โจทย์ท้าทาย “สี จิ้นผิง” ซีโร่โควิด = เศรษฐกิจ “โคม่า” ?

จีน ประท้วง
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือซีโร่โควิด ของรัฐบาลจีน ภายใต้ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน โดยผู้ประท้วงนอกจากกดดันให้เลิกล็อกดาวน์แล้วยังเรียกร้องให้ผู้นำสูงสุดของจีนลาออก ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ท้าทายอำนาจสี จิ้นผิง มากที่สุดนับจากขึ้นเป็นผู้นำประเทศเมื่อปี 2012 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนชี้ว่า การประท้วงที่ลุกลามไปหลายเมืองในจีน เป็นกรณีที่สร้างความสั่นสะเทือนในประเทศเกือบจะเทียบเท่าเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ที่โด่งดังไปทั่วโลก และยากที่จะลบรอยมลทินออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของจีน

การประท้วงครั้งนี้ที่จุดประกายการประท้วงไปเกือบทั่วประเทศ เพราะชาวอุรุมชีเชื่อว่าการที่อาคารที่พักอาศัยดังกล่าวอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์ เป็นเหตุให้คนหนีไฟออกมาไม่ได้ อีกทั้งสิ่งกีดขวางต่าง ๆ บริเวณรอบอาคารที่ถูกล็อกดาวน์เป็นเหตุให้รถดับเพลิงเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุได้ช้า มีเสียงวิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่ได้ล็อกประตูอาคารอีกด้วย ทำให้คนหนีไฟไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธอ้างว่าไม่ได้ล็อก

กรณีอุรุมชีนั้นคนทั้งเมือง 4 ล้านคนถูกกักให้อยู่ในบ้านเป็นเวลานานกว่า 3 เดือนแล้ว เหตุการณ์ที่อุรุมชี อาจสะท้อนความไม่พอใจของชาวจีนที่มีมานานต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เมื่อสบโอกาสชาวจีนทั้งประเทศจึงปลดปล่อยความไม่พอใจนั้นออกมา

นโยบายโควิดเป็นศูนย์ อาจเป็นความผิดพลาดตั้งแต่ต้น เนื่องจากในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้เลยที่จะควบคุมโรคระบาดร้ายแรงนี้ให้เหลือศูนย์ อีกทั้งเชื้อโควิด-19 ได้กลายพันธุ์ตลอดเวลา เกินกว่าที่จะพัฒนาวัคซีนให้ตามทัน แต่การที่ผู้นำจีนยังคงยึดมั่นจะใช้นโยบายเดิม ได้สร้างความเครียดให้ประชาชน เพราะฝืนธรรมชาติเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์ เนื่องจากอดทนมาเกือบ 3 ปีแล้ว

ชาวจีนอาจยอมรับได้ ที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง แต่การเข้ามาก้าวก่ายการใช้ชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐาน (ออกจากบ้านไม่ได้) เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ประเมินอารมณ์ประชาชนต่ำเกินไป

หลังจากการประท้วงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนี้ ดูเหมือนรัฐบาลจีนจะส่งสัญญาณผ่อนคลายการควบคุมประชาชนลง โดยบอกว่าจะทบทวนมาตรการเพื่อให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

“หลี่ต้าวขุย” อาจารย์มหาวิทยาลัยชิงหวา มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน และหนึ่งในสถานที่ที่มีการชุมนุมของนักศึกษาเพื่อประท้วงการล็อกดาวน์ กล่าวว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนมาถึงจุดพลิกผันซึ่งต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพราะประชาชนทุกภาคส่วนเกิดความไม่พอใจอย่างต่อเนื่อง

“นโยบายโควิดเป็นศูนย์ออกแบบมาเพื่อสู้กับไวรัสเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ไวรัสเปลี่ยนไป ในการทำสงครามถ้าศัตรูของคุณเปลี่ยน คุณก็ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ ดังนั้นผมคิดว่าในอนาคตจะค่อย ๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาอารมณ์ไม่พอใจของประชาชน เชื่อว่าปลายเดือนมีนาคมปีหน้า จีนอาจเปิดประเทศ”

หลี่ระบุว่า หากยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ เศรษฐกิจจีนจะกลับมาเติบโตในระดับ “มหัศจรรย์” ที่ 5-6% ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมในการรองรับตลาดแรงงานจีนได้

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ “รอรี กรีน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนของทีเอส ลอมบาร์ด บริษัทที่ปรึกษาเศรษฐกิจมหภาค ชี้ว่า อย่าตั้งความหวังว่าการประท้วงจะทำให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการโควิด กลับกันอาจกระตุ้นให้ สี จิ้นผิง เพิ่มการปราบปรามประชาชนยิ่งขึ้น อย่างที่เห็นมาแล้วในกรณีปราบผู้ประท้วงในฮ่องกงที่เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2019

“ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ไม่มีทางที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้เกิน 1% ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างรางเลือน เราคิดว่าจีนจะอยู่ในภาวะ ‘โคม่า’ เพราะโควิดไปจนกระทั่งไตรมาส 2 ปีหน้า”


การเข้มงวดเรื่องโควิดมาเกือบ 3 ปี ฉุดเศรษฐกิจจีนตกต่ำลงอย่างมาก นักเศรษฐศาสตร์หลายคนประเมินว่าปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 3% ต่างจากหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งโตเฉลี่ย 6-8%