รู้จัก ภรรยารมว.คลังอังกฤษ ลูกสาวมหาเศรษฐีอินเดีย รวยกว่าควีน ถูกครหาภาษี

รวยกว่าควีน

เป็นข่าวฮือฮามาพักใหญ่ อัคชตา มูรตี ภรรยา นายริชี ซูนัค รมว.คลัง รวยล้นฟ้าแซงหน้า รวยกว่าควีน เอลิซาเบธ แต่ถูกตั้งคำถามว่า เสียภาษีน้อยนิด เพราะอาศัยสัญชาติอินเดีย

วันที่ 9 เมษายน 2565 สกายนิวส์ รายงานเปิดประวัติ อัคชตา มูรตี ภรรยา นายริชี ซูนัค รมว.คลังสหราชอาณาจักร ตกเป็นข่าวว่าร่ำรวยล้นฟ้ายิ่งกว่าสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เพราะยังถือสัญชาติอินเดีย จึงไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้ระหว่างประเทศ

รวยกว่าควีน

อัคชตา มูรตี (Akshata Murty) รวยมาก จากการเป็นลูกสาวมหาเศรษฐี นารายณา มูรตี ฉายา “บิล เกตส์ แห่งอินเดีย”  เฉพาะส่วนที่ถือครองหุ้น 0.91% ของบริษัทอินโฟซิส – Infosys อาณาจักรเทคโนโลยีของพ่อ มีทรัพย์สินราว 500 ล้านปอนด์ หรือราว 21,860 ล้านบาท ส่วนสื่อเดอะไทมส์ของอังกฤษ ประเมินว่าถึง 700 ล้านปอนด์ หรือราว 30,000 ล้านบาท

รวยกว่าควีน
นายสุนัค และนางมูรตี / skynews

ปมที่ถูกครหาคือ มูรตีอาศัยอยู่กับสามีที่สำนักงานของรัฐ เลขที่ 11 ดาวนิงสตรีท พร้อมลูกสาว 2 คน แต่ยังถือสัญชาติอินเดีย จึงได้เปรียบด้วยสถานะ non-dom หรือผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในอังกฤษ ไม่ต้องจ่ายภาษีของอังกฤษ ส่วนที่เป็นรายได้ต่างประเทศ

นอกจากนี้ บริษัท อินโฟซิส ของอินเดียยังถูกครหาว่าดำเนินกิจการอยู่ในรัสเซียตามปกติ ไม่ได้เกาะกระแสคว่ำบาตรใดๆ จากการที่รัสเซียบุกยูเครน นายสุนัคถึงถูกโจมตีหนักในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้

ป้องภรรยารักประเทศบ้านเกิด

นายซูนัคกล่าวว่า ภรรยาจ่ายภาษีให้ทุกประเทศที่ทำธุรกิจอยู่ และในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง กิจการการเงินของภรรยาไม่ควรเป็นประเด็นสาธารณะ นอกจากนี้ภรรยายังมีสถานะการเงินดังกล่าวก่อนย้ายมายังอังกฤษ

“มันไม่เป็นเหตุเป็นผล และไม่แฟร์เลยที่จะขอให้เธอตัดขาดจากประเทศของเธอ เพียงเพราะเธอมาแต่งงานกับผม เธอรักประเทศของเธอ เหมือนที่ผมรักประเทศของผม ผมไม่เคยคิดฝันว่าจะเลิกถือสัญชาติอังกฤษ และผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่ทำเช่นนั้น” นายสุนัคกล่าว

รมว.คลังกล่าวอีกว่า ภรรยาไม่ได้สัญชาติอังกฤษ และไม่สามารถถือสองสัญชาติ ขณะที่ยังคงเป็นชาวอินเดีย ดังนั้นภรรยาจึงจ่ายภาษีทั้งสองประเทศ

รวยกว่าควีน
ถ่ายภาพกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์

พ่อยืมเงินแม่ตั้งบริษัทผงาดโลก

อัคชตา มูรตี เกิดปี 2523 เป็นลูกสาวของนารายณา และสุธะ มูรตี อาศัยอยู่ที่รัฐกรณากะ ภาคใต้ของอินเดีย ตอนแรกพ่อแม่พาลูกสาวคนนี้และลูกชายอีกคน ชื่อ โรฮัน ย้ายไปอยู่ด้วยที่นครมุมไบ แต่ต่อมาพากลับมาอยู่ที่กรณาฏกะเหมือนเดิม โดยให้ปู่และย่าเป็นคนดูแล

หนึ่งปีถัดมา ในปี 2524 พ่อของมูรตีซึ่งจบปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้า ยืมเงินจากแม่มาราว 100 ปอนด์ หรือราว 4,300 บาท มาก่อตั้งบริษัทอินโฟซิส หลังจากเคยทำบริษัทไอทีแล้วเจ๊ง

บริษัทใหม่แห่งนี้ สร้างโมเดลเปิดบริการไอทีให้แก่บริษัทต่างๆ ทั่วโลก เป็นกิจการที่เติบโตสร้างความมั่งคั่งให้ครอบครัว จนนายนารายณาติดอันดับกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในอินเดีย

นายนายรายณา มูรตี / AP

นายมูรตีทำหน้าที่เป็นซีอีโอของบริษัทจนถึงปี 2545 จึงก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัท ก่อนค่อยๆ ถอยมาเป็นประธานเกียรติคุณ

ฟอร์บส์ประเมินทรัพย์สินนายมูรตี ว่าสูงถึง 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 148,500 ล้านบาท ส่วนนิตยสารไทม์ เรียกนายมูรตีว่า บิดาแห่งภาคไอทีของอินเดีย

ส่วนมูรตี ลูกสาวเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และวิศวกร เป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำงานให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอินเดีย และยังทำงานให้อินโฟซิส บริษัทของพ่อด้วย ปัจจุบันเป็นสมาชิกของมูลนิธิเกตส์ ที่ทำงานช่วยเหลือสังคม

ครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ

พบรักที่สแตนฟอร์ด

หลังจบการศึกษาแล้ว อัคชตา มูรตี เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และภาษาฝรั่งเศส ที่สถาบันเอกขน แคลร์มอนต์ แมคเคนนา คอลเลจ ที่แคลิฟอร์เนีย

จากนั้นหญิงสาวย้ายไปเรียนการออกแบบและการขายสินค้าที่สถาบันแฟชั่นแห่งการออกแบบ หรือ Fashion Institute of Design ที่นครลอสแองเจลิส

ต่อมาไปทำงานช่วงสั้นๆ ตามบริษัทต่างๆ รวมถึงดีลอยต์ และยูนิลีเวอร์ ก่อนไปเรียนเอ็มบีเอ บริหารธุรกิจ ที่สแตนฟอร์ด

ที่นั่นหญิงสาวพบรักกับนายซูนัค ในปี 2548 จนสี่ปีต่อมา ทั้งสองจึงแต่งงานกัน พิธีวิวาห์จัดติดกันสองวันที่เมืองบังกาลอร์ ของรัฐกรณาฏะกะ แขกที่ร่วมงานเต็มไปด้วยคนดัง รวมถึงนักกีฬาคริกเก็ตชั้นนำของประเทศ

งานวิวาห์อลังกที่บังกาลอร์

เดอะไทมส์ รายงานว่า หลังจากอัคชตา มูรตี อาศัยอยู่ในอังกฤษมา 15 ปี จ่ายภาษีเพียงปีละ 30,000 ปอนด์ หรือราว 1.3 ล้านบาทเพราะงคงสถานะ non-dom

ล่าสุด หลังเกิดข้อครหา มูรตีแถลงว่า ตั้งแต่มาอยู่อังกฤษได้จ่ายภาษีเงินได้ทั้งของอังกฤษ และของระหว่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่นานมานี้ กลับถูกตั้งคำถามเพราะสามีดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลัง ดังนั้นต่อไปนี้ เธอจะจ่ายภาษีอังกฤษตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากกิจการทั่วโลก

“ฉันทำสิ่งนี้เพราะต้องการทำเอง ไม่ใช่เพราะกฎระเบียบบังคับให้ทำ การจัดแจงเรื่องนี้จะเริ่มทันที และจะยื่นเมื่อภาษีรายปีสิ้นสุดลง เพราะดิฉันไม่ต้องการให้เรื่องนี้รบกวนสามีอีก” เศรษฐีนีมูรตีกล่าว