ถอดรหัส Web 3.0-เมตาเวิร์ส เศรษฐกิจใหม่ โอกาสประเทศไทย

เรืองโรจน์ พูนผล
เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) ในเครือธนาคารกสิกรไทย

ประเทศไทยมีสัดส่วนต่อประชากรของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 10% โดยปัจจุบันผู้เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยอยู่ที่ 2.2 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็เริ่มมองหาโอกาสจากเทคโนโลยีบล็อกเชน และธุรกิจโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” โดยมีผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจากแวดวงธุรกิจไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ หนึ่งในนั้นคือ “เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) ในเครือธนาคารกสิกรไทย ที่มาแชร์มุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยี Web 3.0 และโอกาสใหม่ ๆ กับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“เรืองโรจน์” กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากเมื่อพูดถึง digital asset ecosystem สิ่งที่ต้องกล่าวถึง คือ วิวัฒนาการ Web 3.0 และถือเป็นองค์ประกอบการเกิดขึ้นของหลาย ๆ เทคโนโลยี

ถอดวิวัฒนาการ Web 3.0

หากย้อนกลับไปวิวัฒนาการของแต่ละยุค พบว่า Web 1.0 ถือเป็นยุคแรก ๆ ของการเกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ส่วน Web 2.0 คือการมาของโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก เป็นยุคของการสื่อสาร 2 ทาง มีการเขียน อ่าน แชร์ เรื่องราวกันได้ โดยผู้บริโภคสามารถเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เองได้ และการนำคลาวด์มาใช้ ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจถูกลง เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ จนเกิดสตาร์ตอัพขึ้นจำนวนมาก

ขณะที่ Web 3.0 ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการดีไซน์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาบางส่วนของ Web 2.0 เช่น การนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานออกไปขาย เพื่อสร้างรายได้จากการขายโฆษณา เป็นต้น

และว่า Web 3.0 เกิดขึ้นจาก 3 แนวคิดสำคัญ คือ

1.open source software เป็นหลักการหรือแหล่งที่มาจากเทคโนโลยี

2.trustless ไม่ต้องเชื่อมต่อตัวกลาง

3.permissionless ไม่ต้องขออนุญาตใคร

ขณะที่พื้นฐานของ Web 3.0 ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ บล็อกเชน, คริปโตเคอร์เรนซี, smart contract, NFT (nonfungible token) และ decentralized autonomous organization (เทคโนโลยีที่พัฒนาต่อยอดมาจากคุณสมบัติสำคัญของคริปโตเคอร์เรนซี คือ การกระจายอำนาจที่ไม่โดนควบคุม)

พื้นฐานเหล่านี้ทำให้เกิดนวัตกรรม หนึ่งในนั้นคือ decentralized finance หรือระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง อีกส่วนคือ NFT (nonfungible token) การแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น

“NFT คือ โฉนดหรือสิทธิการแสดงความเป็นเจ้าของ เป็นโทเค็นแสดงสิทธิของสินค้าที่มีมูลค่าอะไรบ้าง เช่น งานศิลปะ โดยสามารถทำเงินได้แก้ปัญหาในอดีตที่ศิลปินเมื่อสร้างงานศิลปะแล้วจะมีข้อจำกัดในการหารายได้”

จาก Web 3.0 สู่เมตาเวิร์ส

“เรืองโรจน์” กล่าวต่อว่า บริษัทมองเห็นโอกาสจากการเติบโตของ NFT โดยได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม NFT market place ภายใต้ชื่อ Coral ซึ่งอยู่บนอีเทอเรียม (ethereum) พร้อมร่วมกับศิลปินไทย เช่น เอกชัย มิลินทะภาส, ทรงศีล ทิวสมบุญ, ผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นต้น มาผลิต NFT art ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี บางภาพ NFT ขายได้ราคาสูงถึง 1,850,000 บาท หรือบางภาพขายได้ 2 ล้านบาท และขายหมดทุกคอลเล็กชั่น

อย่างไรก็ตาม จาก Web 3.0 จะเป็นเมตาเวิร์สหรือการเชื่อมต่อ digital twin ที่เชื่อมระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน

ยกตัวอย่าง ว่าโลก Web 2.0 คือการเขียน mobile applications ส่วนโลก 3.0 และเมตาเวิร์ส คือสร้างโลกขึ้นมาเลย มีอินเตอร์แอ็กชั่นหลายอย่างเข้ามาในโลกเสมือนจริง มีหลายตัวตนได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงโลกเสมือนนั้นได้ด้วย เท่ากับว่าจะเป็นผู้ใช้ ผู้สร้าง และสร้างรายได้ (earn)

เศรษฐกิจใหม่ โอกาสใหญ่ธุรกิจ

“เรืองโรจน์” กล่าวว่า โอกาสที่เกิดจาก Web 3.0 และเมตาเวิร์สจะเปลี่ยนแลนด์สเคปของธุรกิจ และใหญ่กว่า Web 2.0 หลายเท่า

สิ่งหนึ่งที่จะเกิดคือ tokennomic (เศรษฐศาสตร์ของโทเค็น) ซึ่งจะสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์ที่ออกแบบระบบโทเค็นโดยเฉพาะ นักออกแบบอวตาร เป็นต้น ปัจจุบันมีหลายอุตสาหกรรมที่เข้ามาร่วมกับโลกเมตาเวิร์สแล้ว เช่น ธุรกิจเพลง ทีวี ภาพยนตร์ แฟชั่น เครื่องสำอาง กีฬา การศึกษา รถยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

