
รู้จักสนาม 974 (Stadium 974) สนามแข่งขันฟุตบอลโลก กาตาร์ ที่สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์-โครงเหล็กเก่า และถอดประกอบได้ทุกส่วน
การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่จัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ในครั้งนี้ นอกจากประเด็นหลัก ๆ ที่ทั่วโลกให้ความสนใจในการแข่งขันครั้งนี้ ทั้งการเตรียมความพร้อมของประเทศเจ้าภาพ ความพร้อมและฟอร์มการแข่งขันของแต่ละทีม
หนึ่งในสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือ สนามกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ โดยหนึ่งในสนามที่มีความน่าสนใจคือ สนาม 974 (Stadium 974) ซึ่งเป็นสนามกีฬาในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก ที่ประหยัดพลังงานในการก่อสร้าง และสามารถอดประกอบได้ในทุกส่วน
และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการนำเสนอจากหลาย ๆ สื่อ ว่าสนามแห่งนี้จะถูกรื้อออกหลังจบการแข่งขันรอบ 16 ทีมสุดท้าย และนำไปประกอบใหม่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งต่อไป
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนส่องเรื่องน่าสนใจจากสนามแห่งนี้ไปพร้อมกัน
ตู้คอนเทนเนอร์-โครงเหล็ก วัสดุหลักสร้างสนามกีฬา
สนาม 974 หรือ Stadium 974 เป็นสนามที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ตั้งอยู่ในกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ บนพื้นที่ที่เดิมมีชื่อว่า “ราส อาบู อาบูด (Ras Abu Aboud)” มีความจุราว 44,000 ที่นั่ง เป็นสนามฟุตบอลแห่งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันฟุตบอลโลก ที่สร้างจากวัสดุรีไซเคิล ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ และโครงเหล็ก ซึ่งช่วยทั้งการลดต้นทุน ลดการสร้างขยะ ลดการใช้พลังงานในการก่อสร้าง และสามารถรื้อออก เพื่อนำไปประกอบในสถานที่ใหม่ได้ทุกส่วน
โดยตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นวัสดุหลักของสนามแห่งนี้ หลาย ๆ ตู้มาจากการขนส่งวัสดุก่อสร้างสนามกีฬาฟุตบอลโลก และนำตู้เหล่านั้นมาสร้างเป็นส่วนประกอบภายนอกของสนาม และมีบางส่วนที่สร้างเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บันได ร้านค้าขนาดเล็ก
นอกจากนี้ การใช้ตู้คอนเทนเนอร์สร้างสนามแห่งนี้ ทางการกาตาร์ต้องการสื่อถึงประวัติศาสตร์ด้านการเดินเรือ และมรดกทางอุตสาหกรรมของกาตาร์
ขณะที่ด้านการประหยัดพลังงาน สนามแห่งนี้สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าสนามอื่น ๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน เพราะที่นี่ถูกออกแบบให้มีช่องว่างของตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างโซนที่นั่ง ทำให้สามารถรับลมทะเลใกล้สนามได้ ช่วยลดความร้อนและประหยัดพลังงานมากขึ้น ต่างจากสนามอื่น ๆ ในกาตาร์ ที่ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศหลายตัว เพื่อสู้กับอากาศร้อนในประเทศ แม้จะย้ายมาจัดช่วงปลายปีแล้วก็ตาม และผู้ออกแบบเองยังเล่าว่า การก่อสร้างสนามแห่งนี้ช่วยประหยัดน้ำได้มากถึง 40%


“974” เลขที่มีที่มา
สำหรับเลข 974 ซึ่งเป็นชื่อของสนามแห่งนี้มาจาก 2 ที่มา ที่มาแรกคือ เลข “974” คือรหัสสำหรับการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (+974) อีกหนึ่งที่มา คือจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการสร้างสนามแห่งนี้ ที่มีจำนวนถึง 974 ตู้
อย่างไรก็ดี ไอเดียการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งนี้ มาจากการคิดและออกแบบร่วมกัน 3 บริษัทคือ บริษัทสถาปัตยกรรม Fenwick Iribarren Architects บริษัทด้านวิศวกรรมโครงสร้าง Schlaich Bergemann และบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม Hilson Moran

7 แมตช์เท่านั้นที่ใช้สนามแห่งนี้
สนาม 974 ที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ มีการใช้งานเพียง 7 การแข่งขันเท่านั้นคือ
รอบแบ่งกลุ่ม
- กลุ่ม C เม็กซิโก – โปแลนด์
- กลุ่ม H โปรตุเกส – กานา
- กลุ่ม D ฝรั่งเศส – เดนมาร์ก
- กลุ่ม G บราซิล – สวิตเซอร์แลนด์
- กลุ่ม C โปแลนด์ – อาร์เจนตินา
- กลุ่ม G เซอร์เบีย – สวิตเซอร์แลนด์
รอบ 16 ทีมสุดท้าย
- บราซิล – เกาหลีใต้

และอย่างที่หลาย ๆ สื่อนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วว่า หลังจากจบการแข่งขันรอบ 16 ทีมสุดท้าย คู่ระหว่างบราซิล และเกาหลีใต้ สนามแห่งนี้จะถูกรื้อออกในทันที แต่ด้วยความที่สนามแห่งนี้ใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้เป็นส่วนมาก ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ที่มาจากการขนส่งวัสดุก่อสร้าง และโครงเหล็กรีไซเคิล จึงสามารถนำไปใช้งานต่อในการแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไป หรือนำไปใช้งานในด้านอื่น ๆ แทน เช่น คอมมิวนิตี้มอลล์ (Community Mall)
ทั้งนี้ มีการรายงานเพิ่มเติมแล้วว่า อุรุกวัย เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกับ ชิลี ปารากวัย และอาร์เจนตินา จะนำสนามแห่งนี้ไปสร้างต่อที่นั่น และนำไปใช้ในการแข่งขันในครั้งดังกล่าวต่อไป

สนาม 974 แห่งนี้ ไม่ใช่แค่การเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การแข่งขันฟุตบอลโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ ของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวันที่หลายประเทศทั่วโลก เริ่มเบนเข็มกลับมามองปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ข้อมูลจาก dezeen, designboom, Mirror