ประเด็นฮอต Davos 2023 ประชุมเศรษฐกิจโลกกับธีม “ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก”

ดาวอส 2023
REUTERS/ Arnd Wiegmann

ชวนย้อนทำความรู้จักการประชุม World Economic Forum หรือการประชุมดาวอส (Davos) และดูว่าปีนี้มีหัวข้ออะไรที่สำคัญ มีเหตุการณ์-ประเด็นฮอตอะไรเกิดขึ้นบ้าง

การประชุม World Economic Forum 2023 หรือการประชุมดาวอส (Davos 2023) เริ่มขึ้นแล้วในวันที่ 16 มกราคม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ หิมะขาวโพลน 

การประชุมดาวอสปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2023 ในธีม “Cooperation in a Fragmented World” หรือ “ความร่วมมือในโลกที่แตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุด และส่งเสริมให้ผู้นำระดับโลกทำงานร่วมกันในด้านต่าง ๆ ทั้งพลังงาน ภูมิอากาศ ธรรมชาติ การลงทุน การค้า โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมต่าง ๆ งาน ทักษะ การขยับสถานะทางสังคม สุขภาพ และความร่วมมือทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกที่แตกแยกเป็นหลายขั้ว 

ในโอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนทำความรู้จักการประชุม World Economic Forum หรือประชุมดาวอส ให้มากขึ้น และชวนมาดูกันว่า ปีนี้มีหัวข้อการประชุมอะไรที่สำคัญ มีเหตุการณ์-ประเด็นฮอตอะไรเกิดขึ้นบ้าง

World Economic Forum คืออะไร

World Economic Forum (WEF) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1971 (พ.ศ. 2514) โดย ศาสตราจารย์เคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) นักเศรษฐศาสตร์ย์ชื่อดังชาวสวิส-เยอรมัน มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับโลกด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หรือกล่าวได้ว่า เป็นการนำภาครัฐและเอกชนมารวมตัวกันเพื่อระดมความคิดในการแก้ปัญหาระดับโลก

นับตั้งแต่ก่อตั้ง WEF มีการจัดการประชุมทุกปี โดยมีอีกชื่อเรียกว่า การประชุมดาวอส (Davos) ตามชื่อเมืองดาวอส ในรัฐเกราบึนเดิน (Graubünden) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่จัดการประชุม แต่ละปีมีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,000-3,000 คน ทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 

สำหรับปีนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 53 มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 2,700 คน จาก 130 ประเทศ  

ผู้นำประเทศใหญ่ไม่เข้าร่วม แต่ภาคธุรกิจเข้าร่วมเพียบ

ปีนี้เป็นอีกปีที่การประชุมดาวอสถูกเมินจากผู้นำประเทศใหญ่ ๆ มีผู้นำประเทศกลุ่ม G-7 ตอบรับเข้าร่วมการประชุมเพียงประเทศเดียว คือ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) ของเยอรมนี ส่วนประเทศอื่น ๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วม 

แม้จะไม่ใช่ปีแรกที่ผู้นำประเทศใหญ่ ๆ ของโลกไม่เข้าร่วมประชุม แต่ปีนี้อาจจะสร้างความเสียหน้าให้ WEF มากกว่าปีก่อน ๆ เพราะธีมการประชุมในปีนี้ คือ “ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก” แต่กลับมีผู้นำจากประเทศที่มีอิทธิพลในเวทีโลกเข้าร่วมประชุมน้อย นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าผู้นำประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นมีเวทีอื่นให้ได้พบเจอและหารือกันอยู่แล้ว 

ส่วนภาคธุรกิจ ปีนี้ จะมีซีอีโอจากอย่างน้อย 634 บริษัทเข้าร่วมประชุม ยกตัวอย่างบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Shell, Amazon, Citigroup, Moderna และ BlackRock นอกจากนั้นยังมีบริษัทที่แม้ซีอีโอไม่ได้เข้าร่วมเอง แต่ส่งตัวแทนเข้าร่วมหลายคน เช่น Google, Emirates, Unilever และ McKinsey & Company เป็นต้น 

สำหรับประเทศไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมประชุม

โดยนายอนุทินจะเข้าร่วมประชุมในหัวข้อ “Health Systems Transformation” ซึ่งที่ประชุมจะหารือกันถึงความร่วมมือระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับระบบดูแลสุขภาพที่มีความยั่งยืน และหัวข้อ “The Pulling Power of ASEAN” เกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่รุนแรง และบทบาทการมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งของโลก ตลอดจนความร่วมมือในภูมิภาค

ส่วนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เข้าร่วมหารือในหัวข้อการขยายตัวทางการคลัง “Fiscal Expansion: A welcome Return or Ticking Bomb?”  และหัวข้อบทบาทของผู้นำอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม “ASEAN Leaders for Just Energy Transitions”

เศรษฐีรัสเซียโดนเขี่ยออกจากงาน

ในหลายปีที่ผ่านมา การประชุมที่ดาวอส จะมีมหาเศรษฐีชาวรัสเซียเข้าร่วมงานจำนวนมาก แต่ปีนี้มหาเศรษฐีชาวรัสเซียถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมงาน ท่ามกลางจำนวนมหาเศรษฐีทั้งหมดที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 116 คน เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากไม่มีมหาเศรษฐีรัสเซียแล้ว มหาเศรษฐีจีนก็ไม่เข้าร่วมงาน เนื่องจากมีเรื่องภายในประเทศที่ต้องจัดการ 

ส่วนประเทศที่มีมหาเศรษฐีเข้าร่วมงานมากที่สุดยังคงเป็นสหรัฐอเมริกาที่ปีนี้เข้าร่วม 33 คน ขณะที่ยุโรปมี 18 คน อินเดีย 13 คน และที่เพิ่มเข้ามาช่วยทดแทนจำนวนมหาเศรษฐีรัสเซีย ก็คือมหาเศรษฐีจากประเทศกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับที่มั่งคั่งจากน้ำมัน 

ดาวอส 2023
REUTERS/ Arnd Wiegmann

หัวข้อการประชุมที่สำคัญ

การประชุม WEF ตลอดทั้งสัปดาห์มีหัวข้อการประชุมย่อยมากกว่า 200 หัวข้อ มาดูกันว่าเรื่องสำคัญมีอะไรบ้าง 

พลังงานแห่งอนาคต (new energy) 

เนื่องจากภาคพลังงานเกิดภาวะ shock หลายครั้งในปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องปกป้องธุรกิจและประชาชนจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และพยายามสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศของตนเอง ดังนั้น การประชุมหัวข้อ “Mastering New Energy Economics” ที่ดาวอสในวันที่ 17 มกราคมนี้ จึงเป็นหัวข้อสำคัญ ซึ่งจะมีการหารือกันว่าผู้นำโลกจะกำหนดกกลยุทธ์ด้านพลังงานอย่างไรบ้าง เพื่อให้สินค้าพลังงานมีความยืดหยุ่น มั่นคง และราคาเข้าถึงได้ 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ในวันที่ 17 มกราคม มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนเยาวชนจากทั่วโลกเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้นำควรทำเพื่อส่งเสริมความยุติธรรม ตลอดจนสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มากที่สุด  

ในวันที่ 17 มกราคมอีกเช่นกัน มีการประชุมเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ความท้าทาย นโยบายเพิ่มเติมทางการเงินที่จำเป็นในการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ 

และ ในวันที่ 18 มกราคม มีการประชุมเกี่ยวกับขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมในด้านสภาพอากาศ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการร่วมกันในระดับโลก 

การรับมือปัญหาทางเศรษฐกิจ 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อตั้งแต่ปีที่แล้ว และเผชิญผลกระทบจากการดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงอยู่ เป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ 

ใน WEF วันที่ 17 มกราคม มีการประชุมหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการที่ผู้นำจะสามารถทำได้ เพื่อไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นรุนแรง ถ้าจะเกิดก็ให้เกิดอย่างเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

โลกการทำงาน 

วันที่ 18 มกราคม มีหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับอนาคตของการทำงานที่จะต้องปรับเปลี่ยนเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้การทำงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประชากรศาสตร์ และการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า 

วันที่ 19 มกราคม มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนบางประการในโลกการทำงานในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่  

ภาคการท่องเที่ยว

สำหรับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในวันที่ 19 มกราคม มีหัวข้อการประชุมหารือเกี่ยวกับว่า ผู้นำจะสามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรและแนวปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้มั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีความยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น 

สุขภาพ 

วันที่ 19 มกราคม มีการประชุมหารือเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในด้านสุขภาพ รวมถึงความไม่เท่าเทียมในด้านความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพทั่วโลก Global Health Equity Network ของ World Economic Forum และพันธมิตรกำลังเปิดตัว Zero Health Gaps Pledge ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญาด้านสุขภาพที่ระบุถึงความต้องการและความมุ่งมั่นของภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะดำเนินการร่วมกันเพื่อให้โลกมีความเสมอภาคด้านสุขภาพ 

การเงิน-การธนาคาร

วันที่ 18 มกราคม มีหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมการค้าผ่านดิจิทัล ซึ่งจะต้องหารือเพื่อเร่งให้เกิดเทคโนโลยีมารองรับการค้าในทุกขั้นของห่วงโซ่อุปทานให้สามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเชื่อถือได้ 

วันที่ 18 มกราคม มีการประชุมหารือเกี่ยวกับระบบธนาคารพาณิชย์ ความพร้อม-สภาพคล่องในการรับมือความเสี่ยง การทดสอบว่าระบบของธนาคารพาณิชย์พร้อมสำหรับการใช้เงินทุนและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่   

ความมั่นคงและสันติภาพ

วันที่ 18 มกราคม มีหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับการฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงทั่วโลกที่เปราะบางอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ในยูเครน 

World Economic Forum 2023
REUTERS/ Arnd Wiegmann

การประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่จะเห็นคู่ขนานกันเมื่อมีการประชุมใหญ่ ๆ ก็คือ มีการประท้วงโดยนักเคลื่อนไหวและภาคประชาชน 

สำหรับการประชุม WEF ปีนี้ นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ เปิดฉากประท้วงไปแล้วตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม โดยเป็นการประท้วงต่อต้านบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่เข้าร่วม WEF ปีนี้ ประกอบด้วย BP ของอังกฤษ Chevron จากสหรัฐ และ Saudi Aramco จากซาอุดีอาระเบีย 

นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า บริษัทน้ำมันเหล่านี้กำลังแย่งชิงพื้นที่ในการอภิปรายเรื่องสภาพอากาศ และจะผลักดันนโยบาย-แนวปฏิบัติที่บริษัทของพวกเขาจะได้ประโยชน์ 

“เรากำลังเรียกร้องให้มีการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง”

“พวกเขาจะอยู่ในห้องประชุมเดียวกันกับผู้นำประเทศ และพวกเขาจะผลักดันผลประโยชน์ของพวกเขาเอง” นิโคลัส ซีกริสต์ (Nicolas Siegrist) ผู้นำการประท้วงวัย 26 ปี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค Young Socialists ในสวิตเซอร์แลนด์กล่าว

World Eonomic Forum 2023
REUTERS/ Arnd Wiegmann

Oxfam เรียกร้องลดความมั่งคั่งบรรดา top 1%

16 มกราคม 2566 วันเดียวกันกับที่การประชุมที่ดาวอสเริ่มขึ้น Oxfam องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรได้เผยแพร่รายงาน “Survival of the Richest” ที่มีใจความสำคัญเป็นการเรียกร้องให้บรรดาผู้มั่งคั่งจ่ายภาษีมากขึ้น และตัวแทนของ Oxfam เดินทางไปชุมนุมที่เมืองดาวอสเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เก็บภาษีจากผู้มั่งคั่ง 1% ของประเทศในอัตรา 60% ของรายได้ และเพิ่มอัตราภาษีสำหรับเศรษฐีระดับรอง ๆ ลงไปด้วย 

รายงานของ Oxfam ระบุว่า เหล่าคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ครอบครองความมั่งคั่งเกือบ 2 ใน 3 (63%) ของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงปี 2020-2021 หมายความว่าบุคคลที่รวยที่สุดในโลกได้ดูดซับความมั่งคั่งทั่วโลกในสัดส่วนมากขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาดและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คนยากจนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี และโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายด้านจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาระค่าครองชีพ ความอดอยากที่แพร่หลาย และการพัฒนามนุษย์ที่ลดลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“ในเบื้องต้น โลกควรตั้งเป้าหมายที่จะลดความมั่งคั่งและจำนวนมหาเศรษฐีลงครึ่งหนึ่ง ในช่วงเวลานับจากปัจจุบันนี้ไปจนถึงปี 2030 ทั้งโดยการเพิ่มภาษีสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงสุด 1% แรก และใช้นโยบายในการปราบมหาเศรษฐีอื่น ๆ อีก” ซึ่ง Oxfam บอกว่า วิธีการนี้จะทำให้ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีกลับไปสู่จุดที่พวกเขามีเมื่อสิบปีก่อน หรือปี 2012  

อ้างอิง : 

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง