนเพื่อให้เข้าสู่สถานการณ์ปกติ

ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน นายวุฒิภูมิ เคยให้สัมภาษณ์ถึงแผนการนำเข้าเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 NG เข้าประจำการเพิ่มอีกจำนวน 6 ลำ โดยเป็นนำเครื่องบินเข้าประจำการในช่วงระหว่างปลายปี 2565 ถึงปี 2566 นั้น


ล่าสุด นายวุฒิภูมิกล่าวว่า สายการบินจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางของประเทศจีน