ประชากร “เอเชีย” ต่างสุดขั้ว สูงวัยญี่ปุ่น-หนุ่มสาวอินเดีย

ญี่ปุ่น

“เอเชีย” กลายเป็นภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 50% ของประชากรโลกที่ทะลุ 8,000 ล้านคนไปเมื่อ พ.ย. 2022 ที่ผ่านมา ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลับต้องเผชิญปัญหาโครงสร้างประชากรที่ซับซ้อนและต่างกันสุดขั้ว ที่สร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ปี 2023 จะเป็นจุดเปลี่ยนเชิงประชากรศาสตร์ครั้งประวัติการณ์ในเอเชีย ด้วยที่คาดว่าประชากร “อินเดีย” จะเพิ่มเป็น 1,430 ล้านคน แซงหน้า “จีน” ที่ปัจจุบันมีประชากร 1,426 ล้านคน ทั้งยังมีแนวโน้มอัตราการเกิดต่ำและประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรอินเดียยังอยู่ที่ 27.9 ปี ซึ่งเป็นคนวัยทำงานจำนวนมหาศาลที่มีศักยภาพในการผลักดันเศรษฐกิจอินเดีย แต่ความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ ยังทำให้อินเดียต้องเผชิญความท้าทาย

รายงาน “Youth in India 2022” ของรัฐบาลอินเดีย ระบุว่า “คนหนุ่มสาวอินเดียยังต้องเผชิญอุปสรรคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การแต่งงานในผู้เยาว์ ตลอดจนบริการด้านสาธารณสุขและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”

ข้อมูลของศูนย์ติดตามเศรษฐกิจอินเดีย ระบุว่า ปัจจุบันอินเดียยังคงมีอัตราว่างงานถึง 8% ซึ่งหากยังไม่มีการเร่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็อาจทำให้อินเดียมีตำแหน่งงานไม่เพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของประชากรรุ่นใหม่

และอีกหลายประเทศในเอเชียก็มีแนวโน้มจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและอายุเฉลี่ยต่ำ เช่น “ปากีสถาน” มีประชากรราว 236 ล้านคน และอายุเฉลี่ยที่ 20.4 ปี “ฟิลิปปินส์” มีประชากร 116 ล้านคน และอายุเฉลี่ยที่ 24.7 ปี โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรยังสร้างความเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนอาหารและพลังงาน รวมถึงปัญหาความยากจนที่อาจขยายตัว

ในทางกลับกันประเทศอย่าง “ญี่ปุ่น” ต้องเผชิญอัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่อง โดยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 800,000 คนเป็นครั้งแรกในปี 2022 แม้ว่าปัจจุบันญี่ปุ่นจะมีประชากรอยู่ที่ 124 ล้านคน แต่อายุเฉลี่ยสูงถึง 48.7 ปี ผลจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัย โดยเฉพาะในชนบทที่มีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งปัญหาบ้านร้างที่คาดว่าจะมากถึง 10 ล้านหลังภายในปี 2023 นี้

ล่าสุดเกียวโดรายงานว่ารัฐบาลเตรียมออกมาตรการอุดหนุนการย้ายถิ่นฐานของประชากรแบบสมัครใจจากกรุงโตเกียวไปยังเขตชนบท โดยจะมอบเงินให้สูงสุดถึง 1 ล้านเยน/เด็ก 1 คน เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของภาคธุรกิจและเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่ชนบท

และยังมีอีกหลายชาติก็มีแนวโน้มประสบปัญหาสังคมสูงวัย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ไทย จีน และสิงคโปร์ ยูเอ็นชี้ว่า การเพิ่มจำนวนของประชากรทั่วโลกเป็นภาพสะท้อนของความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขที่ช่วยเพิ่มอายุขัยให้กับมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันประเทศต่าง ๆ กลับมีทิศทางโครงสร้างประชากรที่เพิ่มขึ้น
หรือลดลง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี “โชทาโร คูมากาอิ” นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยญี่ปุ่น ระบุว่า ความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศ สามารถร่วมกันจัดการปัญหาโครงสร้างประชากรที่แตกต่าง อย่างเช่น ความต้องการอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นในประเทศที่มีประชากรเพิ่มขึ้น หรือการออกแบบระบบประกันสังคมร่วมกันระหว่างรัฐบาลในประเทศสังคมผู้สูงวัย


ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเรียนรู้แนวทางจากประเทศที่ประสบปัญหามาก่อน และเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรที่ซับซ้อนและแตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม