กระทรวงอุตฯ จับมือ ดีแทค นำดิจิทัลยกระดับหมู่บ้าน หวังต่อยอดรายได้ 250 ล้าน

กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือกับ ดีแทคเน็ตทำกิน นำดิจิทัล ยกระดับ “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” พร้อมฟื้นฟูการท่องเที่ยววิถีใหม่ ตั้งเป้ารายได้กว่า 250 ล้านบาท

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแผนและตั้งเป้าหมายในการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ที่มีศักยภาพจำนวน 152 หมู่บ้าน จาก 250 หมู่บ้าน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคเศรษฐกิจระดับชุมชน (Local Economy) โดยการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวสร้างและพัฒนาไกด์ชุมชน (Local Guide) สร้างและพัฒนานักขายชุมชน และเตรียมความพร้อมพื้นที่สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยว

กระทรวงอุตสาหกรรมและดีแทคร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) เพื่อฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจชุมชน “ดีแทคเน็ตทำกิน” ร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในชุมชน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการธุรกิจสินค้าชุมชนที่มากด้วยอัตลักษณ์ให้ 152 หมู่บ้านจาก 76 จังหวัด เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านวิถีความเป็นไทย ต่อยอดด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อความยั่งยืน

โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 250 ล้านบาท (เป็นรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ รายได้จากการขายของที่ระลึก รายได้จากการท่องเที่ยวเช่น ค่าที่พัก อาหาร อื่น ๆ) สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ อันจะเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ

ปัจจุบันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดผลกระทบไปถึงการชะงักงันของเศรษฐกิจการค้า การทำงานผลิต และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โรงแรม ร้านอาหาร และส่งผลโดยตรงกับภาคเศรษฐกิจและบางกลุ่มประชากร ยังน่าเป็นห่วงว่าอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง

ซึ่งส่งผลโดยตรงกับรายได้จากการท่องเที่ยวของหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีรายได้ลดลงมากกว่า 70% และหากมีการถูกกระทบอีกระลอกจะเป็นความเสี่ยงต่อเนื่องที่ภาครัฐควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อที่จะสร้างรายได้ที่มีเสถียรภาพและกระจายรายได้อย่างสมดุล สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเห็นในศักยภาพของภูมิปัญญาชุมชนที่จนมีอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เมื่อนำภูมิปัญญาของชุมชนผสานกับดิจิทัลจะติดปีกให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนที่ผ่านมา ดีแทค มองเห็นช่องว่างทางดิจิทัลในการปรับตัวของคนไทย จึงได้ดำเนินโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างทักษะการทำธุรกิจยุคดิจิทัลให้กับคนตัวเล็กที่สุดในสังคม

ที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการดีแทค เน็ตทำกินมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40-50% และเพื่อสร้างโอกาส หาเลี้ยงชีพใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทีมดีแทคเน็ตทำกินจะเริ่มฝึกทักษะให้กับ 20 หมู่บ้านนำร่องจาก 152 หมู่บ้าน ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมนี้ พร้อมขยายผลลงพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 152 หมู่บ้านภายใน 1-2 ปีนับจากนี้

ดีแทคร่วมสนับสนุนหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน 3 ด้านคือ 1.ทีมดีแทค เน็ตทำกิน ติดอาวุธทักษะทางดิจิทัลให้กับชุมชนหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยทีมงานผู้สอนจะลงพื้นที่สอนและเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการเข้าใจและสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการธุรกิจ การทำการตลาดสมัยใหม่รองรับยุค Next Normal การใช้เครื่องมือหรือแพลตฟอร์มและสื่อต่าง ๆ ด้านดิจิทัล การสร้างเรื่องราวจากจุดเด่นของหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่านสื่อดิจิทัล การปักหมุดร้านค้าหรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน ซึ่งสามารถสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดี สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่

2.สัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดีแทคติดตั้งคลื่น 700 MHz แล้วมากกว่า 12,700 สถานีฐาน ขยายสัญญาณครบ 77 จังหวัด ครอบคลุมแล้ว 923 อำเภอทั่วไทย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยขยายครอบคลุมประชากร (population coverage) ประมาณ 93% ด้วยสัญญาณ 4G พร้อมเดินหน้าขยายสัญญาณต่อเนื่อง

3.#ดีทั่วดีถึง รีวอร์ด ครั้งแรกเชื่อมต่อผู้ประกอบการ CIV กับ dtac reward สู่ฐานผู้ใช้งานดีแทคกว่า 20 ล้านราย เพิ่มช่องทางออนไลน์ในการทำตลาดให้กับชุมชนบน dtac app โปรโมต ร่วมสนับสนุนจากประสบการณ์มากกว่า 30,000 สินค้าทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ตั้งเป้าว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 และยอดขายผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 จากการยกระดับชุมชนในการนำดิจิทัลผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิมสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการตามความถนัดอัตลักษณ์ชุมชน ด้วยจุดเด่นของตนเองอย่างมีศักยภาพ

พร้อมทั้งทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความภูมิใจในวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เห็นคุณค่าและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สร้างคุณค่าที่ดีให้กับชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดการทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดออกไปหางานทำที่อื่น ตอบสนองต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย