ส่อง 16 หุ้นไทยในมือ เครดิตสวิส มูลค่า 2.6 หมื่นล้าน

Credit Suisse
ภาพจาก AFP

ส่อง 16 หุ้นไทยในมือ Credit Suisse AG, Singapore Branch พบถือครองด้วยมูลค่าเกือบ 2.6 หมื่นล้านบาท ‘STARK-TRUE-MINT-SAWAD-TTA’ ติดโผ 5 อันดับแรก ด้านผู้จัดการตลาดหุ้นไทย แจงไส้ใน

วันที่ 16 มีนาคม 2566 หลังผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Saudi National Bank ที่ถือหุ้นใน Credit Suisse (CS) ประมาณ 9.9% ประกาศว่าจะไม่เพิ่มการลงทุนในบริษัท เนื่องจากจะทำให้ทาง Saudi National Bank ถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งเป็นระดับที่จะมีกฎระเบียบต่าง ๆ เข้ามาบังคับใช้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะจากทั้งหน่วยงานของทางซาอุฯ ทางสวิส หรือทางยุโรป ซึ่งทาง Saudi National Bank ไม่อยากมีความยุ่งยากในตอนนี้

ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าอนาคตของบริษัทอาจดูไม่ดีนัก ประกอบกับเพิ่งเผชิญกับการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐอย่าง Silicon Valley Bank และ Silvergate และ Signature Bank ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีแรงเทขายหุ้นออกมา หากนับจากจุดสูงสุดของปี 2565 ราคาหุ้นของ Credit Suisse ลดลงกว่า 85%

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ข้อมูลล่าสุดทาง CREDIT SUISSE AG, SINGAPORE BRANCH ติดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) อยู่ทั้งหมด 16 บริษัท มูลค่าเกือบ 2.6 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

เปิดรายชื่อ 16 บริษัท

1.บมจ.บ้านปู (BANPU) จำนวน 94.87 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.12%

2.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) จำนวน 192.02 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.46%

3.บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) จำนวน 88 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.93%

4.บมจ.เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์ (FNS) จำนวน 8.55 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.47%

5.บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX) จำนวน 12.12 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.70%

6.บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) จำนวน 89.70 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.03%

7.บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) จำนวน 175.18 หุ้น สัดส่วน 3.29%

8.บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) จำนวน 30 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.62%

9.บมจ.พลัส เทค อินโนเวชั่น (PTECH) จำนวน 7.3 หมื่นหุ้น สัดส่วน 0.04%

10.บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) จำนวน 63.25 ล้านหุ้น สัดส่วน 4.61%

11.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) จำนวน 2,602.06 ล้านหุ้น สัดส่วน 21.85%

12.บมจ.ทีเอ็มที สตีล (TMT) จำนวน 47 ล้านหุ้น สัดส่วน 5.40%

13.บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จำนวน 757.96 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.19%

14.บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) จำนวน 76.25 ล้านหุ้น สัดส่วน 3.60%

15.บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) จำนวน 150 ล้านหุ้น สัดส่วน 8.23%

16.บมจ.ไทยวา (TWPC) จำนวน 20.38 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.31%

โดย 5 อันดับหุ้นที่ถือครองด้วยมูลค่าสูงสุดคือ 1.STARK มูลค่าหุ้นกว่า 6.1 พันล้านบาท 2.TRUE มูลค่าหุ้นกว่า 6 พันล้านบาท 3.MINT มูลค่าหุ้นกว่า 5.5 พันล้านบาท 4.SAWAD มูลค่าหุ้นกว่า 3.1 พันล้านบาท และ 5.TTA มีมูลค่าหุ้นกว่า 1.2 พันล้านบาท (คำนวณราคาปิดวันที่ 16 มี.ค.2566)

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการตรวจสอบข้อมูล CS เข้าไปถือหุ้นของ บจ.ไทยนั้น ส่วนใหญ่พบว่า CS เป็นผู้ให้บริการคัสโตเดียนแบงก์ในการรับฝากหุ้น จึงเป็นการถือหุ้นแทนนักลงทุนเท่านั้น จะไม่ได้ถือหุ้น บจ.ไทยโดยตรง จึงไม่ต้องกังวลที่จะมีแรงขายหุ้นออกมา

“คัสโตเดียนแบงก์มีกรรมวิธีในการทำงานค่อนข้างรอบคอบและละเอียดมาก ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ CS จะไม่มากระทบกับการให้บริการกับคัสโตเดียนแบงก์แน่นอน จึงไม่ต้องกังวล เพราะเจ้าของหุ้นตัวจริงคือนักลงทุน” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย กล่าว

นอกจากนี้เนื่องจาก CS เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่มาก และธุรกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวกับการออกตราสารต่าง ๆ ให้ บจ. (Invesment Banking) และเป็นผู้จัดหาเรื่องการลงทุน (Private Banking) ให้กับนักลงทุนบุคคลและกลุ่ม HNW

ซึ่งมีธุรกรรมอยู่ทั่วโลก และในประเทศไทย CS เป็นหนึ่งในโบรกเกอร์หลักทรัพย์ (บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด) ที่ให้บริการกับนักลงทุนและผู้ระดมทุนในประเทศไทย ฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วการทำธุรกรรมตัวกลางในประเทศไทย แค่การให้บริการระดมทุน จะไม่ได้เป็นการปล่อยสินเชื่อ

“กรณี SVB และ CS มองว่ายังกระทบต่อตลาดหุ้นไทยน้อย หากแต่ปัจจุบันตลาดมีความไม่แน่นอนสูง อาจจะเกิดผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ดีตลาดหลักทรัพย์ฯได้เตรียมเครื่องมือหรือมาตรการรองรับสำหรับเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้ว

มาตรการที่เรามีสามารถใช้ได้เสมอในเวลาที่ตลาดผันผวนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่วันนี้ยังไม่ได้มองว่าจะไปถึงจุดนั้น แม้ว่าตลาดหุ้นวันนี้จะเปราะบางมากก็ตาม”

โดยข้อเน้นย้ำว่าผลกระทบจากปัญหา CS จะแตกต่างจากกรณี SVB เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่ไม่ดีมาอย่างต่อเนื่องและรายงานผลขาดทุนในงบฯปี 2565 ซึ่งสอดคล้องกับที่ National Swiss Bank (NSB) ได้ให้ข้อมูลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการลุกลาม (No Contagion) มาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องในบางธนาคารของสหรัฐ