ส่งออก “ไอโฟน” จากอินเดียเพิ่มขึ้น สัญญาณแอปเปิล “ถอยห่าง” จีน

ส่งออกไอโฟน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ที่ผ่านมาความตึงเครียดทางการค้า การเมือง ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน เป็นปัจจัยใหญ่ที่ผลักดันให้บริษัทอเมริกันและบริษัทของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐ ต้องหาทางค่อย ๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนหรือลดสัดส่วนลง เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้สร้างความไม่แน่นอนให้กับการทำธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ

ถึงแม้จีนจะยอมยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบกะทันหันเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ภายหลังจากประชาชนลุกฮือประท้วงต่อต้านการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ก็ดูเหมือนไม่ได้สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนเท่าใดนัก

หนึ่งในประเทศที่เป็นจุดหมายใหม่ของนักลงทุนก็คืออินเดีย ซึ่งมีขนาดประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน เพราะ “เศรษฐกิจอินเดีย” เริ่มมีความแวววาว อีกทั้งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะสร้างความอุ่นใจ และเอาแน่เอานอนเรื่องนโยบายได้มากกว่าจีนซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์

แอปเปิล อิงก์ บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เคลื่อนไหวอย่างชัดเจนในการ “หันเห” ออกจากจีนและมุ่งสู่อินเดียมากขึ้น ตามรายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า จากข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน-ธันวาคมปีที่แล้ว พบว่าแอปเปิลส่งออกโทรศัพท์ไอโฟนจากอินเดียเป็นมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นการส่งออกโดย 2 ผู้ผลิตรายใหญ่ให้กับแอปเปิล นั่นคือ “ฟอกซ์คอนน์ เทคโนโลยี” และ “วิสตรอน คอร์ป” ซึ่งเป็นบริษัทไต้หวันทั้งคู่ โดยทั้งสองมีโรงงานผลิตอยู่ในรัฐทมิฬนาดู ทางใต้ของอินเดีย

การส่งออกโทรศัพท์ไอโฟนจากอินเดียที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแอปเปิลเริ่มออกห่างจากจีน โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ของพนักงานโรงงานฟอกซ์คอนน์ เมืองเจิ้งโจวของจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สาเหตุการประท้วงเกิดจากความไม่พอใจเรื่องค่าจ้างและความเข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกันโควิด เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลจีนยังใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทั้งนี้ โรงงานในเมืองเจิ้งโจว ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองไอโฟน” เนื่องจากเป็นสถานที่ผลิต
ไอโฟนระดับไฮเอนด์ ผลิตรุ่น 14 โปร และโปรแมกซ์

แอปเปิลเริ่มผลิตไอโฟนในอินเดียเมื่อปี 2017 เริ่มจากรุ่นราคาถูกที่สุดคือไอโฟนเอสอี พอถึงปี 2020 ได้เริ่มผลิตไอโฟนสำหรับป้อนตลาดอินเดีย หลังจากรัฐบาลอินเดียออกโครงการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติลงทุนด้านการผลิตในอินเดีย (PLI)

ว่ากันว่าเฉพาะฟอกซ์คอนน์ได้ประโยชน์จากมาตรการจูงใจนี้ 44 ล้านดอลลาร์ในปีแรกที่ร่วมโครงการ PLI ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าโครงการนี้จะช่วยให้อินเดียผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกโทรศัพท์มือถือ ขณะเดียวกัน อินเดียยังคาดหวังจะเป็นแหล่งผลิตคอมพิวเตอร์แมคบุ๊กและไอแพดอีกด้วย

ความเคลื่อนไหวของแอปเปิล ยังเกิดขึ้นในห้วงที่แรงงานในจีนเริ่มจะลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร ซึ่งประชากรวัยทำงานเริ่มน้อยลง ในขณะที่ค่าจ้างของแรงงานทักษะสูงในอินเดียถูกกว่าจีนและสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การย้ายออกจากจีนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจุบันโทรศัพท์ไอโฟน 98% ยังผลิตในจีน ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 8 ปี ในการโยกการผลิตสัก 10% ออกจากจีน

ด้าน “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้กล่าวอ้างมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกที่ว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในเศรษฐกิจโลก และอยู่ในฐานะที่ดีกว่าประเทศอื่นในการรับมืออุปสรรคด้านเศรษฐกิจ โดยนายโมดีระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอินเดียมีพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคแข็งแกร่ง มีประชาธิปไตยเข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ และมีประชากรหนุ่มสาวมาก

“อินเดียอยู่บนเส้นทางการปฏิรูป การเปลี่ยนโฉม และการสร้างผลงานตั้งแต่ปี 2014 เรากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดการลงทุน ภายใน 8 ปีเราสามารถเพิ่มความเร็วการก่อสร้างทางหลวงแห่งชาติเท่าตัว เช่นเดียวกับการเปิดให้บริการสนามบิน” นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าว

ตามการประเมินของ “มอร์แกน สแตนลีย์” อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า พร้อมกับระบุว่า นี่ไม่ใช่เป็นเพียงทศวรรษของอินเดีย แต่จะเป็นศตวรรษแห่งอินเดียด้วย ขณะที่องค์การความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ประเมินว่า ในปีนี้อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มจี 20 หรือกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด