เงินเฟ้อ เม.ย.64 ขยายตัว 3.41% สูงขึ้นรอบ 14 เดือน ผลจากราคาน้ำมัน-อาหารสด

ราคาน้ำมัน

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ เม.ย. 64 ขยายตัว 3.41% สูงขึ้นรอบ 14 เดือน ผลจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น หากสถานการณ์เปลี่ยนจะทบทวนคาดการณ์ขึ้นเงินเฟ้ออีกครั้ง ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 1.2%

วันที่ 5 พ.ค. 2564 นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 100.48 เพิ่มขึ้น 3.41% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากเรื่องของราคาพลังงานและราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น

ส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภคของรัฐสิ้นสุดลง ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2564 นี้ (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.43%

“อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2564 นี้ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปัจจัยสำคัญในหมวดพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หลังจากสิ้นสุดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล รวมทั้งปัจจัยราคาน้ำมันตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยจากราคาอาหารสด เช่น เนื้อสุกร และผักสดที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน เม.ย.64 อยู่ที่ 100.56 เพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.16%”

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน และอุปสงค์ในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวตามลำดับ โดยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และมูลค่าการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ ที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

ขณะที่ด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง และอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งภาคการผลิต และภาคการบริโภค และเป็นประเด็นข้อกังวลที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถควบคุมให้กลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้เมื่อไหร่

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนเมษายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 3.41% (YoY) ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 5.34% ได้แก่ หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 4.56% เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาครัฐ (ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 10.21% (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ)

ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.30% (เสื้อยืดสตรี เสื้อยืดบุรุษ เสื้อยกทรง) สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.40% จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ 2.35% (เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย กุ้งขาว) สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 6.74% (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 4.77%

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2564 สูงขึ้น 1.38% (MoM) และเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.43% (AoA)

แนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2564 มีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนเมษายน (หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพอื่นเพิ่มเติมจากรัฐ) โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และฐานราคาพลังงานที่ยังต่ำมากในปีก่อน ขณะที่สินค้าและบริการอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวตามผลผลิตและความต้องการ

โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐที่คาดว่าจะออกมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ชดเชยอุปสงค์ที่ลดลงจากการท่องเที่ยวได้ ขณะที่การฟื้นตัวของโลกน่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลต่อราคาอาหารสด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันยังคงเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7 – 1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ +1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 422 รายการ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น 224 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า แก๊สโซฮอลล์ 91 แก๊สโซฮอลล์ 95 น้ำมันดีเซล B7 น้ำมันดีเซล B10 แก๊สโซฮอลล์ E20 น้ำมันเบนซิล 95 เนื้อสุกร ต้นหอม สินค้าที่ปรับตัวลดลง 140 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ หัวหอมแดง กระเทียม มะเขือ มะม่วง เงาะ น้ำดื่มบริสุทธิ์ สินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 66 รายการ