สุนทรพจน์ของ สี จิ้นผิง

สี จิ้นผิง
Xi Jinping (Photo by WILLY KURNIAWAN / POOL / AFP)
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ในห้วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญถึง 3 ครั้ง นั่นก็คือ สุนทรพจน์ในการเปิดประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปลายเดือนตุลาคม สุนทรพจน์การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่บาหลี ในวันที่ 15 พฤศจิกายน และล่าสุดสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจ APEC หรือ APEC CEO Summit ในวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของสุนทรพจน์ทั้ง 3 แห่ง เริ่มจากการมองภาพกว้างทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการเมือง ที่ทางของจีน นโยบาย ภารกิจ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม “อะไร” เกิดขึ้นกับโลก และ “เราควรทำอย่างไร” ในสุนทรพจน์ที่บาหลี ไปจนกระทั่งถึงโลกได้มาถึงทางแยกอีกครั้ง โลกจะไปทางไหน และเอเชีย-แปซิฟิกจะทำอย่างไร ในสุนทรพจน์ APEC CEO ที่กรุงเทพฯ

โดยสุนทรพจน์ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ได้กล่าวถึงบทบาทของจีนในเวทีโลก ด้วยการต่อต้านความคิดสงครามเย็น ต่อต้านการแทรกแซงการเมืองในประเทศอื่น และยึดมั่นในนโยบายที่กว้างขวางในการเปิดเศรษฐกิจของจีนออกสู่โลกภายนอก ที่สำคัญก็คือ จีนยังคงเร่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบ Dual Circulation หรือ ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะต้องเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศเป็นหลัก

แนวคิดเรื่องสงครามเย็น ได้ถูกตอกย้ำขึ้นมาอีกครั้งในสุนทรพจน์ของ “สี” ที่บาหลี โดยกล่าวว่า ความคิดของสงครามเย็นนั้น “ล้าสมัยไปนานแล้ว” เป็นเหมือนการส่งสัญญาณสู่โลกตะวันตก ที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐ ทั้งในบริบททางการเมืองและการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจด้วยการกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูง และจีนยังคงส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจโลกที่ “เปิดกว้าง”

ไม่ว่าจะเป็น โครงการริเริ่มเพื่อการพัฒนาระดับโลกต่าง ๆ การจัดตั้ง กองทุนเพื่อการพัฒนา รวมไปถึง ความร่วมมือใต้-ใต้ (ความร่วมมือในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) ที่จีนได้วางบทบาทในการเป็น “ผู้นำ” ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ทั้งโครงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและ “เงินทุน” ในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา

มีการกล่าวถึงการยึดมั่นในระบบการค้าแบบพหุภาคี โดยมี องค์การการค้าโลก หรือ WTO เป็นแกนหลัก กระนั้นตัว WTO เองก็ต้องมีการ “ปฏิรูป” อย่างแข็งขัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการของ WTO ในการเปิดเสรี และการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนที่ผ่านมานั้น

ยังมีปัญหาและไม่มีความคืบหน้า พร้อมกับการเสนอแผนปฏิบัติการสำหรับความร่วมมือด้านนวัตกรรมดิจิทัล และยังแตะไปถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ

หลังจากจบสุนทรพจน์ที่บาหลี “สี” ได้ตอกย้ำอีกครั้งด้วยสุนทรพจน์ที่กรุงเทพฯ ด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของเอเชีย-แปซิฟิก มีเศรษฐกิจคิดเป็น 60% และมีมูลค่าการค้ามากกว่า “ครึ่งหนึ่ง” ของเศรษฐกิจโลก พร้อมกับยืนยันด้วยว่า สถานการณ์ในเอเชีย-แปซิฟิกนั้น “มีความมั่นคงโดยภาพรวม”

แต่กระนั้นโลกได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการแปรผันของโครงสร้างเศรษฐกิจ โรคระบาด จนเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจ เกิดวิกฤตทางด้านอาหาร-พลังงาน และหนี้สิน

พร้อมกับวกกลับมาพูดถึง เขตเศรษฐกิจ จำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับแนวคิดสงครามเย็น ลัทธิครองความเป็นใหญ่ ไปจนถึง ลัทธิอนุรักษนิยม กำลังฟื้นตัวและกลับเข้ามาบ่อนทำลายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ “สี” ถึงกับใช้คำว่า เอเชีย-แปซิฟิกนั้น “ไม่ใช่สวนดอกไม้ของใคร” ไม่ใช่พื้นที่ถ่วงดุลอำนาจของประเทศใหญ่ที่มุ่งหวังที่จะสร้างสงครามเย็นขึ้นมาใหม่

เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ข้างต้น จึงได้เสนอ “การเปิดกว้างและครอบคลุม” คัดค้านแนวคิดสงครามเย็น-ลัทธิอนุรักษนิยม เปิดการค้าเสรี ทั้ง RCEP-CPTPP-DEPA การเชื่อมโยงหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนริเริ่ม และยังกล่าวถึง การพัฒนาสีเขียว อุตสาหกรรมสีเขียว การเงินสีเขียว และคาร์บอนต่ำ ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิด Bangkok Goals on BCG Economy