เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด แต่ท่าทีอ่อนลง ท่ามกลางวิกฤตภาคธนาคาร 

เฟดขึ้นดอกเบี้ย
REUTERS/ Leah Millis

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามที่ตลาดคาด แต่มีท่าทีอ่อนลง พร้อมกับแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในภาคธนาคาร และระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้จะสิ้นสุดแล้ว

วันที่ 22 มีนาคม 2566 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับวันที่ 23 มีนาคม ตามเวลาประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Open Market Committee : FOMC) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%  

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมกับแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในภาคธนาคารที่เกิดขึ้นและเริ่มลุกลามเมื่อเร็ว ๆ นี้ และระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้จะสิ้นสุดแล้ว

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ที่ปรับขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2565 ส่วนหลังจากนี้ FOMC จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลประกอบการพิจารณา  

“คณะกรรมการจะติดตามข้อมูลที่เข้ามาอย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบของนโยบายการเงิน” แถลงการณ์หลังการประชุมของ FOMC ระบุ 

“คณะกรรมการคาดการณ์ว่าการบังคับใช้นโยบายเพิ่มเติมบางอย่างอาจเหมาะสม เพื่อให้บรรลุจุดยืนของนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพียงพอที่จะดึงให้อัตราเงินเฟ้อกลับคืนสู่ระดับ 2% เมื่อเวลาผ่านไป”

ถ้อยแถลงนี้แตกต่างจากข้อความก่อนหน้าซึ่งระบุว่า “การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” จะเหมาะสมสำหรับการดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลดลง 

ขณะที่ความคิดเห็นที่ เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าวระหว่างการแถลงข่าวนั้น หมายความว่าธนาคารกลางอาจใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แต่การต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่จบสิ้น

“กระบวนการทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมาที่ 2% นั้นยังเป็นหนทางอีกยาวไกล และมีแนวโน้มที่จะเป็นหลุมเป็นบ่อ (มีอุปสรรค)” ประธานเฟดกล่าว 

นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังยอมรับว่าเหตุการณ์ความปั่นป่วนล่าสุดในระบบธนาคารมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เงื่อนไขในการให้สินเชื่อเข้มงวดขึ้น และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใดท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐจึงอ่อนลง

แต่ถึงอย่างนั้น พาวเวลล์กล่าวว่า แม้ว่าราคาตลาดจะตรงกันข้ามก็ตาม แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ใน base case ของเฟดในช่วงที่เหลือของปี 2566

“ระบบธนาคารของสหรัฐนั้นแข็งแกร่งและมีความสามารถในการรับมือปัญหา” FOMC ระบุในแถลงการณ์ที่เตรียมไว้ 

“เหตุการณ์ (ภาคธนาคาร) ล่าสุดมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เงื่อนไขการให้สินเชื่อเข้มงวดขึ้นสำหรับครัวเรือนและธุรกิจ และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ไม่แน่นอน คณะกรรมการยังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างสูง”

ในระหว่างการแถลงข่าว พาวเวลล์กล่าวว่า FOMC ได้พิจารณาการหยุดขึ้นอัตราชั่วคราว เนื่องจากวิกฤตการณ์ธนาคาร แต่ท้ายที่สุดก็มีมติเป็นเอกฉันท์ในการตัดสินใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากข้อมูลขั้นกลางเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ และความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน 

“เรามุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคา และหลักฐานทั้งหมด ระบุว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าเราจะทำเช่นนั้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 2% เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งสำคัญคือเราต้องรักษาความมั่นใจนั้นด้วยการกระทำและคำพูดของเรา” ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าว