บทบรรณาธิการ : วิกฤตธนาคารล้มยังไม่จบ

Credit Suisse เครดิตสวิส
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo/File Photo
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ยังไม่ทันที่ปัญหาการล้มลงของ Silicon Valley Bank หรือ SVB กับ Silvergate ธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้กับ กลุ่มกองทุนแวนเจอร์แคปกับบริษัทสตาร์ตอัพในสหรัฐจะคลี่คลายลง ข้ามฟากมายังฝั่งยุโรปก็เกิดเหตุการณ์ ธนาคารเครดิตสวิส Credit Suisse หรือ CS ธนาคารเก่าแก่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีท่าทีว่าจะไปไม่รอด หลัง Saudi National Bank ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารปฏิเสธที่จะเพิ่มทุนให้

แม้สถานการณ์ของ SVB กับ Credit Suisse จะแตกต่างกัน กล่าวคือ ในกรณีของ SVB เป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ลูกค้าของ SVB ซึ่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มเทคและสตาร์ตอัพแห่กันออกมาถอนเงินที่ฝากไว้กับ SVB เพื่อนำมาลงทุนในการดำเนินธุรกิจต่อ ในขณะที่ SVB ก็นำเงินไปลงทุนในพันธบัตร จนไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาจ่ายให้กับผู้ถอนเงิน กลายเป็นวิกฤตต้องนำพันธบัตรขายออกมาในราคาต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่องจนเกิดผลการดำเนินการขาดทุน

Federal Deposit Insurance Corp. หรือ FDIC ต้องออกมาช่วยเหลือด้วยการประกาศรับประกันเงินฝากของลูกค้าธนาคารทั้งหมด ต่างจากกรณีของ Credit Suisse ที่มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจสีเทา พัวพันกับคดีทุจริตและการฟอกเงิน แต่เนื่องจากการเป็นธนาคารขนาดใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่ ธนาคารกลางสวิส จะต้องออกมาให้ความช่วยเหลือให้กับ Credit Suisse ทันที

โดยความช่วยเหลือที่ SVB กับ Credit Suisse ได้รับ จะมีความเหมือนตรงที่ว่า เป็นการช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับธนาคารทั้ง 2 แห่งด้วยความรวดเร็ว และยังเป็นการให้ความช่วยเหลือที่เกินไปกว่าการช่วยเหลือในอดีต

แน่นอนว่า การดำเนินการช่วยเหลือดังกล่าวก็เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าธนาคาร และยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจของทั้งฝั่งสหรัฐและฝั่งยุโรปที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจการเงินการลงทุนของโลกอย่างไม่อาจที่จะปล่อยให้ธนาคารใดธนาคารหนึ่งล้มลงไปได้

หันกลับมาที่ประเทศไทย แม้จะได้รับการยืนยันถึงความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินที่มีสัดส่วนทุนต่อทรัพย์สินเสี่ยงอยู่เหนือมาตรฐานสากล หรือคำยืนยันจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ว่า ปัญหาจากธนาคารทั้งสองจะกระทบกับการซื้อขายหุ้น “เพียงเล็กน้อย” ก็ตาม

แต่จำเป็นที่นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องจักต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะยังมีธนาคารอีกเป็นจำนวนมากที่มีสถานะทางการเงินใกล้เคียงหรือเหมือนกับ SVB-CS เพียงแต่รอเวลาว่า เหตุการณ์จะปะทุลุกลามขึ้นมาเมื่อไหร่เท่านั้น