“ข้อตกลงใหม่” หลังเบร็กซิต ชุบชีวิตอังกฤษ-ซ่อมสัมพันธ์อียู

เบร็กซิต
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้สร้างความโกลาหลและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland) หรือที่อนุโลมให้เรียกว่าประเทศอังกฤษตามที่คนไทยคุ้นเคย ยังไม่นับรวมเรื่องที่เกิดรอยร้าวในสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู เพราะอียูมองว่าการกระทำของสหราชอาณาจักรทำลายความเป็นหนึ่งเดียวกันของยุโรปที่ใช้เวลานานกว่าจะรวมตัวกันสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การบรรลุข้อตกลงใหม่หลังเบร็กซิตระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถูกผู้เชี่ยวชาญมองว่าสร้างผลดีหลายด้าน ทั้งความสัมพันธ์ที่อบอุ่นขึ้นระหว่างสองฝ่าย และเป็นก้าวแรกที่จะช่วยซ่อมแซมความ
เสียหายของเศรษฐกิจอังกฤษอันเกิดจากเบร็กซิต นอกจากนั้น จะทำให้ความสัมพันธ์ของอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาแน่นแฟ้นขึ้น เพราะรัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญกับสันติภาพของไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ข้อตกลงใหม่ดังกล่าวมีชื่อว่า “กรอบข้อตกลงวินด์เซอร์” (Windsor Framework) ตั้งชื่อตามสถานที่ที่ทำข้อตกลงกัน คือโรงแรมแฟร์มอนต์ ในเมืองวินด์เซอร์ของอังกฤษ จัดทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาพิธีสารไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นบ่อเกิดความขัดแย้งอันขมขื่นระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรมาโดยตลอดนับจากเบร็กซิต

เดิมพิธีสารไอร์แลนด์เหนือถูกออกแบบมาเพื่ออนุญาตให้ไอร์แลนด์เหนือ ยังคงสามารถอยู่ในตลาดยุโรป และสามารถค้าขายสินค้าข้ามแดนได้อย่างเสรีกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอียู อย่างไรก็ตาม มันทำให้การค้าระหว่างบริเตนใหญ่ (อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์) กับไอร์แลนด์เหนือเกิดการชะงักงัน สร้างความปั่นป่วนให้กับห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจและสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายนิยมอังกฤษในไอร์แลนด์เหนือ เพราะให้ความรู้สึกว่าไอร์แลนด์เหนือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

นายริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเอิน ประธานกรรมาธิการยุโรป แสดงความมั่นใจว่าข้อตกลงใหม่ดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาความตึงเครียดได้ เนื่องจากจะมีการกำหนด “เลนสีเขียว” อนุญาตให้สินค้าจากบริเตนที่จะเข้าสู่ไอร์แลนด์เหนือ สามารถผ่านท่าเรือเข้าไปได้โดยผ่านกระบวนการน้อยที่สุด ทั้งด้านเอกสาร การตรวจสอบอื่น ๆ และภาษี

ส่วนสินค้าจากบริเตนที่จะเดินทางเข้าสู่สาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกอียู ยังจะต้องใช้ “เลนสีแดง” ที่จะต้องมีการตรวจสอบเข้มงวด จากเดิมที่สินค้าจากบริเตนที่จะเข้าสู่ไอร์แลนด์เหนือจะต้องถูกตรวจทั้งหมด จากนั้นจึงจะสามารถส่งต่อไปยังสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ทั้งนี้ ไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์มีพรมแดนติดกันยาวเกือบ 500 กิโลเมตร เป็นพรมแดนที่คั่นกลางระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู

“คอลลัม พิกเกอริง” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารเบอร์เรนแบร์ก เยอรมนี ระบุว่า หลังถอนตัวจากอียู ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจอังกฤษ กลายเป็นปัจจัยใหญ่ถ่วงรั้งศักยภาพการเติบโต ข้อตกลงใหม่ดังกล่าวจะช่วยยกอุปสรรคออกไป ทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจอังกฤษแข็งแรง

ส่วน อลัน วินเทอร์ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายการค้า มหาวิทยาลัยซัสเส็กซ์ ชี้ว่า ถือเป็นรางวัลที่ชัดเจน เป็นชัยชนะของมหาวิทยาลัยอังกฤษ เพราะตอนนี้จะสามารถเข้าร่วมโครงการฮอไรซัน ยุโรป ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมที่อียูสนับสนุนเงินทุน 1.01 แสนล้านยูโรได้ และยังทำให้อังกฤษกลับสู่ชุมชนวิจัยวิทยาศาสตร์ในยุโรป อันเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสมัยใหม่

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ เห็นว่า ข้อตกลงนี้เปิดประตูสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู ในด้านบริการการเงิน พลังงาน การวิจัยวิทยาศาสตร์ อังกฤษต้องการตัวช่วยทุกอย่าง เพราะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่รายเดียวที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในปีนี้

ด้าน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา มีแถลงการณ์ต้อนรับข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่าจะเป็นการสร้างเสถียรภาพและความแน่นอนให้กับไอร์แลนด์เหนือ จะช่วยรักษาข้อตกลงสันติภาพไอร์แลนด์เหนือที่ได้มาอย่างลำบากเมื่อปี 1998 เชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับไอร์แลนด์เหนือเต็มที่ ซึ่งสหรัฐพร้อมจะสนับสนุน

“มาร์จอรี เอ.คอร์ลินส์” รองประธานอาวุโสหอการค้าสหรัฐในยุโรปชี้ว่า ข้อตกลงใหม่จะสร้างพื้นฐานแข็งแกร่งสำหรับการเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นระหว่างสหรัฐและยุโรป