
“ศรีลังกา” ประเทศเกาะบนมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ โดดเด่นทั้งทรัพยากร รุ่มรวยด้วยอารยธรรม และพุทธศาสนา ภายหลังสงครามกลางเมืองยุติลงเมื่อปี 2009 ศรีลังกากลายเป็นจุดหมายใหม่ที่น่าจับตาสำหรับนักลงทุน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสเข้าพูดคุยกับ “นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ” เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลอมโบ แม้จะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งทูตประจำศรีลังกาได้ไม่นาน แต่มีความตั้งใจแน่วแน่ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่น่าสนใจไม่น้อย
“ศรีลังกา” ที่มีความหวัง
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- รู้จัก น้ำมัน EURO 5 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 มีผลกับค่าการตลาดน้ำมันอย่างไร
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
ตนเคยมาศรีลังกาครั้งแรกในปี 2001 ซึ่งยังเป็นช่วงมีสงครามกลางเมือง และได้มาประจำที่นี่อีกครั้งเมื่อ 16 ปีผ่านไป ศรีลังกาในปี 2017 เปลี่ยนแปลงอย่างน่าประทับใจ ด้วยภูมิศาสตร์ที่อยู่ในทางเดินเรือระหว่างประเทศ จึงพยายามผลักดันประเทศให้กลายเป็นฮับโลจิสติกส์ เหมือนกับสิงคโปร์หรือดูไบ นอกจากนี้ยังเตรียมลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โรงแรมรีสอร์ต เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว
“คนศรีลังกามีความหวังกับอนาคต ทั้งการพัฒนาและปรองดองในประเทศ อยากให้ประเทศก้าวสู่อนาคตด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน การได้มาประจำการในช่วงเวลานี้ถือว่าดีมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นจริง ๆ”
ไทยลงทุนเพิ่ม “10 เท่า”
ขณะนี้เป็นช่วงเวลาเปิดประเทศรับการค้าการลงทุน และด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร ไทยจึงเข้ามามีบทบาทความร่วมมือการค้าแบบ “วิน-วิน” ปีก่อนการค้าไทย-ศรีลังกาอยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าร่วมกันภายในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านดอลลาร์
“ตัวเลขการลงทุนของไทยเพิ่มอย่างโดดเด่น จากปี 2015 ที่มีการลงทุนเพียง 70 ล้านดอลลาร์ แต่พอปี 2016-2017 มูลค่ากระโดด 10 เท่า ไปอยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์ มีบริษัทไทยที่เข้ามาลงทุนแล้ว เช่น ปูนซีเมนต์นครหลวง ได้มาลงทุนซื้ออุตสาหกรรมซีเมนต์ชื่อ “Holsim” เป็นมูลค่าการลงทุนของไทยที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกาถึง 370 ล้านเหรียญสหรัฐ”
ขณะที่ด้านท่องเที่ยวตอนนี้โรงแรม “ดุสิตธานี” เข้ามาก่อสร้าง รวมไปถึงธุรกิจอาหารอย่าง “ไมเนอร์กรุ๊ป” ที่เข้ามาลงทุน และ “ซี.พี.” มาซื้อหุ้น 80% ของ”Norfolk” ซึ่งเป็นธุรกิจอาหารของที่นี่ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนจากอิตัลไทยด้วย
“ถ้ากลุ่มที่เข้ามาแล้วทำธุรกิจสำเร็จ ก็น่าจะเป็นแรงดึงดูดบริษัทอื่นเข้ามาลงทุนในศรีลังกาในอนาคตได้” ทูตจุฬามณีกล่าวและว่า
ส่งต่อ “ปรัชญาพอเพียง”
นอกจากความร่วมมือด้านการค้า ไทยกับศรีลังกามีความสัมพันธ์แนบแน่นโดยมีพื้นฐานจากพุทธศาสนา ซึ่งไทยก็รับพุทธศาสนามาจากศรีลังกาเมื่อราว 700-800 ปีก่อน ขณะที่สภาพสังคมศรีลังกาคือ “สังคมเกษตร” มีพื้นฐานคล้ายประเทศไทย ทั้งในด้านเกษตร สังคม และศาสนา
ท่านทูตจุฬามณีเล่าว่า ทุกปีสถานทูตประจำกรุงโคลอมโบจะจัดงานเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย และปีนี้ได้จัดงานขึ้นพิเศษกว่าทุกปี คือมีการน้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่าง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาจัดงานสัมมนาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เชิญวิทยากรจากไทยมา 2 ท่านคือ “ลุงเขียน สร้อมสม” เกษตรกรซึ่งพิสูจน์เศรษฐกิจพอเพียงด้วยตัวเองว่าใช้ได้ผลจริง และผู้แทนจาก “ซีพีฟู้ดส์” เพื่อแสดงให้เห็นว่า แนวคิดพอเพียงนำไปใช้กับบริษัทระดับโลกได้ ไม่ใช่แค่สำหรับปัจเจกบุคคลหรือเกษตรกรเท่านั้น
ริเริ่ม “หมู่บ้านนำร่อง”
“ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศที่แสดงความสนใจจะนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ซึ่งมีหมู่บ้านนำร่อง 2 แห่งของไทย ที่เข้าโครงการความร่วมมือเพื่อให้แกนนำชุมชนศรีลังกามาเรียนรู้หลักปรัชญาพอเพียงในประเทศไทย เพื่อนำกลับมาใช้ในประเทศ ก่อนหน้านี้ไทยได้ให้ทุนการศึกษาแก่ชาวศรีลังกาเพื่อเรียนด้านการพัฒนาชนบท และเมื่อต้นปีก็มีเยาวชนศรีลังกามาเข้าร่วมโครงการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงระดับเยาวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประเทศไทย”
โดยหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของไทยเพื่อการเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ คือการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการร่วมมือพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งมีการประยุกต์ใช้ในไทยและเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เรากำลังแบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะเพื่อนในประเทศกำลังพัฒนา เพราะเราได้เรียนรู้ทั้งด้านดีและไม่ดีมาเยอะ ได้เห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำตอบหนึ่งที่น่าจะตอบโจทย์ให้กับโลกได้ ซึ่งส่วนตัวมีความตั้งใจว่า นอกจากหน้าที่ของทูตทั่วไปในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้เป็นไปด้วยดี ก็อยากจะมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในการผลักดันประเทศนี้ให้ดีขึ้นจริง ๆ”