สิ้นผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย มีฮาอิล กอร์บาชอฟ วัย 91 ปี

FILE - Soviet President Mikhail Gorbachev waves from the Red Square tribune during a Revolution Day celebration, in Moscow, Soviet Union, Tuesday, Nov. 7, 1989. (AP Photo/Boris Yurchenko, File)

ปูตินส่งสารเสียใจ มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตจากไปแล้ว เผยช่วงท้ายของชีวิต วอนขอให้เจรจายุติศึก รัสเซีย-ยูเครน

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 บีบีซี และ เอพี รายงานว่า นายมีฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย ถึงแก่อสัญกรรมแล้วด้วยวัย 91 ปี ที่โรงพยาบาลเซ็นทรัล คลินิคัล กรุงมอสโก หลังเข้ารับการรักษาตัวมาพักใหญ่แล้ว

โฆษกรัฐบาลรัสเซียเผยว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของนายกอร์บาชอฟ และยังส่งสารไปถึงครอบครัวของนายกอร์บาชอฟด้วย

FILE – นายปูตินพูดคุยกับนายกอร์บาชอฟ ที่เยอรมนี เมื่อ 21 ธ.ค. 2004 (AP Photo/Heribert Proepper, File)

ด้าน นายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้อาลัยและยกย่องนายกอร์บาชอฟว่า เป็นผู้นำที่หาได้ยากยิ่ง สำหรับคนที่มองเห็นอนาคตที่แตกต่างอย่างเป็นไปได้ กล้าเสี่ยงเอาอาชีพการงานของตนเองเข้าแลกเพื่อให้ประสบความสำเร็จ

“ผลของการทำเช่นนั้นทำให้โลกปลอดภัยขึ้น ทำให้คนหลายล้านคนมีอิสรภาพมากขึ้น ยากที่จะคิดว่าจะมีบุคคลคนเดียวที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปในทิศทางบวกเช่นนี้ได้” นายไบเดนกล่าว

FILE – กอร์บาชอฟ พบปะ โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ทำเนียบขาว เมื่อ 8 ธ.ค. 1987   (AP Photo/Boris Yurchenko, File)

นายมีฮาอิล หรือ มิคาอิล กอร์บาชอฟ มีเชื้อสายทั้งรัสเซียและยูเครน บุคลิกลักษณะเด่นคือปานแดงบนศีรษะ นอกเหนือจากเป็นบุคคลที่จดจำในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้นำคนที่ 8 และคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต

ขณะอายุ 54 ปี ก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งหมายถึงผู้นำประเทศ หลังจากเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในคณะโปลิตบูโร ช่วงที่ผู้นำรุ่นเก่าทยอยหมดวาระไป

มีผลงานโดดเด่นในการเปิดประเทศ และสร้างสัมพันธ์กับชาติตะวันตก แต่ไม่อาจจะป้องกันโซเวียตล่มสลายลงได้ ในปี 1991 (พ.ศ. 2534)

แม้นายกอร์บาชอฟจะเป็นที่ยอมรับนับถือในเวทีต่างประเทศ ได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1990 และรางวัลแชมเปียนแห่งสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ปี 2006 แต่ชาวรัสเซียชาตินิยมหลายคนไม่ปลื้มแนวนโยบายปฏิรูปของนายกอร์บาชอฟ ที่รู้จักในชื่อ เปเรสตรอยกา (Perestroika) ทั้งกล่าวโทษว่าทำให้ประเทศต้องตกต่ำและล่มสลาย 

FILE – นายกอร์บาชอฟ พบ มากาเร็ต แทตเชอร์ นายกฯ อังกฤษ ที่กรุงลอนดอน 15 ธ.ค. 1984

ภายใต้นโยบายดังกล่าว รัฐบาลโซเวียตพลิกปรับปรุงระบบเศรษฐกิจและการเมือง เปิดให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบาย กลัสนอสต์ (Glasnost) ยังยอมให้มีการตรวจแก้ประวัติศาสตร์ของประเทศ ปล่อยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพิ่มเสรีภาพแก่สื่อและสิ่งพิมพ์ และยอมให้มีเสรีภาพทางวัฒนธรรม 

