“วิกฤตธนาคาร” ไม่จบง่าย ๆ ยังเสี่ยงลามสู่วิกฤตโลก

SVB-เครดิตสวิส
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินมาแล้วถึง 2 ครั้ง วิกฤตครั้งแรกเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาในปี 2007 ก่อนลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกเต็มตัวในปี 2008 ทำให้ธนาคารที่ได้ชื่อว่า “ใหญ่ที่สุดในโลก” ในเวลานั้นอย่าง เลห์แมนบราเธอร์ส และรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ล้มหายตายจากไปในที่สุด

คำถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ วิกฤตการณ์ธนาคารที่เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา (อีกแล้ว) และใช้เวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว ทำให้ธนาคารถึง 4 แห่งทรุดลงกับพื้น จนต้องหาวิธีพยุงกันจ้าละหวั่น ตั้งแต่ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (เอสวีบี), ซิกเนเจอร์ และเฟิรสต์ รีพับลิก ในสหรัฐอเมริกา กับเครดิตสวิสในยุโรป สุ่มเสี่ยงจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตระดับโลกเหมือนเมื่อ 15 ปีก่อนหรือไม่

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน การธนาคารส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น และมีเหตุผลที่ดีที่จะคิดเช่นนั้น เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2007-2008 กับที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในปี 2023 ไม่มี “ตราสารอนุพันธ์” เป็นปมเงื่อนซ่อนอยู่ในงบดุลของธนาคารทั่วโลก จนทำให้บรรดาธนาคารที่ไม่มีทุนแข็งแกร่งพอล้มต่อเนื่องกันเป็นโดมิโน ในปีนี้นอกจากทุนของธนาคารโดยรวมแข็งแกร่งกว่าเมื่อ 15 ปีก่อน 2-3 เท่าตัวแล้ว คุณภาพของสินเชื่อก็ยังคงสภาพดีด้วยอีกต่างหาก

แต่เมื่อเกิดภาวะแตกตื่น ทุกอย่างก็ไม่มีความหมาย หุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปร่วงลงเฉลี่ยถึง 19% ในชั่วข้ามคืน ในสหรัฐอเมริกาก็ร่วงสาหัสไม่แพ้กันที่ 17% โดยเฉลี่ย

ในช่วงการซื้อขายเมื่อ 15 มีนาคม 2023 หุ้นของเครดิตสวิสทรุดลงมากถึง 30% จนธนาคารแห่งชาติสวิส (เอสเอ็นบี) ธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ต้องเข้าแทรกแซง อัดฉีดเงินเข้าอุ้มถึง 54,000 ล้านดอลลาร์ ประกอบกับ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องประกาศโปรแกรมพิเศษให้ธนาคารกู้ยืมและเอฟดีไอซี ที่กำกับดูแลกิจการธนาคารในสหรัฐออกมาค้ำประกันเงินฝากทั้งหมด ความปั่นป่วนในตลาดจึงซาลงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นหากคำนึงถึงว่า หลังวิกฤตในปี 2008 มีการปฏิรูปการกำกับดูแลธนาคารและสถาบันการเงินครั้งใหญ่ มีการกำหนดให้ธนาคารต้องมีทุนดำเนินงานขั้นต่ำสูงขึ้น, มีการทดสอบความสามารถของธนาคารเป็นระยะ และกำหนดสัดส่วนสภาพคล่องของธนาคารให้ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม กฎเกณฑ์เหล่านี้หายไปไหนหมด ถึงได้เกิดวิกฤตครั้งใหม่นี้ขึ้นมาในสหรัฐอเมริกา

เห็นได้ชัดว่ากฎข้อบังคับเหล่านี้เพียงแค่ถูกนำมาใช้กับธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 8 แห่งเท่านั้น ถึงได้เกิดกรณีการบริหารงานแบบอ่อนหัด จัดการความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยอย่างย่ำแย่ขึ้นกับ “เอสวีบี” เมื่อผสมผสานเข้ากับการขาดการกำกับดูแล ทำให้ธนาคารแห่งนี้ เช่นเดียวกับ “ซิกเนเจอร์แบงก์” ต้องล้มทั้งยืนในที่สุด เมื่อนักลงทุนพากันแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร

“เฟิรสต์ รีพับลิก” กลายเป็นเป้าต่อมา เมื่อนักลงทุนที่กำลังแตกตื่นตระหนักว่า ธนาคารแห่งนี้ไม่เข้าข่ายใช้ประโยชน์จากโปรแกรมพิเศษของเฟดได้

เมื่อมองข้ามฟากมายังยุโรป เหยื่อรายใหม่ก็หนีไม่พ้น “เครดิตสวิส” ธนาคารใหญ่และเก่าแก่ที่ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่อ่อนแอที่สุดในยุโรป แม้แทบจะไม่มีอะไรเชื่อมโยง หรือเหมือนกับเอสวีบีเลยก็ตามที

สุดท้าย เครดิตสวิสอายุ 167 ปี ก็หลงเหลือเพียงแค่ชื่อในประวัติศาสตร์ ถูกบังคับซื้อกิจการโดย “ยูบีเอส” ธนาคารยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่แข่ง ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำให้ยูบีเอสแข็งแกร่งขึ้นหรืออ่อนแอลง เพราะต้องเข้าไปบริหารจัดการหนี้มหาศาลของเครดิตสวิส

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ การเข้าซื้อกิจการกะทันหันครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ AT1 ทั่วยุโรปอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ถือตราสารหนี้ AT1 มูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ของเครดิตสวิส ถูกโละ กลายเป็น 0 ไปในชั่วพริบตา น่าจับตามองมากว่า ตลาดตราสารหนี้แบบเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 250,000 ล้านยูโรนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

คำถามก็คือ การดำเนินการของภาครัฐและธนาคารกลางต่าง ๆ เหล่านี้ เพียงพอต่อการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารขึ้นมาได้หรือไม่ หากยังไม่ และส่อเค้าว่าจะเป็นเช่นนั้น ก็อาจเกิดปัญหาใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึงขึ้นตามมา โดยเฉพาะกับสถาบันการเงินบางส่วนในระบบที่คุ้นเคยกับอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ มาตลอด เป็นส่วนของระบบที่ขาดการกำกับดูแล แต่มีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน อาทิ เฮดจ์ ฟันด์, ตลาดบำเหน็จบำนาญ และตลาดตราสารนอกตลาด เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นวิกฤตธนาคารก็จะยังคงอยู่และรอเหยื่อรายต่อไป

นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า โอกาสที่วิกฤตครั้งนี้จะกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลกอีกครั้งนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำก็จริงอยู่ แต่ในเวลาเดียวกัน ขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตของรัฐบาลต่าง ๆ ก็น้อยลงกว่าเมื่อ 15 ปีก่อนอีกด้วย งบดุลรัฐบาลในยามนี้ตึงตัวสุดขีด จะอัดฉีดเงินเข้าระบบเหมือนที่ผ่านมาก็ไม่ได้ จะลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้

แถมยังอาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้ออีกด้วย