อีลอน มัสก์ โต้ข่าวไล่ออกผู้บริหารทวิตเตอร์ ก่อน 1 พ.ย. เลี่ยงมอบหุ้นลอตใหญ่

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

“อีลอน มัสก์” ปฏิเสธข่าวไล่ผู้บริหารทวิตเตอร์ออกก่อน 1 พ.ย. เลี่ยงการมอบหุ้นลอตใหญ่ 

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 “อีลอน มัสก์” เจ้าของคนใหม่ “ทวิตเตอร์” ปฏิเสธรายงานของ “นิวยอร์ก ไทม์ส” ที่ระบุเกี่ยวกับการเลิกจ้างพนักงานทวิตเตอร์ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน เพื่อหลีกเลี่ยงการมอบหุ้นจูงใจพนักงานที่จะครบกำหนดในวันนั้น

มัสก์ทวีตข้อความตอบโต้เรื่องนี้ว่า “นี่ไม่เป็นความจริง”

นิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมว่า มัสก์ได้สั่งลดพนักงานทั่วทั้งบริษัท โดยบางทีมจะถูกปรับลดพนักงานมากกว่าทีมอื่น ๆ และการเลิกจ้างจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่พนักงานมีกำหนดจะได้รับหุ้นจูงใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทนของพวกเขา

สื่อดังกล่าวรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า การเลิกจ้างจะเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคมเป็นต้นไป

ขณะที่สื่อหลายแห่งรายงานในวันเดียวกันว่า มัสก์ได้ไล่ผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์ออก

แหล่งข่าวเผยกับรอยเตอร์สว่า มัสก์ได้ไล่ผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์ ซึ่งได้แก่ “พารัก อักราวาล” ซีอีโอทวิตเตอร์, “เน็ด เซกาล” ซีเอฟโอ และ “วิจายา แกดเด” หัวหน้าฝ่ายนโยบายทางกฎหมาย ความไว้วางใจ และความปลอดภัย หลังจากที่มัสก์เสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยมูลค่าสูงถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

โดยมัสก์กล่าวหาอดีตผู้บริหารทวิตเตอร์เหล่านี้ว่า หลอกลวงเขาและนักลงทุนเรื่องจำนวนบัญชีปลอมในทวิตเตอร์ ขณะที่ข้อมูลจากบริษัทวิจัย “อิควิลาร์” เปิดเผยว่า อดีตผู้บริหารเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทนจากการเลิกจ้างรวมกันเป็นเงินประมาณ 122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ริช กรีนฟีลด์” นักวิเคราะห์ของไลท์เชด ทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ว่า มัสก์ไล่ผู้บริหารทวิตเตอร์เหล่านี้ออกเพื่อปกป้องหุ้นซึ่งต้องมอบให้อดีตผู้บริหารเหล่านี้ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการควบคุมกิจการ

ทวิตเตอร์ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดต่อเรื่องนี้ และสื่อใหญ่อย่างรอยเตอร์ยังไม่สามารถติดต่อผู้บริหารทวิตเตอร์ที่ถูกไล่ออกได้

“คอร์ทนีย์ ยู” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอิควิลาร์ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ว่า ผู้บริหารที่ถูกไล่ออกควรได้รับเงินชดเชย เว้นแต่ว่ามัสก์จะมีเหตุผลในการเลิกจ้าง ในกรณีเหล่านี้มักจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือละเมิดนโยบายของบริษัท