เกิดอะไรขึ้นกับธนาคารเครดิตสวิส ?

เครดิตสวิส
โดยบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน  
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง(ประเทศไทย)จำกัด

เกิดอะไรขึ้นกับ Credit Suisse เมื่อคืนที่ผ่านมา

ทางด้านผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Saudi National Bank ที่ถือหุ้นใน Credit Suisse ประมาณ 9.9% ประกาศว่าจะไม่เพิ่มการลงทุนในบริษัทเนื่องจากจะทำให้ทาง Saudi National Bank ถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งเป็นระดับที่จะมีกฎระเบียบต่าง ๆ เข้ามาบังคับใช้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะจากทั้งหน่วยงานของทางซาอุฯ ทางสวิส หรือทางยุโรป ซึ่งทาง Saudi National Bank ไม่อยากมีความยุ่งยากในตอนนี้

ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าอนาคตของบริษัทอาจดูไม่ดีนัก ประกอบกับเพิ่งเผชิญกับการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐอย่าง SVB และ Silvergate ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีแรงเทขายออกมา หากนับจากจุดสูงสุดของปี 2565 ราคาหุ้นของ Credit Suisse ลดลงกว่า 85%

การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ Credit Suisse

หลังจากประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ทาง Credit Suisse ได้ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคม 2565 โดยมีแผนตั้งแต่ การลดขนาด investment bank, ขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับ Apollo Global Management, เพิ่มทุน 4 พันล้านเหรียญ (มีการลงทุนจาก Saudi National Bank) และมุ่งเน้นไปยังธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและวาณิชธนกิจแทน

เหตุการณ์นี้น่ากังวลแค่ไหน

ถ้าเราไปดูจากผลประกอบการของ Credit Suisse จะพบว่าทางธนาคารได้ขาดทุนมาแล้ว 5 ไตรมาสติดต่อกัน ตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 จนถึงไตรมาส 4/2565 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บอกว่าหลังจากมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่แล้ว ทางธนาคารมีโอกาสกลับมามีกำไรได้ในปี 2568

ซึ่งสอดคล้องกับที่ CEO ของบริษัทที่ออกมากล่าวเช่นกัน ขณะที่ถ้าเราไปดูอัตราส่วน Tier 1 Capital Ratio จะพบว่าทาง Credit Suisse มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 14.10% ซึ่งถือว่าสูงกว่าเกณฑ์ของ Basel 3 ที่กำหนดไว้ที่ 8% สะท้อนว่าบริษัทยังคงมีเงินทุนสำรองอยู่ในระดับสูงอยู่

อย่างไรก็ตาม ถ้าไปดูขนาดของ Credit Suisse จะพบว่าเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นอันดับที่ 17 ของยุโรป หากมองในแง่ผลกระทบที่เกิดขึ้น กรณีล้มละลายขึ้นมาจริง ๆ ผลกระทบอาจจะรุนแรงกว่ากรณีของ SVB ค่อนข้างมาก เนื่องจาก Credit Suisse เป็นธนาคารที่มีธุรกรรมในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ รวมถึงสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการสูงถึง 1.6 ล้านล้านฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของ GDP ของ EU ส่งผลให้ Credit Default Swap (CDS) อายุ 1 ปีซึ่งเปรียบเสมือนค่าเบี้ยประกันหาก Credit Suisse ผิดนัดชำระ ตอนนี้สูงขึ้นไปถึง 3,700 bps

จุดเริ่มต้นปัญหาของ Credit Suisse

เมื่อเดือนมีนาคม 2021 ทาง Credit Suisse ได้เผชิญข่าวร้ายหลังลูกค้ารายใหญ่ที่สุดจะไม่สามารถจ่ายเงินมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ที่เป็นหนี้ในวันทำการถัดไปได้ หลังจาก Archegos Capital Management ของมหาเศรษฐี Bill Hwang ขาดทุนจากการเข้าเดิมพันเกินขนาดหรือการใช้ margin เข้าซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากก่อนที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลงแรง และโดน margin call ให้บังคับขายหุ้นออกมาในราคาขาดทุน โดยทาง Goldman Sachs และ Morgan Stanley เป็นธนาคารแรก ๆ ที่ไหวตัวทัน และได้บังคับให้ Archegos ขายหุ้นเพื่อหยุดการขาดทุนหรือ Stop Loss

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน Credit Suisse เห็นสัญญาณตรงนี้ช้ากว่าธนาคารคู่แข่ง ทำให้บังคับ Archegos ขายหุ้นในราคาที่ขาดทุนมากขึ้นไปอีก เนื่องจากราคาหุ้นร่วงหนัก หลังทั้ง Goldman Sachs และ Morgan Stanley บังคับขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ส่งผลให้ Credit Suisse ขาดทุนถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ากำไรทั้งปีของบริษัท ขณะที่มูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ปรับตัวลงแรง เนื่องจากราคาหุ้นของ Archegos ก็ปรับตัวลงแรงเช่นกัน ก่อนที่บริษัทจะล้มละลายในระยะถัดมา ส่งผลให้ทาง Credit Suisse ขาดทุนมหาศาล นอกจากนี้ทาง Credit Suisse ยังได้รับความเสียหายทางชื่อเสียงจากการปิดกองทุน 4 กองทุนที่บริหารร่วมกับ Greensill Capital หลังจากบริษัทล่มอีกด้วย ส่งผลให้หุ้นของ Credit Suisse ปรับตัวลงต่อเนื่อง

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

ทางทีมกลยุทธ์การลงทุนมีมุมมองว่า Credit Suisse มีขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และของยุโรป เชื่อว่าธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ต้องเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ ขณะที่ทางเลือกของ Credit Suisse ยังมีได้ตั้งแต่ 1.การเพิ่มทุนจากนักลงทุนรายอื่น ๆ นอกเหนือทาง Saudi National Bank 2.ขายสินทรัพย์เพิ่มเติม 3.ขายกิจการให้กับ UBS (CEO UBS ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้) 4.ขอความช่วยเหลือจาก Swiss National Bank

ล่าสุดธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ได้ออกแถลงถึงกรณี Credit Suisse ยังมีสภาพคล่องเพียงพอ และหากจำเป็นธนาคารกลางเองก็พร้อมให้สภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งเราประเมินว่า Credit Suisse เข้าข่าย Too Big To Fail และมีความสำคัญต่อระบบการเงินของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และยุโรป หากปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย มีโอกาสส่งผลลามเป็นวิกฤตการเงินในยุโรปอีกครั้ง

ขณะที่ในช่วงเช้าวันนี้ (16 มีนาคม 2566) ทางธนาคาร Credit Suisse ได้แถลงว่าได้เข้ากู้ยืมเงินทางธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เป็นวงเงิน 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นสภาพคล่องให้กับธนาคาร รวมถึงประกาศอีกว่าธนาคารกำลังทำ tender offer อีกเช่นกัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน

มุมการลงทุน

ถึงแม้ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จะเข้ามาประคองสถานการณ์ในตอนนี้ และพร้อมจะสนับสนุนด้านสภาพคล่อง แต่อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าตอนนี้ sentiment ตลาดยังค่อนข้างเปราะบางต่อข่าวในภาคธนาคารทั้งในสหรัฐและยุโรป ซึ่งส่งผลภาพรวมการลงทุนจะมีความผันผวนต่อไป ขณะที่ต้องจับตาการประชุม ECB ในสัปดาห์นี้เช่นกัน ว่าจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร และจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เท่าไหร่

เพราะฉะนั้นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพของระบบการเงิน ดังนั้นแล้วเราแนะนำให้ wait & see การลงทุนในยุโรปไปก่อนสำหรับนักลงทุนระยะสั้น และเป็นโอกาสเข้าสะสมสำหรับนักลงทุนระยะยาวหลังธนาคารสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาแสดงท่าทีพร้อมให้ความช่วยเหลือ