ธนาคารเครดิตสวิสหุ้นดิ่ง all-time low นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ผลกระทบระดับโลก

เครดิตสวิส

หุ้นธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ร่วงแรง ทำสถิติต่ำสุดตลอดกาล ก่อนฟื้นกลับได้เล็กน้อย และหุ้นธนาคารหลายแห่งในยุโรปร่วงหนักเช่นกัน ทั่วโลกจับตาหวั่นจะเป็นรายต่อไปที่จะล้มหรือไม่ ? นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า ปัญหาของเครดิตสวิสเป็นปัญหาระดับโลก และไม่ได้มีเพียงธนาคารเครดิตสวิสที่ความสามารถในการทำกำไรอ่อนแอ คาดว่าจะมีปัญหาอื่นตามมาอีก

วันที่ 15 มีนาคม 2566 หุ้น CSGN ของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ในตลาดหลักทรัพย์สวิตเซอร์แลนด์ ร่วงลงราว 30% สู่ระดับต่ำสุดตลอดกาล (all-time low) ที่ราคา 1.56 ฟรังก์สวิสต่อหุ้น ณ เวลา 14.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนจะฟื้นกลับไปปิดที่ราคา 1.70 ฟรังก์สวิสต่อหุ้น ลดลง 24.24% จากราคาเปิดตลาดที่ 2.28 ฟรังก์สวิส

นอกจากนั้น หุ้นธนาคารหลายแห่งในยุโรปประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยหุ้นกลุ่มธนาคารในตลาดหุ้นยุโรปดิ่งลง 7% ซึ่งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นำไปสู่การพักการซื้อขายหุ้นธนาคารหลายแห่ง 

ปรากฏการณ์หุ้นธนาคารเครดิตสวิสร่วงหนักเกิดขึ้นหลังจากการประกาศรายงานทางการเงินในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ซึ่งมีการบอกว่า พบจุดอ่อนสำคัญในการควบคุมผลการดำเนินงาน หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้วได้ประกาศผลการดำเนินงานปี 2565 ว่าขาดทุน 7,300 ฟรังก์สวิส ซึ่งเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า อัมมาร์ อัล คูแดรี (Ammar Al Khudairy) ประธานธนาคารแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย (Saudi National Bank) ซึ่งเป็นผู้ให้กู้และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารเครดิตสวิสบอกว่า จะไม่เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น และไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เครดิตสวิสเพิ่มอีกอย่างแน่นอน

Bloomberg รายงานอีกว่า ในขณะที่นักลงทุนทั่วโลกยังคงวิตกกังวลกับการล้มของธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐ วิกฤตของธนาคารเครดิตสวิสที่เพิ่มขึ้นมาเป็นอีกเหตุผลให้เกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงแล้วหันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ Benchmark Indexes ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลง 2% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ในสหรัฐร่วง 1.3% ส่วนราคาพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของเยอรมนีพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนลดลงมากกว่า 40 basis points หรือ 0.40% 

The Guardian รายงานความเห็นเชิงวิเคราะห์ของ แอนดรูว เคนนิงแฮม (Andrew Kenningham) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำยุโรปของบริษัทวิจัย Capital Economics ซึ่งแสดงความเห็นแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ดังนี้ 

ประเด็นแรกคือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยหลักการแล้วเครดิตสวิสเป็นปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐที่มีปัญหาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเครดิตสวิสมีปัญหามาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และปัญหาที่เกิดในสหรัฐอาจส่งผลกระทบได้ ดังนั้น จึงไม่น่าตกใจนักสำหรับนักลงทุนหรือผู้กำหนดนโยบาย 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เครดิตสวิสมีขนาดงบดุลที่ใหญ่กว่า Silicon Valley Bank มาก (530,000 ล้านฟรังก์สวิส ณ สิ้นปี 2565) และมีความเชื่อมโยงกับทั่วโลกมากกว่ามาก โดยมีบริษัทสาขาหลายแห่งนอกสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ปัญหาของเครดิตสวิสไม่ใช่แค่ปัญหาของสวิส แต่เป็นปัญหาระดับโลก 

ประเด็นที่สอง เครดิตสวิสจะเสียหายมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความละเอียดรอบคอบในการแก้ปัญหา ซึ่งมาตรการเพื่อดูแลสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินทั่วโลก (Global Systemically Important Bank : GIBS) มีแผนการแก้ปัญหา แต่แผนเหล่านั้นไม่เคยถูกใช้นับตั้งแต่นำมาใช้ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลก 

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วสามารถทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบมากเกินไป โดยมีเงื่อนไขว่าเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด และผู้ถือหุ้นกู้ Senior Debt ได้รับการคุ้มครอง แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะตระหนักถึงสิ่งนี้ แต่ความเสี่ยงของการแก้ปัญหาที่ไม่ละเอียดรอบคอบจะทำให้ตลาดกังวล จนกว่าจะมีการแก้ปัญหาที่ชัดเจน 

ประเด็นที่สาม การเทขายหุ้นของเครดิตสวิสและหุ้นกลุ่มธนาคารอาจส่งผลต่อการตัดสินนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคมนี้ ซึ่งคาดการณ์ของ Capital Economics ในตอนนี้คือ ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ 3.0%

ประเด็นที่สี่ สำคัญที่สุดคือ ปัญหาของเครดิตสวิสทำให้เกิดคำถามอีกครั้งว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ระดับโลก หรือเป็นเพียงกรณีเฉพาะตัวอีกกรณีหนึ่ง 

“เครดิตสวิสถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดในบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ของยุโรป แต่ก็ไม่ใช่ธนาคารเดียวที่ประสบปัญหาความสามารถในการทำกำไรอ่อนแอในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” 

“นอกจากนั้น นี่เป็นปัญหาแบบเกิดขึ้นครั้งเดียว กรณีที่ 3 ที่เกิดขึ้นในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากวิกฤตการณ์ตลาดทองคำในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนกันยายน และความล้มเหลวของธนาคารในภูมิภาคของสหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดังนั้น คงเป็นเรื่องโง่ที่จะคิดว่าจะไม่มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา” แอนดรูว เคนนิงแฮม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำยุโรปของ Capital Economics กล่าว