พิษโอมิครอน…ถล่มหนัก “ฟาวิพิราเวียร์” ขาด (จริง)

ยาฟาวิพิราเวีย

การก้าวเข้ามาของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่มาทดแทน “เดลต้า” และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ ทำภาพเดิม ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา วนเวียนกลับมาหลอกหลอนอีกคำรบหนึ่ง โดยเฉพาะยาต้านไวรัสตัวหลัก “ฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) มีไม่เพียงพอกับความต้องการ

ภาพของยาฟาวิฯขาด ส่วนหนึ่งอาจจะสะท้อนได้จากความเคลื่อนไหวของ ชมรมแพทย์ชนบท ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชมรม ถึง 2 ครั้ง 2 คราว ในระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเดียว ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ชมรมแพทย์ชนบทระบุว่า สถานการณ์ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนักทั้งประเทศยังไม่ดีขึ้น นับตั้งแต่ที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาบ่นดัง ๆ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 และเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง และการบอกให้ประชาชนเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องทานฟาวิพิราเวียร์ก็ไม่ชัดเจน

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ออกมายืนยันว่า ยาฟาวิฯไม่ขาดแคลน องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีสารตั้งต้นในการผลิตได้เอง และมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

รพ.รัฐ-รพ.เอกชนแจงฟาวิฯไม่พอ

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลศูนย์ในหลายจังหวัด กล่าวถึงเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันกับชมรมแพทย์ชนบทว่า ข้อเท็จจริงสำหรับฟาวิฯในเวลานี้ต้องยอมรับว่า เป็นการบริหารแบบรายวัน นอกจากจำนวนผู้ป่วยที่มีเป็นจำนวนมากในแต่ละวันแล้ว ในแง่ของการผลิตของ อภ. ก็มีไม่เพียงพอกับความต้องการ ตอนนี้ส่วนกลางจะกระจายยา (ส่ง) ยาไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ 2-3 วัน/ครั้ง แทนที่จะเป็น 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวเลขการใช้ยาฟาวิฯมีจำนวนมาก ตั้งแต่ สธ.ปรับแนวทางการ เจอ แจก จบ ที่เริ่มเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชน ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ระบุว่า ขณะนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีความต้องการยาฟาวิฯสูงมาก เนื่องจากแต่ละวันมีผู้ป่วยโควิดเป็นจำนวนมาก การให้ยาฟาวิฯเร็ว หรือให้ยาได้ในวันแรก ๆ จะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น ยอมรับว่าตอนนี้ฟาวิฯไม่พอ และใช้อย่างจำกัดจำเขี่ยมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น โรงพยาบาลได้ขอรับบริจาคไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งก็ได้รับการจัดสรรมาให้ 50,000 เม็ด ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็มอบยาฟาวิฯ จำนวน 500,000 เม็ด ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งที่เข้าร่วมโครงการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาพของยาฟาวิฯที่ขาดเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการดูแลคนไข้โควิด-19 เมื่อสัก 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่า ผลิตไม่ทัน

“ตอนนี้โรงพยาบาลต่าง ๆ ก็มีการทวงถามยาฟาวิฯกันทุกวัน บางวันก็มาครบ บางวันก็มาไม่ครบ ซึ่งทางออกของเรื่องนี้ หากองค์การเภสัชฯผลิตได้ไม่ทัน ก็อาจจะต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดียที่มีราคาไม่สูง และราคาใกล้เคียงกับการผลิตในประเทศ”

ถึงนาทีนี้หากจะกล่าวว่า ฟาวิฯขาดทั้งแผ่นดิน ก็คงไม่ผิดนัก

Favipiravir

ผลิตได้ 15 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์

รายงานข่าวจากองค์การเภสัชกรรมให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา องค์การเภสัชฯได้สต๊อกวัตถุดิบสำหรับการผลิตฟาวิฯไว้มากพอระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง จำนวนผู้ป่วยลดลงมาก จึงตัดสินใจชะลอการผลิตเพื่อสต๊อกยาไว้ก่อน แต่พอสถานการณ์โควิด-19 ดีดกลับขึ้นมาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวันสูงวันละหลายหมื่นคน

องค์การเภสัชฯ จึงต้องเร่งผลิตฟาวิฯเพื่อให้ทันกับความต้องการ และส่วนหนึ่งก็ต้องนำเข้าจากประเทศอินเดีย และการเพิ่มน้ำหนักการผลิตมาที่ฟาวิฯดังกล่าว อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบกับการผลิตยาพื้นฐานหลาย ๆ ตัว เช่น ยาลดไข้บรรเทาปวด ยาแก้แพ้ ยาละลายเสมหะ ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายหนึ่งระบุว่า ขณะนี้การจัดหายาฟาวิฯขององค์การเภสัชฯทำได้ประมาณ 15 ล้านเม็ด/สัปดาห์ ขณะที่อัตราการใช้อยู่ที่ประมาณ 15-20 ล้านเม็ด

ด้านความเคลื่อนไหวของ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดแถลงในเรื่องนี้ ว่า จากสถานการณ์โควิดปัจจุบันติดเชื้อ 2-4 หมื่นรายต่อวัน รวมการตรวจ ATK ที่ผ่านมามีการใช้ยารักษา ทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลวันที่ 28 มี.ค. 2565 มียาคงคลังฟาวิฯทั่วประเทศทั้งหมด 22.8 ล้านเม็ดปัจจุบันมีการใช้ยาสูงเฉลี่ยวันละ 2 ล้านเม็ด

ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม-ปัจจุบัน มีการกระจายยาประมาณ 72 ล้านเม็ด มีการใช้ยาฟาวิฯ 2 ปีมาแล้วราว 200 ล้านเม็ด โดยในการสำรองยาทั้งหมดยังมีสต๊อกส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด รวมแล้วมียาสต๊อกทั้งหมด 25 ล้านเม็ด โดยกระจายตาม รพ.ต่าง ๆ ประมาณ 22 ล้านเม็ด และอยู่ส่วนกลาง 2.2 ล้านเม็ด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขตสุขภาพที่ได้รับการกระจายยาฟาวิฯมากสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร 14,610,000 เม็ด 2.เขตสุขภาพที่ 4 นครนายก, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง 8,370,000 เม็ด 3.เขตสุขภาพที่ 6 จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ตราด, ปราจีนบุรี, ระยอง, สมุทรปราการ, สระแก้ว 7,060,000 เม็ด

4.เขตสุขภาพที่ 5 กาญจนบุรี, นครปฐม, ประจวบคีรีขันธ์, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี 6,220,000 เม็ด และ 5.เขตสุขภาพที่ 11 กระบี่, ชุมพร, นครศรีธรรมราช, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง, สุราษฎร์ธานี 5,740,000 เม็ด

อย่างไรก็ตาม แม้ สธ.จะออกมายืนยันถึงความพร้อมและสต๊อกยาฟาวิฯที่มีอยู่ แต่ตอนนี้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ป่วยโควิดติดท็อปเทนต่างต้องลุ้นว่า วันนี้จะได้รับจัดสรรยาฟาวิฯมาหรือไม่ และจะได้มากน้อยเพียงใด จะพอกับการจ่ายยาให้คนไข้หรือไม่

สถานการณ์ใหม่