ศุภวุฒิ กะเทาะปมแบงก์ล้ม ห่วงฟาดชิ่งส่งออกไทย เศรษฐกิจไม่โต

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ตั้งแต่สถานการณ์ “แบงก์ล้ม” ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา มาจนถึงธนาคาร “เครดิตสวิส” สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของยุโรป เกิดปัญหา ทั้งสองกรณีได้รับการเข้าไปโอบอุ้มจากทางการอย่างรวดเร็ว

ทว่าปัญหาจะยังไม่จบง่าย ๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความเห็นจากหลายฝ่ายต่อเรื่องนี้ บ้างกังวลว่า จะลุกลามเป็นโดมิโน บ้างก็มองว่าเป็นปัญหาเฉพาะราย ทางการของสหรัฐและยุโรปน่าจะเอาอยู่

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ถึงปมปัญหาและแนวโน้มในอนาคต รวมถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทย

SVB-เครดิตสวิส ผลไม่ต่างกัน

“ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า หากพิจารณาถึงปัญหาในตอนจบแล้ว ไม่ว่าจะกรณีที่เกิดในสหรัฐอเมริกา อย่างเคส Silicon Valley Bank (SVB) หรือกรณียุโรป เคสธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ก็ส่งผลแบบเดียวกัน คือ ผู้ฝากเงินไม่มั่นใจและถอนเงินออกจากธนาคาร ทำให้กรณี SVB มีปัญหาจนต้องปิดแบงก์ เพราะไม่สามารถหาเงินมาคืนผู้ฝากเงินได้ทัน จนทางการสหรัฐต้องมีมาตรการเข้ามาดูแล

ขณะที่กรณีเครดิตสวิสก็คล้ายกัน ที่สุดท้ายแล้วธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ก็ต้องเข้ามาดูแลด้วยการปล่อยกู้ให้ 50,000 ล้านฟรังก์

“ตอนจบ จะจบเหมือนกัน ถ้ามีปัญหา คือคนจะถอนเงินฝาก แต่ต้นทางของปัญหาจะไม่เหมือนกัน”

โดยต้นทางปัญหาของ SVB คือ การบริหารสินทรัพย์ที่ผิดพลาด มีการซื้อพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนต่ำในช่วงที่เงินฝากทะลักเข้ามามาก หรือระหว่างปี 2020-2021 ตอนนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของบริษัทเทคโนโลยี และเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) ขณะที่ดอกเบี้ยช่วงนั้นเป็นศูนย์ และธนาคารกลางก็อัดสภาพคล่องเข้าไปในระบบอย่างมาก

อย่างในอเมริกาสภาพคล่องก็เพิ่มขึ้นถึง 4-5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากการอัดฉีดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงรัฐบาลก็ยังอัดเงินอีกกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ แจกประชาชน ตอนช่วงโควิด-19 ซึ่งพวกบริษัทเทค สตาร์ตอัพ VC ได้เงินกันไปมาก

“ช่วงนั้นเงินฝาก SVB เพิ่มขึ้นจาก 6 หมื่นล้านเหรียญ เป็นเกือบ 2 แสนล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 200% ภายในเวลาแค่ 2 ปี SVB ก็เลยไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร ต้องไปซื้อพันธบัตรที่ปลอดภัยมาก คือ พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ปัญหาคือ พันธบัตรให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในพอร์ตแค่ 1.64% แล้วพอเฟดขึ้นดอกเบี้ยจาก 0% มาเป็น 4% กว่า ทำให้สเปรด (ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้) ติดลบ กระแสเงินสด (cash flow) ติดลบ SVB ประกาศว่าจะต้องขายพันธบัตร เพราะคงต้องการ cash flow แล้วยังสารภาพว่าจะขาดทุน 1,800 ล้านเหรียญ ทำให้ต้องเพิ่มทุน”

หลัง SVB ประกาศดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้นตกมากกว่า 100 เหรียญในคืนเดียว และผู้ฝากรายใหญ่ ที่ส่วนมากเป็นบริษัทเทค เป็น VC ที่เงินฝากไม่ได้รับการค้ำประกัน ก็เร่งพากันถอนเงินออกจาก SVB โดยถอนออกไปถึง 4 หมื่นล้านเหรียญ จนนำมาสู่การปิดแบงก์ในที่สุด และ ทางการของสหรัฐต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ

สหรัฐเร่งสกัดผู้ฝากแห่ถอนเงิน

“ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า ส่วนอีกธนาคารที่มีปัญหาเช่นกัน คือ Signature Bank รวมถึงแบงก์ที่ปิดไปก่อนหน้านั้นอย่างธนาคารซิลเวอร์เกต เพราะคนกังวลในเรื่องการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี นอกจากนี้ก็มีอีกแบงก์คือ First Republic Bank ที่รู้ตัวว่าเปิดมาว่าจะมีปัญหาแน่

จึงมีการตกลงกับ เจพีมอร์แกน และทางการสหรัฐ เพื่อกู้เงินมากองไว้ราว 4 หมื่นล้านเหรียญ แต่ก็ยังมีปัญหา ล่าสุดแบงก์ใหญ่ของสหรัฐ 11 แห่ง ต้องประกาศนำเงินไปฝากกับ First Republic Bank ถึง 3 หมื่นล้านเหรียญ

“สังเกตได้ว่า ฝั่งอเมริกาจะแก้ปัญหา โดยการคุมไม่ให้คนแห่ถอนเงินฝาก เป็นการพยายามทำให้เกิดความมั่นใจของผู้ฝากเงินรายใหญ่ว่าอย่าถอนเงินออกไป เพราะขนาดแบงก์ใหญ่ยังนำเงินไปฝากเลย เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ เดี๋ยวจะมีแบงก์ที่เข้าคิวเหมือนกับ First Republic Bank ผมคิดว่ามีอีกอย่างน้อย 6-7 แห่งได้”

อุ้ม “เครดิตสวิส” ซื้อเวลา

ส่วนกรณีปัญหาของฝั่งยุโรป “ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า กรณีเครดิตสวิส ต้นตอของปัญหาอาจจะต่างกับฝั่งสหรัฐ แต่ผลกระทบที่ออกมาเหมือนกัน คือ ราคาหุ้นของแบงก์ดิ่งลงไปมากถึง 24% แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นกลับขึ้นมาได้เพราะธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เข้าไปปล่อยกู้ให้ 50,000 ล้านฟรังก์ หรือ 54,000 ล้านเหรียญ เพื่อให้มีสภาพคล่อง

“เป็นการซื้อเวลา เพื่อให้เครดิตสวิส เก็บกวาดข้างในบ้านตัวเอง เพราะเครดิตสวิส เป็นธนาคารที่ขาดทุนติดต่อกันมา 5 ไตรมาสแล้ว และราคาหุ้นก็ค่อย ๆ ไหลลงมาเรื่อย ๆ มาเป็นปีแล้ว ลงเยอะมากใน 2 ปีที่ผ่านมา ลงไปแล้วประมาณ 60% ก่อนที่จะตก 24% เมื่อวันก่อน ฉะนั้นมีปัญหามาอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ เครดิตสวิส ยังประสบปัญหาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ซาอุดิ เนชั่นแนล แบงก์ ที่ถือหุ้นอยู่เกือบ 10% ให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่ใส่เงินเพิ่มทุนให้เครดิตสวิส จึงทำให้คนตกใจ ผู้ฝากเงินก็ตื่นตระหนก อย่างไรก็ดี เครดิตสวิสก็มีการแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรคืน ซึ่งด้วยราคาพันธบัตรที่ตกลงไปมาก ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับแบงก์ เพราะซื้อคืนได้ในราคาถูก แต่ก็แค่ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ และยังไม่ได้แก้ปัญหาเดิม หรือปัญหาพื้นฐานของแบงก์

“เครดิตสวิสมีปัญหามายาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มวาณิชธนกิจ ไปทำอะไรที่รุ่มร่ามมาเยอะมาก เคยไปควบรวมกับวาณิชธนกิจชื่อ เฟิร์ส บอสตัน เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว พอทำไปแล้วก็เกิดปัญหา อย่างกรณี 1 MDB ซึ่งเครดิตสวิสก็มีชื่อเข้าไปมีเอี่ยวด้วย แล้วก็ยังเคยถูกทางการของยุโรปลงโทษโดยการปรับ 500 ล้านเหรียญ

เพราะไปช่วย รมว.คลัง โมซัมบิก โกงเงิน รวมถึงเมื่อปี 2018 ยังเคยถูกอเมริกา เข้าไปสอบสวน และลงโทษปรับรวมกันกว่า 70 ล้านเหรียญ เพราะมีการละเมิดกฎหมาย จากที่มีความพยายามจ่ายเงินให้รัฐบาลจีน ผ่านการจ้างพนักงาน และให้เงินเดือนสูง ๆ”

“ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวอีกว่า ช่วง 2 ปีหลังมานี้ เครดิตสวิส ยังมีการเข้าไปปล่อยกู้ให้บริษัท กรีนฟิลด์ แคปปิตอล ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ล้ม ทำให้แบงก์เสียหายไปกว่า 3,000 ล้านเหรียญ และเมื่อปี 2021 ก็มีการปล่อยกู้ให้บริษัทแห่งหนึ่ง ที่นำไปเล่นมาร์จิ้นแล้วไม่มีเงินจ่าย ทำให้เครดิตสวิสเสียหายไปอีก 5,500 ล้านเหรียญ

“ทั้งหมดนี้ยังไม่จบ เพราะมีการลิสต์ออกมาว่า ลูกค้าของเครดิตสวิส ประมาณกว่า 3 หมื่นคน มีเป็น 100 คน ที่เป็นนักการเมืองที่ไม่ค่อยดี มีการค้ายาเสพติด มีการฟอกเงิน มีเงินจากคอร์รัปชั่นเยอะแยะ ทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เครดิตสวิสเองต้องเปลี่ยน CFO ตั้ง 3 คน”

ดอกเบี้ยสูงสร้างความเสี่ยงที่น่ากลัว

“ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่า ปัญหาแบงก์ล้มจะลุกลามไปแค่ไหน แต่สังเกตได้ว่า ทางการของสหรัฐและยุโรปเข้ามาดูแลปัญหาแบบเต็ม 100% เพราะกลัวว่าจะเอาไม่อยู่ จึงต้องเข้ามาแบบเต็มตัว อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าคิดก็คือ นักลงทุนหรือผู้ฝากเงิน ก็คงจะมีการเลือกหาธนาคารที่ดูไม่มีปัญหา และถอนเงินออกจากแบงก์ที่ดูไม่ค่อยดี

“ผมขอย้ำ ในช่วงที่ดอกเบี้ยสูงและจะสูงขึ้นไปอีก ล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% ทำให้ผู้ฝากเงินเขารู้ว่า ไปที่อื่นก็ได้ดอกเบี้ยสูง และถ้าดีกว่าแบงก์เดิม ก็ไม่รู้จะไปเสี่ยงทำไม คือ ผู้ฝากเงินก็จะดูคุณภาพของแบงก์มากขึ้น ดังนั้น ธนาคารกลางของสวิสจึงต้องพยายามเอาให้อยู่ ล้อมคอกให้อยู่ เพราะรู้ว่าจะลามได้เยอะมาก”

ทั้งนี้ “ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า ภาวะที่มีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและอยู่สูงนาน เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด และโลกก็จะปั่นป่วน ซึ่งภาวะแบบนี้ก็มีโอกาสที่จะเห็นแบงก์ล้มตามมาอีกหลายแห่งได้ โดยเฉพาะในยุโรปที่ก่อนหน้านี้มีการซื้อพันธบัตรไว้ค่อนข้างมาก

คาดเฟดขึ้น ดอกเบี้ยต่อสู้เงินเฟ้อ

ส่วนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้น “ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า ไม่ว่าจะอย่างไร เฟดก็จะต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งการที่มีแบงก์ล้ม เฟดอาจจะระมัดระวังมากขึ้น แต่เฟดจะไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย ตราบใดที่ยังคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ เนื่องจากเป็นบทบาทตามกฎหมายที่เฟดต้องปฏิบัติ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา

“เฟดประกาศเอง เมื่อปี 2012 ว่า เสถียรภาพของราคา แปลว่าเงินเฟ้อต้อง 2% แล้วตอนนี้ไม่ใช่ 2% แต่อยู่ที่ 6% คำถามคือ ดอกเบี้ยที่ยังอยู่ไม่ถึง 5% จะคุมเงินเฟ้อที่สูง 6% ได้หรือเปล่า ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะตอนหลังดูเหมือนเงินเฟ้อจะปราบยาก ซึ่งถ้าปราบยาก ก็คงต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีก ไม่อย่างนั้นถ้าเอาเงินเฟ้อไม่อยู่ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าอีก”

“ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า ในอดีตช่วงปี 1979-1980 เฟดเคยประเมินสถานการณ์พลาด ขึ้นดอกเบี้ยช้า จนต้องเปลี่ยนผู้ว่าการไปถึง 3 คน และสุดท้ายมีการหักดิบขึ้นดอกเบี้ยถึง 20% เพื่อปราบเงินเฟ้อที่ตอนนั้นอยู่กว่า 10% ดังนั้น เชื่อว่าตอนนี้เฟดคงต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะปราบเงินเฟ้อได้หรือไม่ ดังนั้นจึงคิดว่าดอกเบี้ยเฟดในระดับ 5% คงได้เห็นแน่นอน และอาจจะสูงเกินกว่านี้ด้วย

“ต้องดูว่าต้นทุนในการปราบเงินเฟ้อ มีต้นทุนต่อเศรษฐกิจเยอะหรือเปล่า ตอนนี้ไม่รู้ แต่สงสัยว่าต้นทุนจะสูง คือจะต้องทำให้คนตกงานเยอะขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องลดคน หรือแม้กระทั่งต้องล้มละลายไป ถึงจะดึงเงินเฟ้ออยู่หรือเปล่า คือไม่มีใครอยากให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ต้องคุมเงินเฟ้อให้ได้ ก็หวังว่าจะดึงเงินเฟ้อลง โดยกระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุดได้”

หวั่น ดอกเบี้ยสูงยืดเยื้อยาวนาน

“ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า ท่ามกลางโลกที่ปั่นป่วนนี้ จะมีคนที่เกิดปัญหาแน่ ๆ หากบริหารไม่เก่ง หรือบริหารพลาด แต่จะถึงขั้นเป็นวิกฤตหรือไม่ อาจจะไม่ถึงขั้นวิกฤตรอบใหม่ เพียงแต่หากคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ แล้วต้องหักดิบขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ เหมือนในอดีต เศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกจะตกแรงกว่าที่คิดมาก และจะตกในปีหน้า

“จริง ๆ แล้วถ้าเร่งให้เศรษฐกิจถดถอยเร็วในวันนี้เลย จะได้ไม่ลงแรง อาจจะดีกว่ายื้อ คุมเงินเฟ้อไม่อยู่ แล้วไปหักดิบปีหน้า ซึ่งตอนนี้คนที่บอกว่าเฟดไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ย ถ้าเป็นจริงอย่างนั้น ระวังจะกลายเป็นหวังดีประสงค์ร้าย เพราะถ้าคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ปีหน้าก็ไปขึ้นดอกเบี้ยต่อ จะทำให้คุณเหนื่อยของจริง เพราะดอกเบี้ยจะสูง และสูงอย่างยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งดอกเบี้ยสูงจะทำธุรกิจยาก”

ห่วงส่งออกไทยแย่ฉุดเศรษฐกิจ

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น “ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า ผลกระทบโดยตรงคงไม่มี แต่ผลกระทบทางอ้อมมีแน่นอน เพราะถ้าเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรปแย่ ไทยก็ส่งออกไม่ได้ และหากสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยไปสูง ดอกเบี้ยไทยก็จะสูงตามไปในที่สุด ซึ่งผลกระทบต่อการส่งออกนั้นน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของจีดีพี ขณะที่การท่องเที่ยวมีสัดส่วนแค่ 12% ฐานเล็กกว่าส่งออกถึงประมาณ 4 เท่า ดังนั้นจะให้ท่องเที่ยวแบกเศรษฐกิจภาพรวมคงไม่ได้

“ผมเป็นห่วงส่งออก ทางการเขาคาดการณ์ว่าครึ่งหลังส่งออกจะดีขึ้น กลับมาฟื้น แต่ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ ผมว่าดีไม่ดี ส่งออกไม่ฟื้น ซึ่งปีนี้เราหวังว่าเศรษฐกิจเราจะฟื้นต่อ เพราะท่องเที่ยวดี แต่ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นกับการท่องเที่ยวจะดีอย่างที่คาดหรือเปล่า แล้วก็ต้องดูว่าส่งออกจะไม่มาตามนัดหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้น ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะสูญเสียโมเมนตัมของการฟื้นตัว”

ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอแนะ “ดร.ศุภวุฒิ” กล่าวว่า คงต้องกลับมาดูปัจจัยพื้นฐานระยะยาว ว่าประเทศไทยควรจะหากินอย่างไร ต้องสร้างซัพพลายอย่างไร ซึ่งตนอยากให้สร้างซัพพลาย สร้างสินค้าและบริการที่โลกต้องการ มากกว่ากระตุ้นดีมานด์ มากกว่าการที่รัฐบาลแจกเงิน ซึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาว แค่ทำให้รัฐบาลได้รับคะแนนนิยม

“ระยะยาว เราต้องผลิตสินค้าที่โลกต้องการ ในราคาที่ถูกลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะขึ้นกับซัพพลายไซด์ โดยรอบนี้ไปกระตุ้นดีมานด์ไม่ได้ เพราะทั้งโลกมีปัญหาเงินเฟ้อ” ดร.ศุภวุฒิกล่าว