IMF เตือนความแตกแยกจะทำเศรษฐกิจเสียหาย เอเชีย-ประเทศยากจนรับผลกระทบหนัก

IMF เตือนเศรษฐกิจโลก
REUTERS/ Michele Tantussi/ File Photo

IMF ออกรายงานฉบับใหม่ เตือนความแตกแยกจะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย อาจหนักสุดถึง 7% ของจีดีพี ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียและเหล่าประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบหนัก 

วันที่ 16 มกราคม 2566 ตามเวลาสหรัฐเมริกา คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เผยแพร่ข้อมูล จากรายงานฉบับใหม่ “Geo-Economic Fragmentation and the Future of Multilateralism” ของ IMF ซึ่งเตือนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดจากความแตกแยกกระจัดกระจายทางเศรษฐกิจ และการแบ่งแยกเป็นหลายขั้วอำนาจ 

รายงานฉบับใหม่ของ IMF คาดการณ์ว่า การที่เศรษฐกิจโลกแตกแยกกระจายตัวออกเป็นส่วน ๆ (geonomic fragmentation) จะสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจทั่วโลก หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศต่าง ๆ หายไประหว่าง 0.2% ถึง 7% ของจีดีพี โดยความสูญเสียของประเทศต่าง ๆ จะต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยของประเทศนั้น ๆ ว่าก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของประเทศนั้นมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากหรือน้อยเพียงใด 

และหากบวกผลกระทบจากความแตกแยกกระจายตัวทางเทคโนโลยีเข้าไปด้วย บางประเทศอาจสูญเสียมากถึง 12% ของจีดีพี  

นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ของ IMF ผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบน่าจะมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้น ๆ ได้รับผลกระทบจากการแตกแยกกระจัดกระจายกี่ช่องทาง ซึ่งนอกเหนือจากข้อจำกัดทางการค้า และอุปสรรคในการเผยแพร่เทคโนโลยีแล้ว การแตกแยกกระจัดกระจายอาจจะเห็นได้จากการจำกัดการข้ามพรมแดน-จำกัดการอพยพ การไหลเวียนของเงินทุนที่ลดลง และความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างรวดเร็ว 

กรรมการผู้จัดการ IMF แสดงความกังวลว่า โลกที่แตกแยกกระจายออกเป็นเสี่ยง ๆ จะทำให้การช่วยเหลือประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาทำได้ยากยิ่งขึ้น 

เธอชี้ให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมา การบูรณาการทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ หรือการทำงานร่วมกันในทางเศรษฐกิจ (เช่น การที่โปรดักต์หนึ่งตัวสร้างมาจากส่วนประกอบที่ผลิตในหลายประเทศ) ได้ช่วยให้ผู้คนหลายพันล้านคนมีฐานะดีขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และมีการศึกษาที่ดีขึ้น โดยนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ขนาดเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า และผู้คนเกือบ 1,500 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ดังนั้น ประชาคมโลกควรร่วมกันรักษาผลประโยชน์นี้ไว้ 

กรรมการผู้จัดการ IMF บอกอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแตกแยกกระจายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุด ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยในประเทศพัฒนาแล้วจะไม่สามารถเข้าถึงสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกได้ ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเปิด และประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียจะประสบปัญหา เนื่องจากมีการพึ่งพาการค้าแบบเปิดอย่างมาก 

ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะไม่ได้รับประโยชน์จากการรั่วไหลของเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มการเติบโตของ productivity และเพิ่มมาตรฐานการครองชีพอีกต่อไป แทนที่จะมีโอกาสเพิ่มระดับรายได้ไปสู่ประเทศรายได้สูง บรรดาประเทศกำลังพัฒนาจะล้าหลังต่อไป

นอกจากนั้น กรรมการผู้จัดการ IMF มีคำแนะนำว่า การเผชิญหน้าช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ ควรมุ่งเน้นไปที่เรื่องที่สำคัญที่สุด 3 เรื่อง คือ เรื่องการค้า ต้องเสริมสร้างระบบการค้าระหว่างประเทศ เรื่องหนี้ ต้องช่วยประเทศที่เปราะบางแก้ปัญหาหนี้ และเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ต้องยกระดับการเงินด้านสภาพอากาศเพื่อช่วยให้ประเทศที่เปราะบางสามารถปรับตัวได้ และรัฐต้องการใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ 

………………..