รู้จัก ริชี ซูนัค สู่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ฮินดูคนแรก วัย 42 ภรรยารวยล้น

Former British Treasury chief Rishi Sunak is frontrunner in the Conservative Party's race to replace Liz Truss as prime minister. (AP Photo/Alberto Pezzali)

ริชี ซูนัค อดีต รมว.คลัง ที่ครั้งนี้จะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยเป็นนายกฯเชื้อสายเอเชียคนแรก และอายุน้อยที่สุดในรอบ 210 ปี

วันที่ 24 ตุลาคม 2565 สื่อมวลชนหลายแขนงเริ่มรายงานประวัติ ริชี ซูนัค วัย 42 ปี ผู้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม หรือคอนเซอร์เวทีฟแล้ว ซึ่งหมายถึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร คนที่ 57 เป็นคนแรกที่มีเชื้อสายเอเชีย (อินเดีย) เป็นนายกฯคนแรกที่นับถือศาสนาฮินดู และเป็นนายกฯที่อายุน้อยที่สุดนับจากปี 1812

ชื่อ Rishi ภาษาสันสกฤต ตรงกับคำว่า ฤษี หมายถึง ผู้แสวงหาธรรม หรือ ผู้รู้แจ้ง ส่วน Sunak สุนัค หมายถึงผู้รับฟัง หรือหากมาจากคำว่า Shaunak จะหมายถึง ปราชญ์ แต่คนอังกฤษออกเสียงเรียกชื่อนายกฯ คนใหม่ ว่า ริชี ซูนัค

FILE – Rishi Sunak and Liz Truss on stage, Aug. 31, 2022. (AP Photo/Kirsty Wigglesworth, File)

บีบีซี รายงานว่า ซูนัคเกิดที่เซาแทมป์ตัน ปี 1980 (พ.ศ. 2523) พ่อแม่เป็นคนเชื้อสายอินเดีย อพยพมาจากแอฟริกาตะวันออก เมื่อมาอยู่อังกฤษ พ่อเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และแม่มีร้านขายยาเป็นของตัวเอง ซูนัคมีน้องชายและน้องสาวที่เกิดในอังกฤษเช่นเดียวกัน

ครอบครัวนับถือศาสนาฮินดู นายซูนัคไม่ดื่มเหล้า และไปวัดทุกสุดสัปดาห์ เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อปี 2019 ว่า โชคดีที่ไม่ได้เผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติมากนัก แต่มีครั้งหนึ่งตอนเป็นวัยรุ่นตอนต้นไปร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดพร้อมน้องสาวและน้องชาย ถูกคนที่นั่งอยู่ไม่ไกลพูดคำหยาบที่ใช้เหยียดคนที่มาจากเอเชียใต้

พบรักลูกมหาเศรษฐีพันล้าน

ซูนัคเข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชน วิทยาลัยวินเชสเตอร์ และทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านอาหารในเมืองเซาแทมป์ตันช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน จากนั้น เข้าเรียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด วิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์

จากนั้นเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐ ได้ พบกับอัคชตา มูรตี (Akshata Narayan Murty) ดีไซเนอร์ บุตรสาวของนารายณ์ มูรตี มหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ ชาวอินเดียและผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านให้บริการไอที

ครอบครัวนายซูนัค

ทั้งสองแต่งงานกันเมื่อปี 2009 (พ.ศ. 2552) มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน

ปี 2001-2004 (พ.ศ. 2544-2547) นายซูนัคทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่โกลด์แมนแซกส์ และต่อมาทำงานพร้อมเป็นหุ้นส่วนในเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่ง จนถึงปี 2010 (พ.ศ. 2553)

จากนั้นช่วงปี 2013-2015 (พ.ศ. 2556-2558) เป็นผู้อำนวยการบริษัทการลงทุน Catamaran Ventures ซึ่งพ่อตาเป็นเจ้าของ

เติบโตทางการเมืองรวดเร็ว

ซูนัคเข้าสู่การเมืองปลายปี 2014 และปี 2015 ได้เป็น ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม ที่เมืองริชมอนด์ มณฑลยอร์กเชียร์ พร้อมเป็นรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาลของนางเทรีซา เมย์ ดูกระทรวงรัฐบาลท้องถิ่นและความปลอดภัยในอาคาร

REUTERS

ต่อมาเมื่อนายบอริส จอห์นสัน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2019 (พ.ศ. 2562) นายซูนัคในฐานะผู้สนับสนุนนายจอห์นสัน ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2020 (พ.ศ. 2563) ที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด

นายซูนัคต้องบริหารจัดการเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต พร้อมช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด มูลค่ารวม 350,000 ล้านปอนด์ หรือราว 15 ล้านล้านบาท ช่วงล็อกดาวน์ ส่งผลให้คะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้น

พ่ายครั้งแรก-รอบสองสดใส

ต่อมาในปีนี้ นายจอห์นสันเผชิญข้อครหาไม่จัดการกับรัฐมนตรีที่อื้อฉาว นายซูนัคจึงลาออกเพื่อกดดันให้นายจอห์นสันรับผิดชอบ ซึ่งสุดท้ายนายจอห์นสันยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 7 ก.ค.

นายซูนัคลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แข่งกับลิซ ทรัสส์ โดยโจมตีแผนนโยบายตัดลดภาษีของทรัสส์ว่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ตอนนั้นซูนัคพ่ายแพ้ให้นักการเมืองหญิง ทรัสส์รับตำแหน่งวันที่ 6 ก.ย.

เมื่อครั้งโต้วาทีกับลิซ ทรัสส์/REUTERS

กระทั่งเมื่อทรัสส์นำเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตัดลดภาษีครั้งมโหฬารในรอบ 50 ปี ปั่นป่วนทั้งตลาดเงินและการเมือง จนค่าเงินปอนด์อ่อนยวบ แม้ทรัสส์จะรีบถอยสุดซอยแล้วก็ไม่ทันแรงต่อต้าน รวมถึงการเสียผู้สนับสนุนภายในพรรค สุดท้ายทรัสส์ต้องลาออก วันที่ 20 ต.ค.

ครั้งนี้ นายซูนัคลงชิงตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง โดยนายจอห์นสันที่มีข่าวร่ำ ๆ ว่าจะหวนกลับมา นัดพูดคุยกับซูนัค แล้วจึงถอนตัวจากการแข่งขัน เปิดทางให้เส้นทางของนายซูนัคได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว วันที่ 24 ต.ค.

เมื่อนับช่วงเวลาที่เข้าสู่การเมืองเพียง 7 ปีแล้วได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงนับว่าเป็นนักการเมืองที่ใช้เวลาสั้นที่สุดหรือรวดเร็วที่สุด ขณะที่สหราชอาณาจักรเปลี่ยนนายกฯแล้ว 3 คนในเวลา 2 เดือน

เผยจุดอ่อนคือความร่ำรวย

สำหรับจุดอ่อนของนายซูนัค คือภาพของการเป็นนักการเมืองฐานะมั่งคั่ง จนถูกตั้งคำถามว่า มหาเศรษฐีระดับนี้จะเข้าใจถึงปัญหาค่าครองชีพที่ประชาชนเผชิญอยู่มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้การมีภรรยาเป็นทายาทมหาเศรษฐีชั้นนำของอินเดีย ยังเคยทำให้นายซูนัคถูกโจมตีเรื่องปล่อยให้ภรรยาอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย จ่ายภาษีเพียงน้อยนิด จนนายซูนัคต้องออกโรงปกป้องว่าภรรยาไม่เคยละเมิดหรือบ่ายเบี่ยงกฎหมาย

นายซูนัคและนางมูรตี/skynews

ต่อมานางอัคชตา มูรตี ประกาศว่าเริ่มจ่ายภาษีให้แก่สหราชอาณาจักรจากรายได้ที่มาจากต่างประเทศด้วยความสมัครใจ จึงลดแรงกดดันเรื่องนี้ลงได้

นอกจากนี้นายซูนัคเคยถูกตำรวจปรับจากการละเมิดกฎล็อกดาวน์ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน มิ.ย. 2020

ชูนโยบายขึ้นภาษี-คุมเงินเฟ้อ

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจ นายซูนัคเคยกล่าวระหว่างหาเสียงว่า จะลดภาษี เมื่อควบคุมเงินเฟ้อได้แล้ว และจะยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บอยู่ 5% ในค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือนเป็นเวลา 1 ปี สำหรับครัวเรือนทั่วไปหากค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงเกิน 3,000 ปอนด์ หรือเกิน 130,000 บาท

จะปรับขึ้นเงินนำกองทุนส่งประกันสังคม 1.25 เพนนีต่อปอนด์ เพื่อใช้จ่ายในการดูแลสังคมและสาธารณสุข แต่จะปรับขึ้นระดับเงินได้ของผู้ที่ต้องเริ่มจ่ายเงินนำส่งนี้เป็น 12,570 ปอนด์ หรือราว 5.4 แสนบาทต่อปีด้วย

นอกจากนี้ยังประกาศแผนการขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 19% เป็น 25% ในเดือน เม.ย. 2023 และจะรักษาการใช้งบประมาณกลาโหมขั้นต่ำ 2% ของจีดีพีในปัจจุบัน

….