วัคซีนรักษามะเร็ง ผู้ร่วมก่อตั้ง BioNTech เผยความเป็นไปได้ใน 8 ปี

วัคซีนรักษามะเร็ง ผู้ร่วมก่อตั้งไบออนเทคเผยความเป็นไปได้ใน 8 ปี
(Photo by Odd ANDERSEN / various sources / AFP)

สองสามีภรรยาเบื้องหลังหนึ่งในวัคซีนโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เผย เทคโนโลยี mRNA อาจนำมาใช้ทำลายเซลล์มะเร็งได้

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 เดอะการ์เดียน รายงานว่า “อูกูร์ ซาฮิน” และ “ดร.โอซเลม ตูเรชี” สองสามีภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังหนึ่งในวัคซีนโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการรับมือกับการระบาดใหญ่ เผยว่าวัคซีนรักษามะเร็งอาจสามารถใช้ได้ก่อนสิ้นทศวรรษนี้

ซาฮินและตูเรซี ผู้ร่วมก่อตั้ง BioNTech – บิออนเทค บริษัทสัญชาติเยอรมันที่ร่วมมือกับไฟเซอร์ในการผลิตวัคซีน mRNA ป้องกันโควิด ระบุว่าพวกเขาค้นพบความก้าวหน้าที่ทำให้เกิดความหวังว่าจะสามารถผลิตวัคซีนรักษามะเร็งได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ทั้งคู่ให้สัมภาษณ์ทางบีบีซี โดยอธิบายถึงกระบวนการที่เทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวัคซีนโควิดนั้น สามารถนำมาใช้ในอีกวัตถุประสงค์ได้ เพื่อเตรียมระบบภูมิคุ้มกันให้พร้อมสำหรับการโจมตีเซลล์มะเร็ง

เมื่อถูกถามว่าวัคซีนรักษามะเร็งที่ใช้เทคโนโลยี mRNA จะพร้อมใช้ในผู้ป่วยเมื่อใด ซาฮินตอบว่าอาจพร้อมใช้ก่อนปี 2030 (พ.ศ. 2573)

วัคซีน mRNA สำหรับโควิดทำงานโดยนำส่งข้อมูลทางพันธุกรรมสำหรับโปรตีนสไปค์ที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งจะทำให้เซลล์สามารถผลิตโปรตีนสไปค์ขึ้นมาใช้เพื่อบอกให้ระบบภูมิคุ้มกันรู้ว่าควรค้นหาและโจมตีอะไร

ตูเรซี หัวหน้าคณะแพทย์ของบิออนเทค กล่าวว่า วิธีเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้เพื่อเตรียมระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็ง

บิออนเทคกำลังทำงานเกี่ยวกับวัคซีนมะเร็ง mRNA ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด ซึ่งทำให้บริษัทต้องปรับมาผลิตวัคซีนโควิดแทน

ปัจจุบันบริษัทมีวัคซีนป้องกันมะเร็งหลายชนิดที่อยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิก ตูเรซีกล่าวว่าการพัฒนาและความสำเร็จของวัคซีนไฟเซอร์/บิออนเทค จะสะท้อนกลับมายังงานเกี่ยวกับวัคซีนมะเร็ง

บริษัทสัญชาติเยอรมันดังกล่าวหวังที่จะพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งลำไส้ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งชนิดอื่น ๆ แต่อุปสรรคสำคัญก็คือ เซลล์มะเร็งที่ประกอบเป็นเนื้องอกสามารถรวมเข้ากับโปรตีนต่าง ๆ ได้มากมาย ทำให้ยากอย่างยิ่งที่จะสร้างวัคซีนที่มุ่งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งทั้งหมด

ตูเรซีกล่าวว่า บิออนเทคได้เรียนรู้วิธีผลิตวัคซีน mRNA ได้เร็วขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ และมีความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตอบสนองต่อ mRNA อย่างไร

นอกจากนี้ เธอยังมั่นใจว่าการพัฒนาที่เข้มข้นและการเปิดตัวอย่างรวดเร็วของวัคซีนโควิด ยังจะช่วยให้หน่วยงานควบคุมด้านยาอนุมัติวัคซีนมะเร็งให้บริษัทเร็วขึ้นด้วย

แต่ตูเรซียังคงระมัดระวังในการทำงาน เธอกล่าวว่าในฐานะนักวิทยาศาสตร์ มักจะมีความลังเลเสมอที่จะบอกว่ามีวิธีรักษาโรคมะเร็ง

“เรามีความก้าวหน้าอย่างมาก และเราจะเดินหน้าทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป”


ด้านซาฮินกล่าวว่า นวัตกรรมของบริษัทเป็นนวัตกรรมดั้งเดิม ซึ่งใช้เวลา 20 ปีในการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการรักษา และแน่นอนว่าบริษัทจะต่อสู้เพื่อทรัพย์สินทางปัญญา