สรุปประเด็น ตัวแทนรัฐบาลไทยไปคุยเรื่องอะไรในประชุม “ดาวอส 2023”

รัฐบาลไทยในประชุมดาวอส 2023

สรุปประเด็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัวแทนรัฐบาลไทยไปคุยเรื่องอะไรบ้างในการประชุม World Economic Forum หรือ ดาวอส 2023 

การประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2023 หรือ ดาวอส 2023 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2566 ซึ่งจัดขึ้นในธีม “Cooperation in a Fragmented World” หรือ “ความร่วมมือในโลกที่แตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ” รัฐบาลไทยส่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปประเด็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปคุยอะไรบ้างในเวทีระดับโลก

 

อนุทินหารือบทบาททางเศรษฐกิจของอาเซียน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล เข้าร่วมประชุมหัวข้อ “The Pulling Power of ASEAN” ซึ่งหารือเกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่รุนแรง และบทบาทการมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งของโลก ตลอดจนความร่วมมือในภูมิภาค 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้กล่าวถึงศักยภาพของอาเซียนว่า “เราต้องทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเห็นตรงกันว่า เราจะไม่มีพลังถ้าไม่ร่วมมือกัน หากมองในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศที่รวมตัวกันเป็นอาเซียน เราเป็นเพียงภูมิภาคเดียวที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออก ไม่มีใครสามารถทะลุมายังซีกโลกตะวันออกได้โดยไม่ผ่านภูมิภาคอาเซียน”

นอกจากนั้นนายอนุทินได้ยกนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ขึ้นมาพูดถึงบนเวทีว่าน่าจะนำนโยบายนี้มาปรับใช้อีกครั้ง อาเซียนจะแข็งแกร่งมากขึ้นถ้าเปลี่ยนการแข่งขันเป็นการร่วมมือกัน 

 

อนุทินอวดระบบสาธารณสุขไทย

ส่วนการเข้าร่วมประชุมในหัวข้อ “Health Systems Transformation” ซึ่งหารือกันถึงความร่วมมือระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับระบบดูแลสุขภาพที่มีความยั่งยืน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้แชร์ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เป็นพื้นฐานที่สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุขไทยในการรับมือโรคระบาดโควิด-19 

นายอนุทินนำเสนอนโยบาย “3 หมอ” ของไทย ซึ่งหมายถึง คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน หมอประจำบ้าน (อสม.) หมอสาธารณสุข (บุคลากรในสถานพยาบาลปฐมภูมิ) และหมอครอบครัว (หมอในโรงพยาบาล) และได้กล่าวชื่นชมการทำงานของ อสม. ที่เรียกว่าเป็น “หมอคนแรก” 

นอกจากนั้น นายอนุทินได้กล่าวถึงการใช้ระบบบิ๊กดาต้าด้านสุขภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาล และยังได้กล่าวถึงสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกในการชี้นำและขับเคลื่อนวาระสำคัญด้านสุขภาพของประเทศ

 

อาคม รมว.คลัง หารือเรื่องการขยายตัวทางการคลัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย เข้าร่วมเสวนาในฐานะผู้เสวนาหลัก 

ในหัวข้อการขยายตัวทางการคลัง “Fiscal Expansion: A welcome Return or Ticking Bomb?” ซึ่งผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองในการสร้างสมดุลระหว่างการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยในการเสวนาว่า รัฐบาลไทยได้กู้ยืมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งการรักษาเสถียรภาพในนโยบายการเงินทำให้นโยบายการคลังสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังได้กลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง กล่าวคือ มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และมุ่งเน้นการชำระหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจากการกู้ยืมดังกล่าว ส่วนการใช้มาตรการด้านการคลังยังคงเป็นไปเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเน้นการรักษาดุลการคลังให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ของจีดีพี โดยการพัฒนาการจัดเก็บรายได้และปฏิรูปภาษีไปพร้อมกัน 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง เช่น การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อร่วมกัน โดยยังคงต้องรักษาเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น ทั้งนี้ ในการกำหนดนโยบายการคลัง ควรพิจารณารักษาวินัยทางการคลัง โดยเป็นไปตามกฎหมายด้านการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด 

 

รัฐมนตรีคลังหารือบทบาทการคลังกับสิ่งแวดล้อม

ส่วนในการเสวนาหัวข้อบทบาทของผู้นำอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม “ASEAN Leaders for Just Energy Transitions” เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของอาเซียน เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนหรือผู้ประกอบการที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานแบบดั้งเดิมอยู่ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวเน้นย้ำการให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) รวมถึงได้ปรับปรุงเป้าหมายการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally determined contributions: NDCs) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model) 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว เช่น การระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bond) หรือตราสารหนี้ข้ามพรมแดน และการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานด้วย 


………………