ดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนจับตาดูการประชุมเฟด

ธาคารกลางสหรัฐ
REUTERS/Leah Millis/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า นักลงทุนจับตาดูการประชุมเฟด ล่าสุดนักลงทุนให้น้ำหนักร้อยละ 85 ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้แค่ร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 4.75-5.00 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 22 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/3) ที่ระดับ 34.54/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ (21/3) ที่ระดับ 34.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากการที่นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องของธนาคารหลายแห่ง ภายหลังความมุ่งมั่นของรัฐบาลสหรัฐในการคุ้มครองเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ และการจัดตั้งกองทุนสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐเพื่อคุ้มครองเงินฝากของประชาชนและเพิ่มระดับความปลอดภัยของระบบธนาคาร

ทั้งนี้ ล่าสุดนักลงทุนได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด โดยล่าสุดเครื่องมือ CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักร้อยละ 85 ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 4.75-5.00 และให้น้ำหนักร้อยละ 15 ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 4.50-4.75 ต่อปี

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มเติมหลังสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่ายอดขายบ้านมือสองปรับตัวขึ้นร้อยละ 14.5 สู่ระดับ 4.58 ล้านยูนิตในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยได้รับแรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

ส่งสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวร้อยละ 3.2 ในช่วงไตรมาส 1/2566 ปัจจัยดังกล่าวสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดอย่างแข็งกร้าว ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูผลการประชุมเฟดคืนนี้ (22-23/3) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การดำเนินนโยบายการเงินเฟดต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามสถานการณ์ปัญหาของธนาคารในสหรัฐและยุโรปอย่างใกล้ชิดและประเมินว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นต่อระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากธุรกรรมของภาคธนาคารและกองทุนประเภทต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำ

ในขณะเดียวกันการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เข้มงวด โดยมีการบังคับใช้เกณฑ์ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องกับธนาคารทุกแห่ง อ้างอิงจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคง มีการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤตยังอยู่ในระดับสูง และมีปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพในระดับต่ำ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.37-34.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.42/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/3) ที่ระดับ 1.0770/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/3) ที่ระดับ 1.0745/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องของธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) ภายหลังการประกาศเข้าซื้อกิจการโดยธนาคารยูบีเอส (Union Bank of Switzerland)

อย่างไรก็ตาม สถาบัน ZEW เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยุโรปเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 10.0 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 16.0 และเดือนก่อนหน้า 29.7 โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอยู่ที่ระดับ 13.0 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 17.1 และเดือนก่อนหน้า 28.1 ส่งสัญญาณว่ามุมมองเศรษฐกิจยุโรปและเยอรมนียังคงไม่สู้ดีนัก

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0759-1.0792 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0787/1.0791 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/3) ที่ระดับ 132.57/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/3) ที่ระดับ 132.17/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่จะมีการเปิดเผยวันศุกร์นี้ (24/3) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.26-132.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.37/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (23/3), รายงานใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน (23/3), รายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (24/3) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (24/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.00/-11.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.60/-11.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