ฟุตบอลโลกกับคนไทย

ฟุตบอลโ,ก
Photo by Giuseppe CACACE / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ลุ้นจนโค้งสุดท้ายจริง ๆ ในที่สุดคนไทยได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ผ่านช่องทีวีปกติ เมื่อรัฐบาลร่วมกับภาคเอกชนควักเงินราว ๆ 1,200 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรวม 64 แมตช์ เบื้องต้นเป็นเงินจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 600 ล้านบาท บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 300 ล้านบาท บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 100 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้คนไทยต้องระทึกว่าจะได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางทีวีปกติหรือไม่ เนื่องจากใกล้วันเปิดสนามเข้าไปทุกที แต่ไม่มีวี่แววว่าจะได้ลิขสิทธิ์ เนื่องจากไม่มีเจ้าภาพจริงจัง กระทั่งรัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการ โดยไทยเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่ได้ลิขสิทธิ์

มีหลายเหตุผลที่ทำให้ไทยเพิ่งขยับตัว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่ใส่ใจเท่าที่ควรของภาครัฐ อาจมองว่าธุระไม่ใช่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งที่คนไทยผูกพันกับกีฬาฟุตบอลมายาวนาน เรียกว่าเป็นกีฬาอันดับ 1 ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติไทย หรือทีมสโมสรแถบยุโรป

บวกกับปัญหาเรื่องข้อกำหนดของ กสทช. เกี่ยวกับกฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ ที่กำหนดให้การแข่งขันมหกรรมกีฬาหลัก ๆ อาทิ โอลิมปิก ฟุตบอลโลก เอเชียนเกมส์ ฯลฯ คนไทยต้องได้ดูผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นฟรีทีวี ทีวีผ่านดาวเทียม หรืออื่น ๆ โดยไม่สนว่าใครจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จากกฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ ทำให้ภาคเอกชนลังเลที่จะเป็นโต้โผซื้อลิขสิทธิ์ เพราะมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพผ่านหน่วยงานภาครัฐ หรือขอความร่วมมือกับเอกชน

แต่ฟุตบอลโลก 2022 รัฐบาลชุดปัจจุบันที่ทำงานต่อเนื่องมา 8 ปีแล้ว ยังนิ่งนอนใจ ไม่ต่างจากเมื่อครั้งการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2020 ที่สุดท้ายได้แอโร่ซอฟต์ ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดก่อนนัดเปิดสนามแค่ไม่กี่วัน

ฟุตบอลโลกถือเป็นมหกรรมกีฬาใหญ่แทบไม่ต่างจากโอลิมปิก สร้างแรงบันดาลใจมากมายให้เยาวชน รวมทั้งส่งความสุขให้คนไทยจำนวนไม่น้อยในยามเศรษฐกิจมีปัญหา ทั้งสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้อีกทางหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ที่อยู่ในกระแสฟุตบอลโลกจะได้รับอานิสงส์เรื่องยอดขายไปด้วย

จากปัญหาซื้อลิขสิทธิ์ล่าช้าในยูโร 2020 และฟุตบอลโลก 2022 รัฐบาลชุดนี้หรือชุดต่อไปที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศในการเลือกตั้งปี 2566 ควรแสดงท่าทีให้ชัดเจนในการเป็นเจ้าภาพ หรือมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแต่เนิ่น ๆ หากวางแผนดี ๆ เตรียมตัวล่วงหน้าอย่างเหมาะสม รัฐบาลแทบไม่ต้องควักเงินด้วยซ้ำ อีกทั้งการมอบความสุขให้คนไทยผ่านการดูกีฬา ไม่น่าจะยากเกินไปกระมัง