ซาอุฯ ป้อนน้ำมันให้ชาติเอเชียเท่าเดิม ไม่ลด นาทีหมางเมินสหรัฐ

มกุฎราชกุมารซาอุฯ
(Bandar Aljaloud/Saudi Royal Palace via AP)

จากเพื่อนรักกลายเป็นเพื่อนร้าว ซาอุดีอาระเบียหักหน้าสหรัฐในเรื่องน้ำมันอีกครั้ง ทั้งที่คงปริมาณส่งออกน้ำมันให้ชาติเอเชียตามเดิม

วันที่ 10 ตุลาคม 2565 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า บริษัท ซาอุดี อารัมโก ยักษ์ใหญ่ของวงการน้ำมันแจ้งลูกค้า 7 ชาติในเอเชีย ว่าทั้งหมดจะได้รับน้ำมันดิบปริมาณเต็มในเดือนพฤศจิกายน ก่อนช่วงพีกฤดูหนาว แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำของโลกและพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส ที่รวมถึงรัสเซียประกาศลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนดังกล่าว

The building of the Organization Of The Petroleum Exporting Countries, OPEC, in Vienna, Austria, Wednesday, Oct. 5, 2022  (AP Photo/Philipp-Moritz Jenne)

อับดุลลาซิส บิน ซัลมาน รมว.พลังงานซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า ปริมาณการผลิตที่ตัดลดจริงจะอยู่ที่ 1-1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นักวิเคราะห์คาดว่าซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต จะเคียงบ่าเคียงไหล่กันลดปริมาณการผลิตลง เพราะสมาชิกชาติอื่น ๆ ผลิตในปริมาณที่ต่ำลงอยู่แล้ว

FILE – An Aramco oil facility, in Jiddah, Saudi Arabia, March 21, 2021.  (AP Photo/Amr Nabil, File)

การเอาใจชาติเอเชียของซาอุดีอาระเบียแตกต่างกับท่าทีที่มีต่อสหรัฐอเมริกา กรณีที่โอเปกพลัสปรับลดกำลังการผลิตลง ทำให้สหรัฐกล่าวหาซาอุฯ เข้าข้างรัสเซีย ซ้ำเติมความวิตกกังวลของโลกที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อ

ด้านซาอุฯยืนยันว่า การตัดสินใจเป็นไปตามเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเมือง

อเดล อัล-จูไบอีร์ รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศ กล่าวกับสื่อฟ็อกซ์ นิวส์ของสหรัฐว่า ปัญหาราคาน้ำมันสูงในสหรัฐเป็นผลมาจากสหรัฐเอง

นายไบเดนเยือนเจดดาห์ 16 ก.ค. 2022 REUTERS/Evelyn Hockstein/File Photo

“ด้วยความเคารพ เหตุผลที่คุณเผชิญราคาน้ำมันสูงในสหรัฐอเมริกา เพราะคุณขาดแคลนการกลั่นน้ำมันที่เป็นมานานเกิน 20 ปีแล้ว คุณไม่ได้สร้างโรงกลั่นเลยในหลายทศวรรษมานี้”

รัฐมนตรีซาอุฯกล่าวด้วยว่า คนมองการเยือนซาอุดีอาระเบียของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ (เมื่อเดือน ก.ค.) ผิดไป ทริปนั้นไม่ได้หยิบยกประเด็นน้ำมันมาเจรจา แต่เป็นการพบปะเชื่อมสัมพันธ์และรณรงค์สันติภาพ

สำหรับซาอุฯยึดมั่นต่อการสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน เพื่อผลประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต

MBS
นายไบเดนและมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย (Mandel Ngan/Pool Photo via AP)

ซาอุฯถูกมองเข้าข้างรัสเซีย

การตัดสินใจตัดลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในที่ประชุมกลุ่มรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มโอเปกพลัสที่กรุงเวียนนา สร้างความตกตะลึงให้ชาติยุโรปไม่น้อย เพราะเหมือนช่วยการเงินให้กับรัฐบาลรัสเซีย และทำให้ปูตินเอาตัวรอดจากการถูกแบน เพราะสงครามยูเครน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐพยายามป้องกันโอเปกลดกำลังการผลิต เพราะหวังจะรั้งราคาน้ำมันไม่ให้พุ่งสูงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม และสหรัฐยังต้องการจำกัดรายได้น้ำมันของรัสเซียในช่วงทำศึกยูเครน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไบเดนกับราชวงศ์ซาอุฯกลับตึงเครียด ทั้งที่สองชาติต่างเคยเป็นมหามิตรของกันและกัน

บทวิเคราะห์ของสื่อไทมส์ออฟอินเดีย มองว่า สหรัฐกับซาอุฯคบหากันมานานกว่า 70 ปี มาจากการที่สหรัฐคุ้มกันทางทหารให้ซาอุฯ แลกกับการที่ซาอุฯ ส่งออกน้ำมันมาให้

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย / AFP PHOTO / Fayez Nureldine

แต่ความพยายามที่สหรัฐต้องการฟื้นนิวเคลียร์ให้ซาอุฯ เพื่อไว้ต่อกรกับอิหร่าน กลับไม่เป็นดังหวัง เพราะในสงครามเยเมนบ่งบอกว่าสหรัฐไม่ได้ช่วยคุ้มกันซาอุฯจากการโจมตีของอิหร่านตามที่หวังไว้ ความตึงเครียดของสองชาติจึงก่อตัวขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว เจ้าหน้าที่ซาอุฯ วิตกกับการถูกสหรัฐบูลลี่เพื่อแสดงจุดยืนในด้านใดด้านหนึ่ง

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย วัย 37 ปี ใช้เงินจากการขายน้ำมันไปหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันภารกิจนำให้ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมหาอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21

แม้ผ่านพ้นคดีที่ถูกครหาว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารนายจามาล คาช็อกกี นักข่าวอิสระชาวซาอุฯ ภายในอาคารสถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูล ตุรกี มานาน 4 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนความตั้งใจยกระดับซาอุฯ ไม่ได้ลดน้อยลงเลย