CEO ไร้เดียงสา-เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย จุดชนวน SVB ล้มใน 48 ชม.

SVB
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ความสนใจของโลกในเดือนมีนาคม เปลี่ยนโฟกัสความสนใจจากประเด็นที่ว่าการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (เฟด) วันที่ 21-22 มีนาคมนี้ จะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ไปสู่เรื่องใหม่ที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ หรือ SVB ที่ใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น ในการทำให้ธนาคารอายุ 40 ปี และมีขนาดใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐ ล้มครืนลงแบบไม่น่าเชื่อ

SVB เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นให้บริการลูกค้าที่เป็นกิจการ startup ด้านเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว startup เหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนการลงทุนจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ VC (venture capital) ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่เป็นกระดูกสันหลังสำคัญในการให้บริการ startup ซึ่งปกติแล้วมักไม่ได้รับความสนใจจากธนาคารขนาดใหญ่ดั้งเดิม เนื่องจากถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง

การบูมของธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถูกกระตุ้นโดยอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในระดับต่ำมาก รวมทั้งการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ SVB เติบโตเร็ว เนื่องจาก startup นับพันรายนำเงินมาฝากไว้กับ SVB สินทรัพย์ของธนาคาร (รวมเงินปล่อยกู้) เพิ่มขึ้นเกิน 3 เท่า จาก 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปลายปี 2019 ไปเป็น 2.2 แสนล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม 2022 ส่วนเงินฝากก็เพิ่มขึ้นจาก 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.98 แสนล้านดอลลาร์

ที่ผ่านมาในช่วงดอกเบี้ยต่ำมาก SVB ก็ทำเหมือนธนาคารอื่น คือนำเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สุด แต่ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ทำให้มูลค่าพันธบัตรที่ SVB ซื้อไว้ลดลง ขณะเดียวกันการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น และยากที่จะระดมเงินทุนใหม่ ๆ ทำให้ startup ที่เป็นลูกค้าของ SVB ถอนเงินออกไปเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของบริษัทให้อยู่รอด

ทำให้ SVB ต้องขายพันธบัตรที่ลงทุนไว้ออกไปในราคาขาดทุนเพื่อรองรับการถอนเงินของลูกค้า สุดท้ายนำมาสู่การประกาศเพิ่มทุน 2.25 พันล้านดอลลาร์ ในวันที่ 8 มีนาคม 2023 กลายเป็นต้นตอให้ลูกค้าคนอื่น ๆ แตกตื่น และแห่มาถอนเงินในวันที่ 9 มีนาคม มากถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในวันเดียว ซึ่งไม่มีทางที่ SVB จะหาเงินมาให้ได้ทัน จบลงด้วยการถูกทางการเข้าควบคุม

หลังจากนี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีการสอบสวนหาสาเหตุการล้มละลาย และแน่นอนว่าเกมชี้นิ้วตำหนิว่าเป็นความผิดของใครก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฟอลวี อดีตพนักงานของ SVB ซึ่งลาออกไปก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว และปัจจุบันก่อตั้งกองทุนของตัวเองชี้ว่า การเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดของชุมชนนักลงทุนประเภท VC เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ SVB ล้มอย่างกะทันหัน เขาแฉว่าพวกกองทุน VC ใหญ่ ๆ เช่น ยูเนียน สแควร์ เวนเจอร์ และ Coatue Management ได้กระหน่ำส่งอีเมล์ไปถึงบรรดาบริษัท startup ที่พวกเขาร่วมลงทุนอยู่ให้ถอนเงินออกจาก SVB
เพราะกลัวว่าจะเกิด bank run หลังจาก SVB ประกาศเพิ่มทุน นอกจากนี้โซเชียลมีเดียก็ช่วยกระพือข่าวอย่างรวดเร็ว

“สเปนเซอร์ กรีน” นักลงทุน VC รายหนึ่ง ได้ออกมาตำหนิพวก VC รายอื่น ๆ ที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะของ SVB “สำหรับผมแล้ว SVB ไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่อง จนกระทั่งมีพวก VC 2-3 ราย ออกมาป่าวประกาศ พวกเขา ไม่มีความรับผิดชอบเลย ตอนนี้พวกเขาก็สมใจอยากแล้ว”

“เจฟฟ์ ซอนเนนเฟลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเยล สคูล ออฟแมเนจเมนท์ และ สตีเวน เทียน ผู้อำนวยการวิจัยของสถาบันภาวะผู้นำ กล่าวว่า SVB สมควรถูกตำหนิเรื่องภาวะผู้นำ เพราะมันเหมือนกับว่ามีบางคนจุดไม้ขีดไฟ แล้ว SVB ก็ตะโกนว่าไฟไหม้ แล้วก็ไปกดกริ่งสัญญาณไฟไหม้ เพื่อจะแสดงความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ทั้งที่อันที่จริงแล้ว SVB ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเพิ่มทุน เพราะมีเงินทุนเพียงพอเกินกว่าที่ทางการกำหนดไว้มาก และที่สำคัญกว่านั้น ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยที่จะเปิดเผยว่าขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ จากการขายพันธบัตรไปพร้อม ๆ กัน

ขณะเดียวกัน ทั้งซอนเนนเฟลด์และเทียนระบุว่า เฟดสมควรถูกตำหนิเช่นกัน เพราะการล้มเป็นผลโดยตรงจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและสูง

คนวงในของ SVB ชี้ว่า เรื่องนี้เกิดจากความผิดพลาดและไร้เดียงสาของ “เกร็ก เบกเคอร์” ซีอีโอและผู้บริหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำผิดทำชั่วแต่อย่างใด “พวกเขาทำผิดพลาด แต่พวกเขาไม่ใช่คนเลว”