แอชตันอโศก ลูกบ้านรอ 7 เดือน ลงขันสู้คดีทุบคอนโดติด MRT

อัพเดต 7 เดือนเต็มคดีคอนโดฯ “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” เจ้าของห้องชุด 668 รายลงขันจ้างทนายต่อสู้คดีหลักแสนบาท/ห้อง ลุ้นขอเป็น “ผู้ร้องสอด” เพื่อชี้แจงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง เผยแบงก์ปิดประตูสินเชื่อ แต่ต้องผ่อนค่างวดตามปกติ ยอดขายใหม่วูบ 100% “ประธานศาลปกครองสูงสุด” ชี้เร่งพิจารณาคดีให้จบภายในปี 2565 นี้

เวลาผ่านไป 7 เดือนเต็ม นับจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” ล่าสุด ตัวแทนเจ้าของร่วมหรือเจ้าของห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศกฯ จำนวน 600 กว่าห้องที่โอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว เปิดข้อมูลการเตรียมความพร้อมเจ้าของห้องชุดเพื่อหาทางออกจากปัญหาคอนโดฯ จะถูกทุบทิ้งหรือไม่

กระทบ 668 เจ้าของห้องชุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คอนโดฯแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 มีจำนวนห้องทั้งหมด 783 ห้อง ช่วงก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสามารถขายได้แล้ว 666 ห้อง เหลือขาย 115 ห้อง คิดเป็นสัดส่วนขายได้แล้ว 85% เหลือขาย 15%

หลังจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ยอดขายในช่วง 7 เดือนหายเกือบ 100% โดยสามารถขายเพิ่มได้อีกเพียง 2 ห้อง จากปกติที่มียอดซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์เฉลี่ยเดือนละ 10-16 ห้อง ดังนั้น คำนวณได้ว่า ถ้าอยู่ในภาวะปกติที่ไม่มีคำตัดสินทางคดี จำนวนห้องเหลือขาย 115 ห้องน่าจะสามารถปิดการขายหรือขายได้หมดทั้งโครงการภายในเวลา 7-12 เดือน

เบ็ดเสร็จมีจำนวนห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์แล้ว 668 ห้อง และสถานะปัจจุบันถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง

Advertisment

ลงขันจ้างทนายต่อสู้คดี

นายธนา เตรัตนชัย กรรมการนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ถึงปัจจุบัน เป็นช่วงวิตกกังวลถึงขีดสุดของเจ้าของร่วม 600 กว่ารายที่มีการซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เพราะได้รับผลกระทบรอบด้าน ประเด็นใหญ่สุดเป็นเรื่องผลจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางซึ่งมีคำตัดสินหลังจากโอนห้องชุดแล้วถึง 3 ปี จะมีผลทำให้คอนโดฯต้องถูกทุบทิ้งหรือไม่ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายของเจ้าของห้องชุดที่มีอยู่จำนวนมาก

“ตอนนี้ผมถึงขนาดเป็นโรคซึมเศร้าเพราะช็อกมากกับเหตุการณ์นี้ คนอื่นอาจซื้อมือแรกแต่ผมเพิ่งซื้อเมื่อเดือนเมษายน 2564 ก่อนหน้าจะมีคำตัดสินไม่นาน ยอมรับว่าลังเลใจมาก ตัดสินใจยากว่าจะทำยังไงต่อไป แต่ก็ได้ตกแต่งห้องชุดและย้ายเข้ามาอยู่ในเดือนตุลาคม 2564 เป็นช่วงสั้น ๆ แต่ทรมานใจมากครับ บรรยากาศของชุมชนในโครงการเรามีแต่เรื่องปรับทุกข์ มีอารมณ์โกรธ และมีความเครียดจนสัมผัสได้ ผมทนไม่ไหวต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านชั่วคราวเมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา”

Advertisment

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เนื่องจากมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวนมากถึง 600 กว่าราย ทำให้ต้องใช้เวลาในการติดต่อประสานงานเพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้ เพราะเจ้าของห้องชุดก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกันในตอนแรก ล่าสุด เพิ่งมีการเปลี่ยนคณะกรรมการนิติบุคคล และมีมติเสียงส่วนใหญ่โหวตให้หาช่องทางเพื่อมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลต่อศาลปกครอง

เบื้องต้นจำเป็นต้องจ้างทนายความ ซึ่งก็พบว่าทนายความที่มีความชำนาญคดีเกี่ยวกับศาลปกครองมีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย ทำให้ตัวเลือกมีน้อย โดยการตัดสินใจสู้ต่อในศาลปกครอง ทางทนายความแจ้งค่าใช้จ่ายอย่างต่ำหลักแสนต่อห้องชุด ซึ่งทางผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แจ้งกับเจ้าของห้องชุดแล้วว่าบริษัทยินดีเข้ามามีส่วนร่วมช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายด้วย

หาช่องทางเป็น “ผู้ร้องสอด”

สำหรับแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มเจ้าของร่วม 668 รายนั้น นายธนากล่าวว่า จากการรวบรวมคำปรึกษาจากทีมทนายความเล็งเห็นว่า คำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ทางเจ้าของห้องชุดไม่ได้มีโอกาสมีตัวแทนเข้าไปนำเสนอข้อมูลในการพิจารณาคดีของศาลปกครอง มีเพียงบริษัทอนันดาฯ ซึ่งภาษากฎหมายศาลปกครองเรียกว่า “ผู้ร้องสอด” เพราะไม่ใช่จำเลยในคดี แต่เป็นเอกชนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้องร้องในคดีคือ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม

ดังนั้น จึงมีความเห็นร่วมกันว่าทางเจ้าของห้องชุดน่าจะต้องร้องขอต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิ่มตัวแทนฝั่งเจ้าของห้องชุดเข้าไปเป็น “ผู้ร้องสอด” เพิ่มเติมอีกราย นอกเหนือจากมีผู้ร้องสอดเดิมคือบริษัทอนันดาฯ
ทั้งนี้ ความจำเป็นในการขอเป็นผู้ร้องสอดนั้น นายธนากล่าวว่า สถานะของคดีที่ศาลปกครองพิจารณาอยู่ เท่าที่ทราบเจ้าของห้องชุดยังไม่ได้เป็นผู้ร้องสอดจึงไม่มีตัวตนในคดีนี้ เมื่อรับทราบตามคำแนะนำของทนายความจึงมีความต้องการส่งตัวแทนเข้าไปเป็นผู้ร้องสอด เพื่อจะได้มีตัวตนในคดี และจะได้มีตัวแทนนำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคดีนี้โดยตรง

เจ้าของห้องชาวต่างชาติมึน

นาย Mark Pandey เจ้าของห้องชุดขนาด 36 ตารางเมตรในโครงการแอชตัน อโศกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนทำงานในประเทศไทยหลายปี ชอบทำเลที่ตั้งโครงการที่อยู่ติดรถไฟฟ้า MRT กับ BTS การเดินทางติดต่อในเมืองมีความสะดวกมาก ณ ตอนที่ตัดสินใจซื้อห้องชุดมีราคา 7 ล้านกว่าบาท ซื้อเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรกในเมืองไทย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคดีทำให้ด้านการเงินสะดุดทั้งหมดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เนื่องจากมีอาชีพเป็นนักธุรกิจ ทำงานที่คอนโดฯ เดิมวางแผนนำทรัพย์สินหรือคอนโดฯ รีไฟแนนซ์เพื่อนำเงินสดมาใช้ลงทุน แต่ได้รับการปฏิเสธให้สินเชื่อจากธนาคาร ทำให้ขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ประเมินว่าอีก 4 เดือนถ้าไม่สามารถหาเงินกู้เพิ่มเติมได้ อาจต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถรันธุรกิจต่อไปได้

