สรุป 7 ประเด็นสำคัญ สี จิ้นผิง เยือนรัสเซีย หารืออะไรกับปูตินบ้าง 

สรุป สี จิ้นผิง เยือนรัสเซีย หารืออะไรกับปูติน
สี จิ้นผิง กับวลาดิมีร์ ปูติน วันที่ 21 มีนาคม 2566/ Sputnik/ Mikhail Tereshchenko/ Pool via REUTERS

การเยือนรัสเซียของสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน ลุล่วงผ่านช่วงเวลาสำคัญไปแล้ว นั่นคือการเจรจาหารือกันอย่างเป็นทางการ ในวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 ณ ทำเนียบเครมลิน 

ในช่วงก่อนเที่ยงเป็นการประชุมหารือระหว่างสี จิ้นผิง และทีมงาน กับรัฐบาลรัสเซีย นำโดย มิคาอิล มิชูสติน (Mikhail Mishustin) นายกรัฐมนตรีรัสเซีย แล้วช่วงบ่ายการเจรจาระดับผู้นำสูงสุดระหว่าง “เพื่อนรัก” สี จิ้นผิง กับวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่จบลงด้วยการออกแถลงการณ์ร่วม แล้วชนแก้วแชมเปญกันอย่างชื่นมื่นในช่วงค่ำ

Reuters รายงานในช่วงสายของวันที่ 22 มีนาคม 2566 ตามเวลาท้องถิ่นกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ซึ่งตรงกับช่วงบ่ายตามเวลาประเทศไทยว่า สี จิ้นผิง เดินทางออกจากรัสเซียแล้ว และรายงานถึงบรรยากาศการร่ำลาของผู้นำทั้งสองประเทศว่า สี จิ้นผิงบอกกับปูตินว่า “ตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี เมื่อเราร่วมมือกัน เราจะขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น” ส่วนปูตินตอบว่า “ผมเห็นด้วย” แล้วสี จิ้นผิง ก็ร่ำลาด้วยประโยคว่า “ดูแลตัวเองดี ๆ นะเพื่อนรัก” 

สี จิ้นผิง ไปรัสเซียทำไม ผลประโยชน์ใดที่จีนต้องการ และเขาหารืออะไรกับวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียบ้าง “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปออกมาเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้   

สรุป สี จิ้นผิง กับปูติน หารืออะไรบ้าง
สี จิ้นผิง กับปูติน วันที่ 21 มีนาคม 2566/ Sputnik/ Pavel Byrkin/ Kremlin via REUTERS

1.คุยเรื่องสงครามในยูเครน

เป็นไปตามที่คาดว่าจะมีการหารือเรื่องแผนสันติภาพเพื่อยุติสงครามในยูเครนที่จีนเสนอก่อนหน้านี้ 

Advertisment

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย บอกตั้งแต่วันแรกที่ต้อนรับและทักทายกันว่า รัสเซียพิจารณาข้อเสนอของจีนด้วยความให้เกียรติ 

ส่วนการหารืออย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 21 มีนาคม สี จิ้นผิง ได้ย้ำจุดยืน “เป็นกลาง” ของจีน และเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพ  

Advertisment

ในแถลงการณ์ร่วมของจีนกับรัสเซีย ระบุว่า รัสเซียยินดีที่จีนแสดงบทบาทเชิงบวก โดยการเสนอแผนการเจรจาสันติภาพ ทั้งสองฝ่ายทราบว่าการแก้ไขวิกฤตยูเครนจำเป็นต้องเคารพข้อกังวลที่ชอบด้วยกฎหมายของทุกประเทศในด้านความมั่นคง ป้องกันการก่อตัวของการเผชิญหน้าของกลุ่ม และยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง 

ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำว่าการเจรจาอย่างมีความรับผิดชอบเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขวิกฤตยูเครนอย่างยั่งยืน และประชาคมระหว่างประเทศควรสนับสนุนความพยายามในเรื่องนี้

