ไวรัสกำจัดมะเร็ง : การทดลองในอังกฤษใช้ไวรัสใช้กำจัดมะเร็งในมนุษย์ได้ผลน่าพอใจ

  • มิเชลล์ โรเบิร์ตส์
  • บรรณาธิการสุขภาพ สื่อดิจิทัล

นักวิทยาศาสตร์สหราชอาณาจักร ระบุ การทดลองเบื้องต้นในมนุษย์ ในการรักษามะเร็งชนิดใหม่โดยใช้ไวรัสธรรมดาชนิดหนึ่ง ฉีดเข้าไปทำลายเซลล์ที่เป็นอันตราย ให้ผลที่น่ายินดี

เชื้อมะเร็งในคนไข้รายหนึ่งหายไป ขณะที่อีกหลายรายมีเนื้องอกหดตัวเล็กลง

ยาชนิดนี้ผลิตมาจากไวรัสโรคเริม ซึ่งเป็นไวรัสส่าไข้ชนิดอ่อน ที่ผ่านการดัดแปลงเพื่อกำจัดเนื้องอก

แม้จำเป็นต้องมีผลการศึกษาที่กว้างขวางและยาวนานขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การฉีดไวรัสดังกล่าว อาจจะช่วยต่อชีวิตให้กับคนจำนวนมากที่มีมะเร็งลุกลามอย่างรวดเร็ว

คิชตอฟ วอยคอฟสกี

ที่มาของภาพ, Krzysztof Wojkowski

คิชตอฟ วอยคอฟสกี ช่างก่อสร้างวัย 39 ปี จากทางตะวันตกของกรุงลอนดอน เป็นหนึ่งในคนไข้ที่เข้าร่วมการทดลองความปลอดภัยที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยสถาบันวิจัยมะเร็ง (Institute of Cancer Research) ของกองทุนมูลนิธิรอยัลมาร์สเดน เอ็นเอชเอส (Royal Marsden NHS Foundation Trust)

เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำลายในปี 2017 เขาได้รับการผ่าตัดและรักษาหลายวิธีในขณะนั้น แต่เซลล์มะเร็งของเขาก็ยังขยายตัวต่อไป

“ผมได้รับการแจ้งว่า ไม่มีทางเลือกอื่นเหลือสำหรับผมแล้ว และผมกำลังได้รับการดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิต มันสิ้นหวังมาก เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่มีโอกาสเข้าร่วมการทดลองนี้”

การรักษาด้วยไวรัสเป็นช่วงเวลาไม่นาน ซึ่งมีการดัดแปลงไวรัสเริมที่ปกติทำให้เกิดส่าไข้ ดูเหมือนจะได้ผล ทำให้เซลล์มะเร็งของเขาหมดไป

“ผมเข้ารับการฉีดทุก 2 สัปดาห์เป็นเวลานาน 5 สัปดาห์ ซึ่งได้ช่วยกำจัดมะเร็งให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้ผมปลอดมะเร็งมานาน 2 ปีแล้ว”

การฉีดไวรัสดังกล่าว เป็นการฉีดเข้าที่เนื้องอกโดยตรง เพื่อให้มันโจมตีมะเร็งได้ 2 ทาง คือ การรุกเข้าไปในเซลล์มะเร็งและทำให้เซลล์แตกตัว และการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

Getty Images

ในการทดลองนี้ มีคนไข้ราว 40 คนได้รับการรักษา บางส่วนได้รับการฉีดไวรัสที่ชื่อว่า อาร์พี2 (RP2) เพียงอย่างเดียว แต่คนอื่น ๆ ได้รับยารักษามะเร็งอีกชนิดหนึ่งร่วมด้วยชื่อว่า nivolumab

ผลการศึกษานี้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมทางการแพทย์ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส โดยพบว่า :

  • คนไข้ 3 ใน 9 คนที่ได้รับ อาร์พี2 เพียงอย่างเดียว รวมถึงคิชตอฟด้วย พบว่า เนื้องอกมีขนาดเล็กลง
  • คนไข้ 7 ใน 30 คน ที่ได้รับการรักษาด้วยยาร่วมด้วย ก็ดูเหมือนจะได้ผลเช่นเดียวกัน
  • ผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ความอ่อนเพลีย โดยทั่วไปมีไม่มาก

ศาสตราจารย์เควิน แฮร์ริงตัน หัวหน้านักวิจัย กล่าวกับบีบีซีว่า การตอบสนองต่อการรักษา “เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก” ในการรักษามะเร็งที่ลุกลามหลายชนิด รวมถึงมะเร็งทางเดินอาหารและมะเร็งตาชนิดหายาก

“มักจะไม่ค่อยเห็นอัตราการตอบสนองที่ดีเช่นนี้ในการทดลองทางการแพทย์ช่วงแรก เพราะเป้าหมายหลักคือการทดสอบความปลอดภัยในการรักษา และมีการทดลองกับคนไข้ที่มีมะเร็งแพร่กระจายมาก ซึ่งการรักษาในปัจจุบันใช้ไม่ได้ผลแล้ว” เขากล่าว

“ผมอยากรู้เราจะเห็นผลการรักษาที่ดีต่อไปหรือไม่ ขณะที่เรารักษาคนไข้จำนวนมากขึ้น”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์เคยใช้ไวรัสในการต่อสู้กับมะเร็ง สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรได้อนุมัติการรักษาด้วยไวรัสส่าไข้ที่ชื่อว่า T-Vec ในมะเร็งผิวหนังระยะรุนแรงเมื่อ 2-3 ปีก่อน

ศ.แฮร์ริงตัน เรียกการรักษาด้วยอาร์พี2 ว่า เป็น T-Vec ในแบบที่ทรงพลังมากขึ้น เพราะมีการดัดแปลงอื่น ๆ กับไวรัส ดังนั้นเมื่อไวรัสนี้เข้าสู่เซลล์มะเร็ง มันจึงกำจัดเซลล์มะเร็งอย่างได้ผล

ดร.มารีแอนน์ เบเคอร์ จากหน่วยงานวิจัยมะเร็งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ผลการศึกษาที่น่ายินดีนี้ อาจเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษามะเร็ง

“บรรดานักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ไวรัสช่วยรักษามะเร็งได้เมื่อ 100 ปีก่อน แต่เป็นเรื่องท้าทายในการควบคุมพวกมันให้มีความปลอดภัยและให้ได้ผลดี”

“วิธีการรักษาด้วยไวรัสวิธีใหม่นี้ให้ความหวังในช่วงแรกของการทดลองกลุ่มเล็ก ตอนนี้เราต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อดูว่า มันได้ผลดีแค่ไหน”

“งานวิจัยบ่งชี้ว่า การรักษาหลายอย่างร่วมกัน เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลดี และการรักษาด้วยไวรัสอย่างวิธีนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือเอาชนะมะเร็งของเราได้”

………

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว