ชาติ “ยุโรป” เผาเงินสด อุ้มธุรกิจฝ่าวิกฤตพลังงาน

ยุโรป เผาเงินสด

ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในยุโรปหลังจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซียเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้บริโภคให้สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นได้ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่ยังคงคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง

รอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลต่าง ๆ ในทวีปยุโรปได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมราคาก๊าซ ค่าไฟฟ้า รวมถึงการลดภาษี และการให้เงินอุดหนุนแก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมเกือบ 500,000 ล้านยูโรแล้วจนถึงขณะนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจอยู่รอด

โดย 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจรวม 314,000 ล้านยูโร ขณะที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) ก็ใช้งบประมาณราว 178,000 ล้านยูโร ตามการวิเคราะห์ของ “Bruegel” องค์กรคลังสมองด้านเศรษฐกิจในกรุงบรัสเซลส์

นอกจากนี้หลายชาติได้เข้าควบคุมกิจการพลังงานที่ไม่สามารถแบกรับความเสียหายต่อไปได้ อย่างกรณีล่าสุดรัฐบาล “เยอรมนี” ได้ประกาศเข้าถือหุ้น 99% ของ “ยูนิเปอร์” ผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยเม็ดเงินถึง 29,000 ล้านยูโร เพื่อโอนกิจการทั้งหมดของยูนิเปอร์มาเป็นของรัฐ

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ยูนิเปอร์ต้องเผชิญกับตัวเลขขาดทุนถึง 8,500 ล้านยูโร นับจากเกิดสงครามยูเครน และปัจจุบันยังแบกภาระขาดทุนกว่า 100 ล้านยูโร/วัน สาเหตุหลักจากการลดปริมาณจัดส่งก๊าซจากรัสเซีย ที่สร้างแรงกดดันให้ต้นทุนราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ขณะที่บริษัทไม่สามารถส่งต่อต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้ด้วยมาตรการคุมเพดานของรัฐ

“โรเบิร์ต ฮาเบ็ค” รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุว่า “รัฐบาลจะทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้ เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ยังคงมีเสถียรภาพทางการตลาดอยู่เสมอ” ทั้งนี้ ยูนิเปอร์เป็นบริษัทผู้นำเข้าก๊าซจากรัสเซียรายใหญ่ที่สุดในยุโรป

Advertisment

ด้านรัฐบาล “ฝรั่งเศส” เปิดเผยเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กมีแผนเข้าควบคุมบริษัทสาธารณูปโภคยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ “อีดีเอฟ เอ็นเนอร์จี” เต็มรูปแบบ ด้วยเม็ดเงิน 9,700 ล้านยูโร เพื่อดำเนินการตามแผนการของรัฐบาลในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ 6 เครื่อง ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะที่ “ยูเค” ใช้มาตรการกำหนดราคาขายส่งพลังงานให้กับภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อป้องกันการล่มสลายของภาคธุรกิจจากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นก้าวกระโดด โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 6 เดือน นับจากวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

Advertisment

“ควาซี กวาร์เต็ง” รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ระบุว่า “เรากำลังดำเนินการเพื่อหยุดยั้งการล่มสลายของภาคธุรกิจ ปกป้องตลาดงาน และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ”

แต่มาตรการนี้ก็อาจไม่เป็นผลดีต่อบริษัทพลังงานที่ไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้ ซึ่งนับแต่เกิดวิกฤตพลังงานมีบริษัทด้านพลังงานของอังกฤษต้องเผชิญกับความเสียหายและปิดตัวลงไปแล้วกว่า 20 แห่ง

โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ราคาก๊าซในยุโรปสูงแตะระดับ 212 ยูโร/เมกะวัตต์ชั่วโมง แม้ว่าจะลดระดับลงมาจากจุดสูงสุดที่ 343 ยูโร/เมกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2022 แต่ก็ยังพุ่งสูงกว่า 200% เมื่อเทียบกับปี 2021

ขณะที่สถานการณ์สงครามยังคงไม่มีท่าทีจะคลี่คลายโดยง่าย หลังจาก “วลาดีมีร์ ปูติน” ผู้นำรัสเซียประกาศระดมทหารเพิ่มเติมอีก 3 แสนนาย เพื่อยกระดับการโจมตียูเครนอีกครั้ง และตอบโต้มาตรการแซงก์ชั่นของชาติตะวันตก ส่งผลให้ต้องจับตาต่อไปว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะ สร้างแรงกดดันให้ตลาดพลังงานในยุโรปและระดับโลกมากน้อยเพียงใด