และทั้งสองฝ่ายเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มความตึงเครียดและยืดเยื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้วิกฤตเลวร้ายลงอีกจนถึงจุดที่อาจข้ามไปสู่ระยะที่ควบคุมไม่ได้ 

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวหลังหารือกับสี จิ้นผิง ในวันอังคารว่า ข้อเสนอของจีนนั้นสอดคล้องกับแนวทางของรัสเซีย และสามารถใช้เป็นพื้นฐานของข้อตกลงสันติภาพได้ แต่ชาติตะวันตกและรัฐบาลยูเครนยังไม่พร้อมที่จะเจรจา 

ทั้งนี้ แผนสันติภาพ 12 ข้อที่จีนเสนอนั้นเรียกร้องให้ลดความตึงเครียดและเรียกร้องการหยุดยิงในยูเครน แต่ขาดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการยุติสงคราม ชาติตะวันตกจึงไม่ยอมรับ และมองว่าเป็นเพียงอุบายซื้อเวลาให้ปูตินจัดกองกำลังของรัสเซียใหม่ให้แข็งแรงขึ้นเท่านั้น 

ส่วนยูเครนเองซึ่งกล่าวก่อนหน้านี้ว่าสงครามไม่สามารถยุติได้จนกว่ารัสเซียจะถอนกำลังทหารออก แต่ยูเครนก็แสดงท่าทีระมัดระวังต่อจีน และเปิดรับข้อเสนอแผนสันติภาพของจีนอย่างระมัดระวัง 

สรุป สี จิ้นผิง กับปูติน หารืออะไรบ้าง
สี จิ้นผิง กับวลาดิมีร์ ปูติน วันที่ 21 มีนาคม 2566/ Sputnik/ Mikhail Tereshchenko/ Pool via REUTERS

2.ส่งเมสเสจถึงสหรัฐและพันธมิตร 

ในแถลงการณ์ร่วม สี จิ้นผิงและปูติน เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาหยุด “บ่อนทำลายความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ทั่วโลก” และหยุดพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธระดับโลก 

และมีส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ที่เป็นนัยถึงสหรัฐและพันธมิตรชาติตะวันตกว่า ทั้งสองฝ่ายต่อต้านรัฐใด ๆ และกลุ่มของรัฐเหล่านั้นที่ทำลายผลประโยชน์ด้านความมั่นคงอันชอบด้วยกฎหมายของรัฐอื่น ๆ เพื่อที่จะได้รับข้อได้เปรียบทางทหาร การเมือง และอื่น ๆ 

3.ประสานความร่วมมืออย่างไร้ขีดจำกัด 

การเจรจาของรัฐบาลรัสเซียกับรัฐบาลจีนมีจุดประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือแบบ “ไร้ขีดจำกัด” ที่ทั้งสองประเทศประกาศไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน 

ในการเจอกันครั้งนี้ ผู้นำจีนกับรัสเซียลงนามในเอกสารหลายชุดเกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในด้านต่าง ๆ 

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือหลายแง่มุมของเราจะพัฒนาต่อไป เพื่อประโยชน์ของประชาชนในประเทศของเรา” ปูตินบอกในการกล่าวสุนทรพจน์ผ่านโทรทัศน์

ฝั่งสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนและรัสเซียควรทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือขึ้นจริงในเชิงปฏิบัติ  

4.ความร่วมมือทางทหาร 

จีนกับรัสเซียให้คำมั่นว่าจะมีการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ผู้นำทั้งสองประเทศกล่าวว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นของพวกเขา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านประเทศใด ๆ และไม่ได้ถือเป็น “พันธมิตรทางการเมืองและการทหาร” 

สรุป สี จิ้นผิง กับปูติน หารืออะไรบ้าง
สี จิ้นผิง กับวลาดิมีร์ ปูติน วันที่ 21 มีนาคม 2566/ Sputnik/ Pavel Byrkin/ Kremlin via REUTERS

5.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ-การค้าทวิภาคี

ประธานาธิบดีจีนและประธานาธิบดีรัสเซียได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม เกี่ยวกับแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจหลายชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-รัสเซีย 2030 (China-Russia economic cooperation up to 2030) 

สี จิ้นผิง กล่าวระหว่างประชุมหารือกับมิคาอิล มิชูสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซียในช่วงครึ่งเช้าของวันอังคารที่ 21 มีนาคมว่า จีนพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับรัสเซียในด้านการค้า การลงทุน ห่วงโซ่อุปทาน โครงการขนาดใหญ่ พลังงาน และเทคโนโลยีขั้นสูง 

ด้านปูตินบอกหลังการเจรจาและลงนามความร่วมมือว่า เป็นการเจรจาที่ “ประสบความสำเร็จและสร้างสรรค์” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของรัสเซียอย่างชัดเจน

ปูตินบอกด้วยว่า รัฐบาลรัสเซียพร้อมที่จะช่วยเหลือธุรกิจจีนให้ตั้งบริษัทและดำเนินธุรกิจในรัสเซียแทนที่บริษัทตะวันตกที่ทิ้งรัสเซียไป

6.ความร่วมมือในการซื้อ-ขายพลังงานราคาถูกกว่าตลาด 

ปูตินกล่าวหลังการหารือว่า รัสเซีย จีน และมองโกเลียได้บรรลุข้อตกลงทั้งหมดเกี่ยวกับท่อส่งก๊าซ Power of Siberia 2 ที่วางแผนไว้สำหรับการจัดส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังจีน และรัสเซียพร้อมที่จะเพิ่มการส่งออกน้ำมันไปยังจีนด้วย 

ก่อนหน้านี้ บริษัท Gazprom ของรัสเซียได้ส่งก๊าซไปยังจีนผ่านท่อส่งก๊าซ Power of Siberia ที่มีอยู่แล้ว ภายใต้ข้อตกลงระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เปิดตัวเมื่อสิ้นปี 2562 

สรุป สี จิ้นผิง หารือกับปูติน
สี จิ้นผิง กับวลาดิมีร์ ปูติน วันที่ 21 มีนาคม 2566/ Sputnik/ Grigory Sysoev/ Kremlin via REUTERS


สำหรับท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Power of Siberia 2 นั้นวางแผนไว้ว่าจะส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังจีน (ผ่านมองโกเลีย) 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (50 bcm) ต่อปี ซึ่งรัฐบาลรัสเซียเสนอแนวคิดนี้เมื่อหลายปีก่อน แต่ต้องเร่งให้ดำเนินการเร่งด่วนขึ้น เพื่อทดแทนรายได้จากยุโรปที่หายไป แต่การส่งออกก๊าซของรัสเซียไปยังจีนยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับที่ส่งออกไปยังยุโรป 177 bcm ในปี 2561-2562 

อย่างไรก็ตาม ปูตินกล่าวในช่วงที่หารือกับสี จิ้นผิงว่า รัสเซียจะส่งก๊าซให้จีนอย่างน้อย 98 bcm ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และบอกด้วยว่ารัสเซียจะเป็น “ซัพพลายเออร์เชิงยุทธศาสตร์” ให้กับจีน ในสินค้าพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

“ซัพพลายเออร์เชิงยุทธศาสตร์” ในที่นี้คาดว่าน่าจะเป็นการขายสินค้าให้ในราคาลดพิเศษ เหมือนที่รัสเซียลดราคาน้ำมันดิบตลอดหลายเดือนก่อนหน้านี้    

7.สี จิ้นผิง เชิญปูตินเยือนจีนในปีนี้

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้เชิญวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางเยือนประเทศจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ในปีนี้ ซึ่งสี จิ้นผิง กล่าวว่าความร่วมมือ Belt and Road มีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงทั้งสองประเทศ 

ทั้งนี้ ปูตินเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ทั้งสองครั้งก่อนหน้านี้ แต่ในปีนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน ไม่รู้ว่าปูตินจะให้คำตอบ “เพื่อนรัก” ของเขาอย่างไร 

นอกจากนั้น สำนักข่าว Xinhua ของจีนรายงานว่า สี จิ้นผิง เสนอให้มีการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีของสองประเทศเป็นประจำด้วย