แบงก์ปิดประตูสินเชื่อ

นางสาวกุลชลิกา รุ่งวรา หนึ่งในเจ้าของห้องชุดแอชตัน อโศกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบทางด้านการเงินเกิดจากผู้ซื้อห้องชุดส่วนใหญ่ใช้เงินกู้ เดิมห้องชุดในโครงการมีสภาพคล่องสูง บางคนซื้อต่อมือที่ 2-3 ก็มี และเป็นหลักประกันที่ธนาคารให้มูลค่าสูง แต่หลังจากมีคดีทำให้แบงก์ยุติการประเมินสินเชื่อโดยสิ้นเชิง โดยแบงก์ไม่รับพิจารณาห้องชุดแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 เป็นหลักประกันสินเชื่อในปัจจุบัน
สิ่งที่เจ็บปวดคือไม่สามารถทำรีไฟแนนซ์ได้ ไม่สามารถขอเพิ่มวงเงินกู้ได้ ไม่สามารถขอเงินกู้ใหม่เพื่อมาซื้อห้องชุดได้ ในขณะที่ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 600 กว่าราย ถ้าห้องชุดห้องไหนที่ใช้เงินกู้มีหน้าที่จะต้องผ่อนค่างวดรายเดือนตามปกติ ในขณะที่ไม่รู้อนาคตว่าคอนโดฯจะถูกทุบทิ้งหรือได้พักอาศัยอยู่ต่อไป

“จากการติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ประเทศไทยมีนโยบายดึงดูดต่างชาติเข้ามาพักอาศัยในเมืองไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 มีการทบทวนโควตาสัดส่วนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน มีคดีแอชตัน อโศกฯ แบบนี้ ทำให้เราเป็นจิ๊กซอว์ตัวแรกที่อาจทำลายภาพลักษณ์อสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยได้เลย ชาวต่างชาติอาจมองว่าการซื้อทรัพย์สินในไทยอาจไม่ได้นะ ไม่ปลอดภัย จึงวิงวอนขอให้รัฐบาลเข้ามาเหลียวแลปัญหา หาทางคลี่คลายและเยียวยาเจ้าของห้องชุดที่ได้รับผลกระทบมาแล้วนานถึง 7 เดือน”

เผยคดีแอชตัน อโศกฯจบในปีนี้

นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการจัดงานครบรอบก่อตั้งศาลปกครอง 21 ปีว่า อัพเดตความคืบหน้าการอุทธรณ์คดีแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ขณะนี้อยู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยหน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้อง 2 แห่งคือ สำนักการโยธา กทม. กับ รฟม. ได้ยื่นหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับการอนุญาตต่าง ๆ แล้ว ศาลปกครองสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอย่างรอบคอบ และเข้าใจว่าเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีความพยายามเร่งรัด คาดว่าภายในปี 2565 นี้จะได้รับทราบผลการพิจารณาคดีแอชตัน อโศกฯแน่นอน

ส่วนกรณีเจ้าของห้องชุด 668 รายของแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ขอเป็นผู้ร้องสอดจะสามารถทำได้หรือไม่นั้น หากเป็นผู้ที่มีผลได้เสียในคดีนั้น ๆ สามารถทำได้ แต่ต้องทำตั้งแต่ตอนศาลชั้นต้น ในชั้นอุทธรณ์ไม่สามารถทำได้แล้ว

เปิด 5 เกณฑ์พิจารณา

นายสุชาติ มงคลเลิศลพ รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การพิจารณาคดีแอชตัน อโศกฯ มี 5 ประเด็นหลักคือ 1.พื้นที่ที่ตั้งโครงการเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมอาคารชุด โดยมีประเด็นย่อยคือ โครงการนี้รุกล้ำที่สาธารณะหรือไม่ และมีการอนุญาตให้นำที่ดิน รฟม. ที่เวนคืนมาใช้ประโยชน์ถูกต้องหรือไม่

2.การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

3.หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐละเลยหน้าที่ในการดูแลที่สาธารณะหรือไม่ และโครงการแอชตัน อโศกฯ ได้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ด้วยหรือไม่

4.การประกาศของ รฟม. เกี่ยวกับประเภทที่จะให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

และ 5.การอนุญาตให้โครงการนี้ใช้ประโยชน์โดยชอบหรือไม่

นอกจากเกณฑ์ข้างต้นแล้ว การพิจารณาต้องดูกฎหมายร่วมอีก 5 ตัว ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร, กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารชุด, กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์, กฎหมายว่าด้วยการควบคุมและรักษาสิ่งแวดล้อม และกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลที่ดินของรัฐ

“การพิจารณาต้องใช้เวลาพอสมควร เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมที่สุด แต่ยืนยันตามท่านประธาน (นายชาญชัย) ว่าจะไม่เกินปี 2565 นี้” รองประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าว