ในมุมมองของชาติตะวันตก กอร์บาชอฟเป็นสถาปนิกของการปฏิรูป ที่สร้างเงื่อนไขให้สิ้นสุดยุคสงครามเย็น

หลังโซเวียตล่มสลาย นายกอร์บาชอฟเคยจะหวนสู่การเมืองอีกครั้งในปี 1996 (พ.ศ. 2539) แต่กลับได้คะแนนโหวตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียง 0.5%

FILE – ในการประชุมสภารัสเซียที่กรุงมอสโก นายกอร์บาชอฟ และนายบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีรัสเซีย เมื่อ 23 ส.ค. 1991 (AP Photo/Boris Yurchenko, File)

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ สุขภาพของนายกอร์บาชอฟทรุดลง เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง กระทั่งสิ้นใจเมื่อวันอังคารที่ 30 ส.ค. มีรายงานจากสำนักข่าวตาสส์ ว่าจะมีการฝังร่างนายกอร์บาชอฟที่สุสานโนโวเดวิชี กรุงมอสโก เคียงข้างหลุมศพนางไรซา ภรรยาที่จากไปเมื่อปี 1999 (พ.ศ.2542)

FILE – นายกอร์บาชอฟ และนางไรซา ภริยา เมื่อ 17 พ.ค. 1989 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (AP Photo/Mark Avery, File)

สำหรับปฏิสัมพันธ์กับนายปูติน ผู้นำรัสเซียที่มารับตำแหน่งต่อจากนายเยลต์ซิน นายกอร์บาชอฟเคยทั้งวิจารณ์และชื่นชมเป็นบางครั้งบางเรื่อง

เมื่อปูตินพยายามฟื้นฟูเสถียรภาพและความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย หลังการถล่มสลายของโซเวียต นายกอร์บาชอฟประท้วงที่รัฐบาลนายปูตินจำกัดเสรีภาพสื่อ นอกจากนี้ยังเคยซื้อหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวนสอบสวน โนโวยา กาเซตา เมื่อปี 2006 (พ.ศ.2549)

FILE – Soviet President Mikhail Gorbachev Jan. 13, 1991  (AP Photo/Boris Yurchenko, File)

ในสงครามที่รัสเซียบุกยูเครน กอร์บาชอฟออกแถลงการณ์หนึ่งวันหลังศึกเปิดฉากวันที่ 24 ก.พ. เรียกร้องให้ยุติการสร้างความเป็นศัตรูต่อกัน และเปิดการเจรจาต่อรองให้เกิดสันติภาพในทันที

“ไม่มีอะไรในโลกนี้จะมีค่าไปกว่าชีวิตมนุษย์อีกแล้ว การเจรจาต่อรองและหาทางออกด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน และตระหนักถึงสิ่งที่ควรทำเป็นหนทางที่เป็นไปได้ทางเดียวที่จะแก้ไขความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างฉับพลันทันที”

FILE – Former Soviet President Mikhail Gorbachev speaks to the Associated Press during an interview in Moscow, Russia, Friday, Dec. 9, 2016. (AP Photo/Ivan Sekretarev, File)

กอร์บาชอฟเคยให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวเอพี เมื่อปี 1992 (พ.ศ.2535) ว่า “ผมเห็นตัวเองเป็นคนที่เริ่มต้นการปฏิรูปที่จำเป็นสำหรับประเทศ สำหรับยุโรป และสำหรับโลก

ผมเคยถามตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปผมจะเริ่มปฏิรูปทั้งหมดนั้นอีกไหม แน่นอนสิ และจะทำด้วยความต่อเนื่องและเด็ดเดี่ยวมากขึ้นอีก”

….