5 เจ้าลงขันจ่ายลิขสิทธิ์บอลโลก 1,200 ล้านบาท

5 เจ้าลงขันจ่ายลิขสิทธิ์บอลโลก 1,200 ล้านบาท
REUTERS/Kai Pfaffenbach

ปิดดีลทันเวลา คอบอลคนไทยเฮได้ดูบอลโลก 2022 ครบ 64 แมตช์แล้ว หลัง กกท.เจรจาฟีฟ่าลงตัว จบที่ 1,200 ล้านบาท ควักจ่ายเอง 100 ล้านบาท สมทบ กสทช. 600 ล้านบาท และดึงยักษ์เอกชนไทย ช่วยลงขันอีก ไทยเบฟ-ปตท.เจ้าละ 100 ล้านบาท ขณะที่ทรูยอมควัก 300 ล้านบาท แลกการได้ Exclusive บน PayTV-OTT และ IPTV

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กับทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และอินฟรอนต์ บริษัทที่เป็นตัวแทนของฟีฟ่าในการเจรจาลิขสิทธิ์ ได้ข้อสรุปแล้วที่ 33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,200 ล้านบาท (จากก่อนหน้านี้ เจรจาขอให้ลดจาก 38 ล้านเหรียญ เป็น 36 ล้านเหรียญ)

โดยมีเอกชนไทยร่วมสนับสนุนด้วย 3 ราย ได้แก่ ทรู, ปตท. และไทยเบฟ

หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ กสทช. ได้อนุมัติการใช้เงินลงทุนจากกองทุน กทปส. เพื่อสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ มาแล้วจำนวน 600 ล้านบาท ส่วนอีก 600 ล้านบาทที่เหลือมาจากกลุ่มทรู 300 ล้านบาท ไทยเบฟ 100 ล้านบาท ปตท. 100 ล้านบาท และ กกท.จ่ายเองอีก 100 ล้านบาท

แหล่งข่าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยว่า กรณีทรูเป็นเอกชน 1 ใน 3 รายที่ร่วมจ่ายค่าลิขสิทธิ์มากกว่าบริษัทอื่น เนื่องจากต้องการได้ Exclusive บน PayTV OTT และ IPTV เพื่อให้ลูกค้าทรูวิชั่นส์ที่มีกว่า 3 ล้านราย และทรูไอดีกว่า 10 ล้านราย สามารถรับชมบอลโลกได้ด้วย

“ก็ถือว่าเราได้รับโอกาสให้ได้ดูแลคนไทยให้ได้รับชมฟุตบอลโลกกันอย่างทั่วถึง 64 แมตช์ เป็นเวลา 1 เดือน”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบที่แล้ว (ปี 2018) ทรูวิชั่นส์ได้รับสิทธิการถ่ายทอดสด (Official Broadcaster)

ในราคา 1,141 ล้านบาท ไม่รวมการลงทุนด้านอื่น ๆ (สร้างสตูดิโอตามมาตรฐาน, เตรียมคอนเทนต์ก่อน-ระหว่าง-หลังการแข่งขัน เป็นต้น) ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลก็ต้องขอความร่วมมือจากเอกชนเช่นกัน มี 9 ราย ได้แก่ ซีพี, ไทยเบฟ, บีทีเอส, คิง เพาเวอร์, กัลฟ์ และกสิกรไทย ลงขันรายละ 200 ล้านบาท พีทีทีจีซี 100 ล้านบาท และบางจากกับคาราบาวแดงรายละ 50 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,400 ล้านบาท