พบชาวฮ่องกงมุ่งฝึกทักษะ พร้อมย้ายหนี – ชี้ไว้อาลัยควีน กระทบชิ่งถึงจีน

People gather next to flowers placed as a tribute outside the British Consulate in Hong Kong on September 12, 2022 (Photo by Peter PARKS / AFP)

กระแสชาวฮ่องกงย้ายดินแดนยังปรากฏอยู่ ถึงขั้นมีคอร์สสอนทักษะไปอยู่ต่างประเทศ โดยช่วงเวลานี้ที่อยู่ในช่วงไว้ทุกข์ควีนอังกฤษ ชาวฮ่องกงส่วนหนึ่งย้อนนึกถึงสมัยเป็นอาณานิคม เปรียบเทียบกับปัจจุบันที่จีนเข้ามาคุมเข้ม

วันที่ 16 กันยายน 2565 สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานถึงกระแสที่ชาวฮ่องกง มุ่งฝึกอบรมทักษะสำหรับย้ายไปอยู่ต่างประเทศ หลังจากสภาพทางการเมืองผันแปรสู่การควบคุมของจีน มีการปราบปรามฝ่ายผู้แสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์มา 3 ปีแล้ว ไปจนถึงการใช้มาตรการคุมโรคระบาดโควิดมาคุมเศรษฐกิจ

ธุรกิจฝึกอบรมทักษะที่ได้รับความนิยมตอนนี้มีหลากหลาย เช่น ทักษะซ่อมบ้าน หรือ ทักษะแต่งผม

บุรุษพยาบาลแซ่ผัน เป็นคนหนึ่งที่ไปฝึกอบรมทักษะซ่อมบ้านกับบริษัทเรโนโบร ที่คิดค่าอบรม 250 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9 พันกว่าบาท กล่าวว่า ตั้งใจมาฝึกคอร์สนี้เพื่อไว้ใช้เมื่อไปอยู่ต่างแดนแล้ว เพราะช่วงที่อยู่ฮ่องกง มีบริการด้านนี้ให้เรียกใช้ แต่หากไปอยู่ต่างแดน ก็ต้องพึ่งพาตนเอง

ชั้นเรียนสอนทักษะซ่อมแซมบ้านในฮ่องกง (Photo by Bertha WANG / AFP) 

หลิว ชุนอู๋ ผู้ก่อตั้งบริษัทเรโนโบร กล่าวว่า ทุกวันนี้มีคนมาลงทะเบียนฝึกอบรมกับบริษัทมากกว่าพันคน ซึ่งเหนือกว่าที่คาดหมายไว้มาก อีกทั้งคนที่มาลงเรียน อยู่ในวัย 30 กว่า ๆ มีทั้งอาชีพหลากหลาย รวมถึงแพทย์ และครู คนเหล่านี้เตรียมตัวที่จะไปอยู่ต่างประเทศ

ตัวเลขประชากรฮ่องกงปีล่าสุด พบว่าหดหายไป 1.6% เหลือประชากร 7.29 คน ส่วนแรงงานดิ่งลงไปอยู่ที่  3.75 ล้านคน นับว่าต่ำที่สุดในรอบเกือบทศวรรษ หากดูเฉพาะตัวเลขด้านการศึกษา พบว่า จำนวนชั้นเรียนลดหายไป 70 คลาสจาก 60 โรงเรียนในภาคการศึกษานี้ และครูออกจากงานนี้ไปแล้วถึง 4,000 คน

A home-repair and maintenance class in Hong Kong.  (Photo by Bertha WANG / AFP)

หมุดหมายที่ชาวฮ่องกงย้ายไปอยู่มากที่สุดคือ อังกฤษ มีผู้ยื่นใบสมัครมากกว่า 140,000 คน นับจากอังกฤษประกาศมอบวีซ่าที่ปูทางไปสู่การขอสัญชาติ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564

อังกฤษเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของฮ่องกงมาก่อน และเห็นว่าจีนไม่ทำตามสัญญาที่จะดำรงสิทธิเสรีภาพและอำนาจในการปกครองตนเองให้ถึง 50 ปี หลังอังกฤษส่งมอบฮ่องกงให้จีน เมื่อปี 2540

ความเกี่ยวพันระหว่างฮ่องกงกับอังกฤษในอดีต เริ่มมีความหมายมากขึ้น ตั้งแต่กลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตยฮ่องกงถูกทางการจีนปราบปราม

ไว้อาลัยควีน-ย้ำประวัติศาสตร์

ซีเอ็นเอ็น รายงานโดยตั้งข้อสังเกต ว่า การที่ชาวฮ่องกงกว่า 2,500 คน รวมตัวกัยแสดงความอาลัยต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หน้าสถานกงสุลอังกฤษในฮ่องกง เมื่อวันที่ 12 ก.ย. มีความหมายมากกว่าการไว้อาลัยประมุขของสหราชอาณาจักร

ดอกไม้ รูปถ่าย และข้อความที่ชาวฮ่องกงเขียนไว้อาลัยขอบคุณควีน ด้วยคำว่านายหญิงหรือผู้นำหญิงสื่อถึงคำที่ชาวฮ่องกงเคยใช้เรียกในยุคอาณานิคม

People gather next to flowers placed as a tribute outside the British Consulate in Hong Kong on September 12, 2022, following the death of Britain’s Queen Elizabeth II. (Photo by Peter PARKS / AFP)

สำหรับบางคน นี่ไม่ใช่แค่การแสดงความอาลัยต่อพระประมุขของฮ่องกงที่ปกครองมาเป็นเวลา 45 ปี แต่ยังเป็นการประท้วงต่อจีนที่เข้ามาแทรกแซงประชาธิปไตยในฮ่องกงด้วยความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

ชาวฮ่องกงบางคนเห็นว่า การรวมตัวในการแสดงความอาลัยครั้งนี้ยังเป็นการประท้วงที่จีนพยายามที่จะลบประวัติศาสตร์ว่าฮ่องกงเคยเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานท้องถิ่นในฮ่องกงได้เปิดตัวหนังสือเรียนแบบใหม่ โดยในหนังสือเขียนว่า ฮ่องกงไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร และเรียกช่วงเวลาที่ปกครองโดยประเทศอังกฤษว่าการยึดครองที่บังคับได้ 

ผู้เลี้ยงสุนัขคอร์กี้ สุนัขพันธุ์เดียวกับที่ควีนทรงเลี้ยง พาเพื่อนรักสี่ขามาร่วมวางดอกไม้ไว้อาลัยควีนที่หน้าสถานกงสุลอังกฤ๋ในฮ่องกง  (Photo by Peter PARKS / AFP)

 ชาวฮ่องกงวัยเกษียณแซ่อิง ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า น่าโมโหที่รัฐบาลฮ่องกงไม่แสดงความเคารพอย่างเหมาะสมต่อสมเด็จพระราชินีนาถ เพราะมัวแต่กลัวรัฐบาลจีน ทั้งที่ฮ่องกงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคม

ซิลเวีย ลี กล่าวว่า รัฐบาลในช่วงยุคอาณานิคมมีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อการพัฒนาของฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 70 และ 80 ผู้ว่าการที่อังกฤษแต่งตั้งมา ช่วยทำให้เมืองสร้างอาคารสงเคราะห์และโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง

อดีตที่ซับซ้อน

ความผูกพันของอังกฤษกับฮ่องกงย้อนไปถึงศตวรรษที่ 19 เมื่อครั้งที่ฮ่องกงเคยตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ภายหลังสงครามฝิ่น ตั้งแต่ปี 1841 อังกฤษปกครองฮ่องกงเป็นเวลา 156 ปี จนกระทั่งทางสหราชอาณาจักรส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนในปี 1997 ภายใต้แนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบ แต่สัญญาณของอิทธิพลของอังกฤษยังคงอยู่ในชื่อถนนต่าง ๆ ในเมือง และการใช้ระบบกฎหมายทั่วไปในฮ่องกง

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเยือนฮ่องกง 2 ครั้ง ขณะที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ขณะที่พระราชโอรสซึ่งปัจจุบันคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเข้าร่วมในพิธีมอบอำนาจ

 

ถึงกระนั้นในทศวรรษ 1960 ช่วงที่อยู่ภายใต้อาณานิคม ฮ่องกงมีทั้งการจลาจล เหตุการณ์ไม่สงบ และความตึงเครียดทางสังคม ซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างภัยแล้งและพายุไต้ฝุ่น

อีกทั้งยังมีการประท้วงต่อต้านค่าโดยสารเรือข้ามฟากที่เพิ่มขึ้น และการเรียกร้องสิทธิแรงงานที่ดีขึ้น จนกลายเป็นการหยุดงานประท้วง และการโจมตีด้วยระเบิด ทำให้เมืองต้องหยุดชะงัก ภายหลังการประท้วง รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษได้แนะนำการปฏิรูปสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงการการเคหะ และการศึกษาภาคบังคับฟรี

ควีนเสด็จเยือนฮ่องกง เมื่อปี 2518

เจฟฟรีย์ โหงว นักเคลื่อนไหวจากวอชิงตัน ซึ่งเกิดในช่วง 2-3 ปีสุดท้ายของอาณานิคมฮ่องกง กล่าวว่า ตอนนั้นเขายังเด็กเกินไปที่จะจำชีวิตภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่คนฮ่องกงรุ่นก่อน ในรัชสมัยของควีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาเยือนของพระองค์ในปี 2518 และ 2529 เต็มไปด้วยความปลาบปลื้ม

 “เพราะพวกเขาเชื่อมโยงกับเสรีภาพที่ง่ายกว่าตอนนี้โหงวกล่าวปและว่า กฎหมายที่เข้มงวดของจีนใช้เพื่อดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน เช่น กฎหมายปลุกระดมในยุคอาณานิคม เป็นสิ่งเตือนใจว่ามรดกของอังกฤษก็มีด้านมืดเช่นกัน

….