“ผมผ่านมาหลายเวฟมาก สิ่งที่จะเป็นรูปธรรมและมีประโยชน์กับคนทั่วไปอาจมาช้ากว่าที่คิด แต่เมื่อที่มาจะเร็วยิ่งกว่าสึนามิ จะถล่มคุณ แต่ก็มีโอกาสมากมายนำสินทรัพย์ในโลกจริงมาแปลงเป็นโทเค็นดิจิทัล ครีเอเตอร์อีโคโนมี สร้างโปรดักต์บนโลกเมตาเวิร์ส นั่นหมายถึงโอกาสทางการตลาด โฆษณารูปแบบใหม่ ๆ และสามารถขายงานได้ทั่วโลก”

“เรืองโรจน์” กล่าวต่อว่า จากโอกาสที่จะเกิดขึ้น KBTG จึงเปิดบริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด ซึ่งเคแบงก์เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเสนอขายโทเค็นดิจิทัล (ICO portal)

เมตาเวิร์สใหญ่กว่า GDP สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย และภาคธุรกิจต้องตอบให้ได้ก่อนที่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นจริงว่า ปัจจุบันเป็น mass adoption หรือยัง ปัจจุบันเรายังใช้เทคโนโลยีของ Web 2.0 ประสบการณ์ในการใช้จะเป็นอย่างไร เรื่องของ decentralized finance จะต้องเชื่อมต่อเข้ามากับโลกการเงินยุคเก่า และสิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวเชื่อม คือ stablecoin หรือเหรียญที่มีมูลค่าคงที่ ซึ่งต้องนำมาใช้ในโลกจริง และจะเปลี่ยนโลกจริงได้ด้วย ก่อนที่จะเกิดเป็นโลกเสมือน

นอกจากนี้ ยังจะมีการเกิดขึ้นของเจเนอเรชั่นใหม่ ที่เรียกว่า คริปโตเนทีฟ (crytonative) หรือเด็กที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับคริปโตเคอร์เรนซี และการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เรียกได้ว่าเป็น Web 3.0 Native

“ปัจจุบันยังมีช่องทางอีกมากที่เมตาเวิร์สจะกลายเป็น mass adoption ซึ่ง Web 3.0 อาจเกิดขึ้นช้ากว่าที่คิด แต่ถ้ามาแล้วจะเป็นโอกาสมหาศาลและมูลค่าสูงถึง 12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือใหญ่เท่ากับ GDP ของอเมริกาใน 1 ปีเลยทีเดียว ถ้า Web 3.0 และเมตาเวิร์สเทกออฟ ธุรกิจเพลงจะมีมูลค่า 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ค้าปลีก 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การศึกษา 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โฆษณา 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด”

ล่าสุดบริษัทได้เปิดกองทุน Endless Capital เพื่อลงทุนใน Web 3.0 เทคโนโลยีบล็อกเชนและเมตาเวิร์สกับสตาร์ตอัพทั่วโลก รวมถึงจับมือกับ MIT Media Lab เพื่อร่วมทำวิจัยเพื่อสร้างอนาคตทางการเงินยุคใหม่ และเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ ๆ ที่่จะมาถึงในอนาคต

จุดหักศอก-ยุคทองอาเซียน

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แต่จะมีเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ไบโอเทค ฟู้ดเทค ฯลฯ โดยจุดหักศอกแรกของทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นในปี 2567 และถัดไปอีกในปี 2571-2572 จะหักศอกอีกรอบ หลังจากนั้น ถ้าใครยังปรับตัวไม่ทัน สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ตามไม่ทันแล้ว และโลกจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

“เรืองโรจน์” กล่าวด้วยท่ามกลางการเกิดขึ้นของสารพัดเทคโนโลยี สิ่งที่ธุรกิจต้องเข้าใจ คือ ต้องไม่กลัวว่าจะตกขบวนรถไฟ และไม่ควรกระโดดเข้าไปทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย เพราะเมื่อพลาดขบวนที่ 1 ก็จะมีอีก 10 ขบวนวิ่งตามมา ต้องเกาะให้ได้สักขบวน และเมื่อถึงเวลานั้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเข้าสู่ยุคทองพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากโควิดเป็นต้นไป

“จะมีรถไฟให้กระโดดอีกเป็น 10 ขบวน เพราะจะเป็นยุคทองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราอยู่ในจุดหักศอกของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มีโอกาสใหญ่กว่าในยุคที่ผ่านมามหาศาล เราอาจจะมีบริษัทเทคโนโลยีระดับแสนล้าน หรือ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 10 ปีข้างหน้า”

“เรืองโรจน์” ทิ้งท้ายว่า หลายวิกฤตที่ผ่านมา ธุรกิจไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถรอดพ้นและอยู่รอดมาได้ ในการเปลี่ยนแปลงแห่งทศวรรษจากเทคโนโลยีนี้ก็เช่นกัน มีโอกาสใหญรออยู่ และเชื่อว่าจะมีธุรกิจไทยที่เก่ง ๆ ปรับตัวได้ และเป็นผู้ชนะได้ จึงอยากให้มองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นโอกาสของประเทศไทยและคนไทยทุกคน อย่ามองเป็นภัยคุกคาม


“นี่คือโอกาสใหญ่ที่จะสร้างธุรกิจไทยได้ และทำให้ 10 ปีข้างหน้าเป็นยุคทองของประเทศไทย แต่ภาคธุรกิจต้องสู้สุดใจและเต็มที่เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”