วิกฤต “น้ำมันดีเซล” กำลังลามทั่วโลก กระทบต้นทุนสินค้าระลอกใหม่

น้ำมันดีเซล
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“น้ำมันดีเซล” มีความสำคัญต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศใหญ่หลวงมาก เนื่องจากเป็นชนิดน้ำมันที่ใช้เป็นพลังงานของเรือขนส่งสินค้า รถบรรทุกขนถ่ายสินค้า และรถไฟ รวมทั้งเป็นพลังงานเพื่อให้ความร้อนแก่บ้านเรือน และธุรกิจต่าง ๆ ในภูมิภาคที่หนาวเย็นของโลกอย่างเช่นในอเมริกาเหนือและยุโรป

ที่สำคัญยังถูกนำมาใช้เป็นพลังงานสำคัญส่วนหนึ่งในการเดินเครื่องจักรสำหรับผลิตน้ำประปา ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับการบริโภคของครัวเรือนและธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลายอีกด้วย

ภาวะขาดแคลนน้ำมันดีเซลที่อาจทำให้ราคาพุ่งพรวด จึงส่งผลกระทบอย่างทั่วถึงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะต่อ “เครือข่ายการขนส่งสินค้า” ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าทุกอย่างแพงขึ้น ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้นตามมา เดือดร้อนกันไปทั่วตั้งแต่คนเดินถนนไปจนถึงในคฤหาสน์มหาเศรษฐี และทุกภาคส่วนของธุรกิจอุตสาหกรรม

ที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แทบทั่วทุกภูมิภาคของโลกจะเผชิญกับอันตรายจากการขาดแคลนน้ำมันดีเซล เนื่องจากภาวะตึงตัวของผลผลิตน้ำมันชนิดนี้ในตลาดเกือบทั่วทั้งโลกที่สามารถ “ส่งผลทำให้ภาวะเงินเฟ้อเลวร้ายลง” และ “ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” ตามมา

“มาร์ก ฟินลีย์” นักวิชาการด้านพลังงานประจำสถาบันเบเกอร์เพื่อศึกษานโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยไรซ์ บอกกับบลูมเบิร์กว่า การขาดแคลนและราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงขึ้น จะทำให้สหรัฐอเมริกาต้องใช้ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ล้านดอลลาร์

ในสหรัฐอเมริกา ปริมาณดีเซลสำรองในคลังลดฮวบลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1982 ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดีเซลในท้องตลาดในเวลานี้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

สำนักงานข้อมูลพลังงาน (อีไอเอ) ของสหรัฐระบุว่า ทั่วประเทศในเวลานี้มีปริมาณดีเซลสำหรับให้ใช้ได้เพียง 25 วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 ในขณะเดียวกัน ปริมาณเก็บสำรองก็อยู่ในระดับต่ำ แถมปริมาณดีเซลที่กลั่นได้ในขณะนี้ เฉลี่ยแล้วสามารถนำมาใช้ได้เพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น เพราะมีความต้องการดีเซลสูงมากในเวลานี้ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา

ผลก็คือราคาน้ำมันดีเซลในตลาดจร ที่อ่าวนิวยอร์กพุ่งขึ้นสูงกว่า 265% เมื่อเทียบกับตอนต้นปี 2021

“จอห์น เคมป์” นักวิเคราะห์อาวุโสของรอยเตอร์ สำทับซ้ำว่า ภาวะขาดแคลนดีเซลเช่นนี้จะยังคงอยู่ต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว จนกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะทรุดตัว

รายงานของนิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า สาเหตุที่เกิดสถานการณ์ขาดแคลนดีเซลขึ้นในเวลานี้ นอกจากจะเกิดจากปัจจัยอย่างสงครามของรัสเซียในยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันโดยรวมพุ่งสูงขึ้นโดยตรงแล้ว อีกส่วนยังเป็นผลสั่งสมของหลายปัจจัย ซึ่งเชื่อมโยงซึ่งกันและกันที่ค่อย ๆ ทับถมขึ้นอย่างช้า ๆ จนกระทบไปทั่วโลก

นักวิเคราะห์บางรายชี้ว่า ต้นตอของการเกิดขาดแคลนดีเซลในสหรัฐอเมริกามาจากการเกิดเพลิงไหม้โรงกลั่นขนาดใหญ่ในฟิลาเดลเฟียในปี 2019 ซึ่งส่งผลให้แหล่งผลิตดีเซลสำคัญสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาต้องปิดทำการ ดึงเอาผลผลิตดีเซลมหาศาลออกไปจากตลาด

บลูมเบิร์กระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่ลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงกลั่นจำเป็นต้องปิดกิจการในส่วนที่ไม่ทำกำไร ขณะที่นักลงทุนก็ไม่ยอมลงทุนใหม่ในกิจการโรงกลั่น ทำให้ตั้งแต่ปี 2020 เรื่อยมา ความสามารถในการกลั่นดีเซลของสหรัฐลดลงมากถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นอกจากสหรัฐอเมริกา ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปก็ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน ปริมาณดีเซลในตลาดก็อยู่ในระดับต่ำ ปริมาณดีเซลสำรองก็ลดลงเรื่อย ๆ และจะยิ่งแย่ลงมากขึ้นไปอีก เมื่อการแซงก์ชั่นน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบรัสเซียของยุโรปจะมีผลบังคับใช้ใน 2-3 เดือนข้างหน้า

ยุโรปมีกำหนดแบนน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือน ธ.ค.นี้ ต่อจากนั้นในเดือน ก.พ. 2023 ก็จะห้ามการนำเข้าดีเซลจากรัสเซีย ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งต่อสถานการณ์ดีเซลในยุโรปและในตลาดโลก

ในตลาดโลกเวลานี้ปริมาณดีเซลก็ตึงตัวอย่างยิ่ง จนประเทศเศรษฐกิจใหม่บางประเทศ อย่างเช่นปากีสถานถูกบีบไม่สามารถซื้อหาน้ำมันดิบเกรดสำหรับอุตสาหกรรมจากตลาดได้ “ดาริโอ สคาฟฟาร์ดี” อดีตซีอีโอของ ซาราส เอสพีเอ โรงกลั่นน้ำมันของอิตาลีที่อยู่กับอุตสาหกรรมน้ำมันมานานกว่า 40 ปี บอกกับบลูมเบิร์กว่า นี่คือวิกฤตดีเซลครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ตนเคยพบ เขาเชื่อว่าหากรัสเซียถูกกันออกจากตลาดโลกอีก ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่โตที่ยากจะแก้ไข

อัมริตา เซน หัวหน้าทีมวิจัยด้านพลังงานของเอเนอร์ยี แอสเปกต์ ระบุว่า ภาวะขาดแคลนดีเซลจะ “สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลก” และทางเดียวที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวในเวลานี้ก็คือ “การเพิ่มศักยภาพการกลั่น”

ซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นในเวลานี้