“เฟด” ส่งสัญญาณโหด สถานีปลายทางดอกเบี้ย 4.6%

‘เฟด’ ส่งสัญญาณโหด
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 21 กันยายน มีมติขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ตามที่ตลาดและนักลงทุนส่วนใหญ่คาด ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปอยู่ในช่วง 3-3.25% สูงสุดนับจากปี 2008 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ทะยานสูง

ขณะเดียวกันคาดการณ์รายบุคคลหรือ dot plot ของคณะกรรมการบ่งชี้ว่า ภายในสิ้นปีนี้มีเป้าหมายจะขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 4.4% ดังนั้นหมายความว่าในการประชุมที่เหลืออยู่อีก 2 ครั้งของปีนี้จะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก รวม 1.25% จึงมีโอกาสที่จะเห็นเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูง 0.75% อีกครั้งในการประชุมที่เหลือดังกล่าว

ส่วนปี 2023 dot plot ของกรรมการ 19 คนต้องการให้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 4.75-5% แต่แนวโน้มกลางอยู่ที่ 4.6% อันหมายความว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไปหยุดที่ระดับ 4.6% เป็นจุดสุดท้าย นั่นอาจหมายความว่าปีหน้าอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ย อีก 0.25%

และจะไม่มีการลดดอกเบี้ยใด ๆ ตลอดปี ตามหลักการที่จะขึ้นไปให้สูงแล้วตรึงไว้อย่างนั้นเพื่อกำราบเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นไปตามที่ประธานเฟดกล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะไม่มีการลดดอกเบี้ยในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม dot plot บ่งบอกว่าอาจจะเริ่มหั่นดอกเบี้ยในปี 2024 มากถึง 3 ครั้ง และอีก 4 ครั้งในปี 2025 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะยาวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9%

“เจอโรม พาวเวลล์” ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า สารของเขาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยพูดไว้ในการประชุมที่แจ็กสันโฮล นั่นคือเฟดมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะดึงเงินเฟ้อลงมา จึงจะตรึงดอกเบี้ยไว้สูงจนกว่าจะคุมเงินเฟ้อสำเร็จตามเป้าหมาย

“เราต้องดึงเงินเฟ้อลงมา ผมเองก็หวังอยากให้มีหนทางที่ไม่ก่อความเจ็บปวดในการคุมเงินเฟ้อ แต่มันไม่มีหนทางที่ว่านั้น” ประธานเฟดกล่าวเมื่อถูกถามถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

การขึ้นดอกเบี้ยอย่างดุเดือดต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เห็นได้จากผลการประชุมครั้งนี้ที่คณะกรรมการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลง 0.2% หดตัวลงอย่างมากจากการประเมินเดือนมิถุนายนที่คาดว่าจะขยายตัว 1.7% ส่วนปีหน้าจีดีพีจะเติบโต 1.8% ขณะที่อัตราการว่างงานปีหน้าประเมินว่าจะสูงขึ้นไปอยู่ที่ 4.4% จากระดับปัจจุบัน 3.7%

รายงานข่าวระบุว่า คาดการณ์จีดีพีในปีนี้ของเฟดที่ปรับลงเหลือ 0.2% จะทำให้เศรษฐกิจเข้าข่ายนิยาม “ถดถอย” เพราะก่อนหน้านี้จีดีพีหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสแล้ว ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานที่ 4.4% มักจะตามมาด้วยเศรษฐกิจถดถอย

เฟดหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้อัตรา เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ 5.4% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน) จะอยู่ที่ 4.5% ก่อนจะลดลงสู่ 2.1% ในปี 2025 อันเป็นอัตราเป้าหมายของเฟด

แม้จะซึมซับข่าวการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มาล่วงหน้า แต่ตลาดหุ้นสหรัฐยังตกใจอย่างรุนแรง ดัชนีดาวโจนส์ในวันเดียวกันดิ่งลง 522.45 จุด หรือ 1.7% ปิดที่ 30,183.78 จุด แนสแดคปรับลง 1.79% หรือ 204.86 จุด ปิดที่11,220.19 จุด ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นไปแตะ 4.1% สูงสุดนับจากปี 2007 ส่วนพันธบัตร 10 ปีอยู่ที่ 3.6%

“คริส ซัคคาเรลลี” ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุนของอินดีเพนเดนต์ แอดไวเซอร์ อัลไลแอนซ์ กล่าวว่า ตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดเต็มใจจะกดเศรษฐกิจให้ถดถอยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันดูเหมือนว่าตลาดซึมซับการถดถอยไปแล้วประมาณ 2 ใน 3 เห็นได้จากตลาดหุ้นร่วงลงไปแล้ว 20% แทนที่จะเป็น 30% ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการลงทุนในระยะสั้น เพราะแสดงว่าตลาดหุ้นยังซึมซับไม่หมด

เอริก สเติร์นเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุนของอโพลลอน เวลท์ แมเนจเมนต์ ชี้ว่า นักลงทุนบางส่วนอาจมองว่าตลาดหุ้นเสี่ยงและไม่คุ้มที่จะลงทุน พวกเขาอาจโยกการลงทุนไปที่สินทรัพย์ถาวรแทน เราอาจไม่เห็นตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนมากอีกแล้ว

ส่วน แอนเดอร์ เพอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุนของนูวีน กล่าวว่า ประธานเฟดมีจุดยืนเหนียวแน่นที่จะต่อสู้เงินเฟ้อและไม่กังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นตลาดหุ้นในระยะข้างหน้าจะผันผวน และตลาดก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความจริง