รัฐบาลเยอรมนีลั่นไม่ไร้เดียงสา เหตุผลสั่งเบรกขายบริษัทผลิตชิปให้จีน

logo of German chip manufacturer Elmos (Photo by Ina FASSBENDER / AFP)

ชิปกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อความมั่นคง จนรัฐบาลออกโรงห้าม บริษัทเยอรมนีขายกิจการให้จีน

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ไชน่าเดลี่ รายงานว่า หุ้นบริษัท ไซ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Sai Microelectronics) ของจีนดิ่งลงหนักถึง 6.9% ลงไปที่ 16.08 หยวน เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 10 พ.ย. หลังรัฐบาลเยอรมนีสั่งห้ามบริษัท เอลมอส ของประเทศขายกิจการให้

ด้าน ซีเอ็นเอ็น รายงานวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่รัฐบาลเยอรมนีระงับการขายโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งผลิตชิปสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กับบริษัทเทคโนโลยีของจีน ว่ามาจากความหวาดระแวงด้านความมั่นคง

นายโรเบิร์ต ฮาเบ็ก รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี แถลงว่า ห้ามบริษัท เอลมอส เซมิคอนดักเตอร์ (Elmos Semiconductor) ที่เมืองดอร์ตมุนด์ ของเยอรนี ขายกิจการให้กับ บริษัท ซีเร็กซ์ (Silex) คู่แข่งสัญชาติสวีเดนที่เป็นบริษัทย่อยของบริษัท ไซ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ของจีน เพราะจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของเยอรมนี

รัฐมนตรี โรเบิร์ด ฮาเบ็ก German Minister of Economics and Climate Protection Robert Habeck . (Photo by John MACDOUGALL / AFP)

ก่อนหน้านี้ บริษัท ซีเร็กซ์ ประกาศว่า ลงนามในข้อตกลงกับเอลมอส เพื่อซื้อกิจการในราคา 85 ล้านยูโร หรือราว 3,130 ล้านบาทในเดือนธันวาคม

ด้านบริษัทเอลมอสแถลงว่า ทั้งสองบริษัทเสียใจกับการตัดสินใจของรัฐบาล พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า การถ่ายโอนเทคโนโลยีไมโครแมคคานิกส์ใหม่จากสวีเดน และการลงทุนที่สำคัญในที่ตั้งดอร์ตมุนด์จะทำให้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์แข็งแกร่งขึ้นในเยอรมนี

กรณีที่ถูกสั่งห้ามขายกิจการนั้น เอลมอสกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่

ข้อตกลงตามแผนดังกล่าวทำให้ทางการเยอรมนีกังวลว่าการลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอาจกระทบต่อทรัพย์สินทางปัญญา และปล่อยให้เผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองจากรัฐบาลจีน

The headquarters of German chip manufacturer Elmos Semiconductor in Dortmund, (Photo by Ina FASSBENDER / AFP)

เยอรมนีไม่ไร้เดียงสา

ความกังวลที่คล้ายคลึงกันนี้กระตุ้นให้รัฐบาลเยอรมนีเข้าแทรกแซงแผนการซื้อกิจการ คือคอสโก (Cosco) บริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ของจีนได้ซื้อหุ้น 35% ในผู้ดำเนินการท่าเทียบเรือฮัมบูร์กเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม

เจ้าหน้าที่จำกัดการลงทุนตามแผนในบริษัท ฮัมบูร์ก ฮาเฟิน อุนด์ โลจิสติก (HHLA) ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและผู้ปฏิบัติการท่าเทียบเรือจากเยอรมนี อนุมัติการเข้าซื้อที่ 24.9%

รัฐมนตรีของรัฐบาลหลายคนรวมถึงฮาร์เบกได้ผลักดันให้ข้อตกลงนี้ถูกปิดกั้นโดยสิ้นเชิง

“เราต้องจับตาดูการเข้าซื้อกิจการของบริษัทอย่างใกล้ชิด เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเมื่อมีความเสี่ยงที่เทคโนโลยีจะไหลไปสู่ผู้ซื้อจากประเทศนอกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในยุโรปจำเป็นต้องปกป้องอำนาจอธิปไตยทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจไว้” รัฐมนตรีเยอรมนีกล่าว และว่า

“เยอรมนีเป็นประเทศที่การลงทุนเปิดกว้าง แต่ก็ไม่ได้ “ไร้เดียงสา”

logo of German chip manufacturer Elmos Semiconductor at the company’s headquarters in Dortmund (Photo by Ina FASSBENDER / AFP)

ความตึงเครียดทางการเมืองที่ลามเข้ามานี้เกิดขณะศรษฐกิจของเยอรมนี กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เกิดจากวิกฤตด้านพลังงานของรัสเซีย ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของเยอรมนีต่างกระตือรือร้นที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เดินทางเข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งถือเป็นการเยือนกรุงปักกิ่งครั้งแรกของผู้นำ G7 ในรอบ 3 ปี

ทริปดังกล่าวยังมีคณะผู้แทนของซีอีโอชั้นนำของอุตสาหกรรม รวมถึงประธานบริหารของ โฟล์กสวาเกน ซีเมนส์ และ BASF บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์

การพบปะในครั้งนี้เพื่อหนุนตลาดส่งออก เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับรัสเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นซัพพลายเออร์ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดยังคงตึงเครียด

The logo of Chinese chip company Sai MicroElectronics. [Photo/IC]

ชิปของจีนกำลังถูกคุกคาม

การเยือนดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่สหรัฐอเมริกาออกมาตรการควบคุมการส่งออกชิปไปยังจีนอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการควบคุมเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ และสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ

ช่วงต้นเดือนตุลาคม รัฐบาลนายโจ ไบเดน ประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ โดยระบุว่า บริษัทที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จะต้องยื่นขอใบอนุญาต หากต้องการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์การประมวลผลขั้นสูง หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้กับจีน

กฎเกณฑ์ดังกล่าวคุกคามความทะเยอทะยานของจีนในการเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี เนื่องจากไม่เพียงแต่ห้ามการส่งออกชิปที่ผลิตขึ้นที่ใดก็ได้ในโลก โดยใช้เทคโนโลยีของสหรัฐ อีกทั้งโรงงานที่ผลิตชิปส่วนใหญ่ก็ต้องใช้เครื่องจักรของสหรัฐ รวมถึงการส่งออกเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตด้วย

……