ดร.ณภัทรเปิดโลกลงทุน Wave 3 บล็อกเชน-คริปโทไม่ใช่บ่อน

เศรษฐกิจไทยหลังโควิดจะเดินไปในทิศทางใด เป้าหมายคืออะไร จะยกระดับการผลิตให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงในระดับวินาทีได้อย่างไร เป็นคำถามของหลาย ๆ คน และเป็นคำถามที่ยังต้องค้นต้องหาให้เจอ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยทะยานไปได้ในโลกอนาคตโดยไม่ตกขบวน

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวน “ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Siametrics และกรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ผู้สนใจงานรวบรวมข้อมูลทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และเจ้าของเพจและเว็บไซต์ชื่อ settakid.com มาแลกเปลี่ยนมุมมองและฉายภาพเศรษฐกิจไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

สร้างเศรษฐกิจเน้นคนตัวเล็ก

ดร.ณภัทรตอบคำถามข้างต้นว่า เศรษฐกิจไทยติดหล่มมาหลายปี มีความท้าทายเยอะมาก การบ้านเศรษฐกิจไทยในมุมมองของเขา คือ การวางยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจของผู้เล่นรายใหม่ ๆ

ขณะที่ไทยมีปัญหาหลักของเศรษฐกิจที่เรียกว่า “3 ก.” คือ เก่า แก่ กระจุก ซึ่งมีปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ กัน คือ ธุรกิจและโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันยังมีกิจกรรมที่ค่อนข้างเก่า ทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ผลิตขึ้นมาขาย จะดีหน่อยก็ส่งออก ขณะที่เทรนด์ของโลกเป็นการผลิตบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งการผลิตของไทยมีส่วนนี้น้อยมากในจีดีพี นี่คือความเก่า

ส่วนเรื่องกระจุก เศรษฐกิจไทยยังโตแบบกระจุกอยู่แค่คนบางกลุ่มหรือกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม ทั้งที่ในโลกสมัยใหม่ต้องกระจาย ต้องมีการแบ่งความเจริญออกไป แม้จะมีการพูดกันมานานว่า อยากให้เอ็มเอสอีเจริญเติบโต แต่ในทางปฏิบัติก็อย่างที่เห็น

ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจฐานรากจึงสำคัญ ด้วยการทำให้มีนวัตกรรม หรือการดึงศักยภาพของผู้ผลิต ผู้ประกอบการในแต่ละท้องที่ให้เจริญเติบโตขึ้น และไม่ใช่ให้เขาผลิตของออกมาขายได้ เพื่อให้มีสถานภาพดีขึ้นเท่านั้น แต่ต้องทำให้พวกเขาเป็นหัวหอกสร้างความเจริญเติบโตให้แก่เศรษฐกิจชาติได้ด้วย

“ถ้าดูประเทศอื่น ๆ ในโลกปัจจุบัน เริ่มหมดยุคสมัยที่พยายามให้มีธุรกิจใหญ่ ๆ แล้ว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมักออกมาจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีไอเดียดี ๆ แล้วตอนหลังจึงมีทุนใหญ่เข้ามา ไม่ใช่โมเดลลงทุนเยอะ ๆ ในบริษัทใหญ่ ๆ แล้วให้มันแตกหน่อ ตอนนี้หน่อมันไปเกิดเอง แล้วค่อย ๆ รวบเข้ามาซูเปอร์มาร์เก็ต ปัญหาของไทยคือหน่อของเราไม่ผุดไม่เกิดเสียที เพราะสิ่งแวดล้อมที่เรามีไม่ค่อยเอื้อ” ดร.ณภัทรกล่าว