อำนาจที่ใกล้อวสาน ? ของ “อาวุธพลังงาน” รัสเซีย

โรงกลั่นน้ำมัน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากหยุด ๆ ส่ง ๆ ก๊าซให้ยุโรปผ่านท่อส่งก๊าซหลัก นั่นก็คือนอร์ดสตรีม 1 มาเป็นระยะ เพื่อตอบโต้ที่ถูกสหภาพยุโรปแซงก์ชั่นอันเนื่องมาจากการรุกรานยูเครน ล่าสุดรัสเซียก็ประกาศหยุดส่งก๊าซอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่ามีปัญหาทางเทคนิคในเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการส่งก๊าซ แต่ถึงแม้จะหาข้ออ้างอย่างไร เป็นที่รู้กันว่านี่คือวิธีที่รัสเซียต้องการลงโทษยุโรป รวมทั้งต้องการบีบบังคับให้ยุโรปยกเลิกการแซงก์ชั่น

การเลือกหยุดส่งก๊าซในช่วงนี้ก็เพราะใกล้ถึงฤดูหนาว อันหมายถึงว่ามีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้ามากสำหรับสร้างความอบอุ่น หากยุโรปมีก๊าซไม่เพียงพอ ก็คงยากจะอยู่รอดในหน้าหนาว และสร้างความเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจและต่อประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ยุโรปไม่ได้ประหลาดใจที่รัสเซียทำเช่นนี้เพราะเป็นสิ่งที่คาดหมายไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดขึ้น จึงได้เตรียมแผนรับมือมาโดยตลอด

“อากาเธ่ ดีเมเรส” ผู้อำนวยการ ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ระบุว่า ดูเหมือนรัสเซียกำลังใช้สินค้าพลังงานเป็นอาวุธและเผาสะพานของยุโรป ในขณะที่ยังสามารถทำได้

“ยุโรปกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวที่ยากลำบากอย่างมาก และอาจใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการปรับตัว โดยที่จะเกิดความเจ็บปวดต่อเศรษฐกิจมากมาย รัสเซียรู้ว่าหากต้องการทำลายเศรษฐกิจยุโรป ก็ต้องลงมือเดี๋ยวนี้ก่อนที่อาวุธด้านพลังงานจะถดถอย” ดีเมเรสกล่าวและเสริมว่า หลังจากยุโรปสามารถปรับตัวได้แล้ว โดยจัดหาพลังงานจากหลาย ๆ แหล่งก็จะลดการพึ่งพาก๊าซรัสเซียลง ถึงเวลานั้นอิทธิพลด้านพลังงานของรัสเซียที่มีต่อยุโรปก็อาจจะสิ้นสุดลง

บรรดานักวิเคราะห์ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้เยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป เคยซื้อก๊าซจากรัสเซียเกินครึ่ง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเยอรมนีได้เร่งมือจัดหาก๊าซจากที่อื่นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในหน้าหนาว

โดยไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเยอรมนีสามารถจัดหาก๊าซได้เร็วขึ้น เนื่องจากมีหลายปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ 1.นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศสามารถป้อนก๊าซให้ในปริมาณมาก 2.ราคาพลังงานที่สูงทำให้ความต้องการในตลาดลดลง 3.ภาคธุรกิจเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น 4.รัฐบาลสนับสนุนวงเงินมากกว่า 1.5 หมื่นล้านยูโรเพื่อซื้อก๊าซเติมเข้าคลังจัดเก็บ

ตามประมาณการล่าสุดของสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานและน้ำแห่งเยอรมนี (BDEW) แสดงให้เห็นว่าในเดือนสิงหาคม เยอรมนีใช้ก๊าซจากรัสเซียลดลงเหลือเพียง 9.5% ลดลงอย่างมากจากที่เคยใช้ถึง
60% ในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะเดียวกันนอร์เวย์กลายเป็นผู้ป้อนก๊าซรายใหญ่ที่สุดให้กับเยอรมนี โดยคิดเป็นสัดส่วน 30% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ป้อนรายใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 24%

เอียน เบรมเมอร์ ประธานยูเรเซีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงการเมือง กล่าวว่า ดูเหมือนเป็นไปได้มากขึ้นที่เยอรมนีจะสามารถผ่านฤดูหนาวไปได้โดยที่ไม่ต้องใช้วิธีปันส่วนก๊าซมากนัก แม้ในกรณีเลวร้ายสุดคือรัสเซียอาจจะหยุดส่งก๊าซอย่างถาวรก็ตาม “ถือเป็นข่าวดีมาก ๆ อิทธิพลด้านพลังงานของรัสเซียที่มีต่อยุโรปใกล้จะสิ้นสุดแล้ว”

ขณะที่ข้อมูลของ Gas Infrastructure Europe แสดงให้เห็นว่าโดยรวมแล้วระดับการสต๊อกก๊าซของสหภาพยุโรป สามารถทำได้เกิน 80% โดยเฉลี่ย เฉพาะเยอรมนีนั้นทำการสำรองได้ 84% แล้วก่อนถึงฤดูหนาว

แอนเดรีย ชโรเดอร์ หัวหน้าทีมวิเคราะห์ของ ICIS ระบุว่า อำนาจด้านพลังงานของรัสเซียยังไม่หมดไป แต่กำลังเจือจางลงช้า ๆ อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าถึงแม้เยอรมนีและยุโรปจะสามารถจัดหาสต๊อกก๊าซได้ตามเป้าหมายก่อนกำหนด และลดการพึ่งพารัสเซียได้ แต่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ราคาพลังงานยังคงสูงมาก

ดังนั้นปัญหายังไม่จบ เพราะฤดูหนาวยังมาไม่ถึง ถ้าฤดูหนาวไม่หนาวมาก ก็ไม่จำเป็นต้องลดใช้พลังงานมากนัก แต่ถ้าอากาศหนาวรุนแรง ก็ต้องใช้พลังงานมาก ทุกอย่างตอนนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