เฟดยังเดินหน้าคุมเงินเฟ้อ ไม่ลดดอกเบี้ยแม้แบงก์ล้ม

เฟดยังเดินหน้าคุมเงินเฟ้อ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปอยู่ในช่วง 4.75-5% สูงที่สุดนับจากปี 2007 การขึ้นดอกเบี้ยเกิดขึ้นแม้จะมีนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าวิกฤตการล้มของธนาคารหลายแห่ง ซึ่งเริ่มต้นจากธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ และสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย อาจจะทำให้เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม

แถลงการณ์ของคณะกรรมการระบุว่า ระบบธนาคารของสหรัฐยังอยู่ในสภาพดี และฟื้นคืนสภาพได้เร็ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มจะทำให้สินเชื่อสำหรับครัวเรือนและภาคธุรกิจตึงตัวและมีผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ การจ้างงานและเงินเฟ้อ แต่ระดับของผลกระทบยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยังคงให้ความเอาใจใส่อย่างสูงต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อ

คณะกรรมการได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ขึ้นเล็กน้อย จาก 3.1% เป็น 3.3% อัตราว่างงานลดลงไปอยู่ที่ 4.5% จากเดิม 4.6% ส่วนจีดีพีจะเติบโต 0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 0.5% ขณะเดียวกันเมื่อดูจากคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของคณะกรรมการรายบุคคลบ่งชี้ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ 5.1% ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมว่า หลังจากเกิดวิกฤตธนาคาร คณะกรรมการได้พิจารณาถึงการหยุดขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็มีมติเอกฉันท์ที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเนื่องจากข้อมูลที่ได้รับเข้ามาทั้งเงินเฟ้อ การจ้างงาน ยังคงแข็งแกร่งกว่าที่คาด “เรามีพันธะผูกพันที่จะรักษาเสถียรภาพราคา และหลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่าสาธารณชนมีความเชื่อมั่นว่าเราจะทำอย่างนั้นเพื่อดึงเงินเฟ้อลงมา มันมีความสำคัญที่เราจะรักษาความเชื่อมั่นนั้นด้วยการกระทำและคำพูดของเรา”

ประธานเฟดยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบธนาคารของสหรัฐอเมริกาในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะทำให้สินเชื่อสำหรับทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจตึงตัว และกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะระบุได้ว่าจะมีผลกระทบเพียงใด แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเศรษฐกิจยังมีหนทางที่จะสามารถชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวลหรือซอฟต์แลนดิ้ง

“กระบวนการกดเงินเฟ้อลงมาให้ได้ตามเป้าหมาย 2% ยังมีหนทางยาวไกลและไม่ราบรื่น จากข้อมูลในขณะนี้การลดดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ในกรณีพื้นฐานของคณะกรรมการ ยังไม่มีใครเห็นว่าควรจะลดดอกเบี้ยในปีนี้” ประธานเฟดระบุ

“เดวิด เคลลี” หัวหน้านักกลยุทธ์ลงทุนระดับโลกของเจพี มอร์แกน แอสเซต แมเนจเมนต์ ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยแสดงให้เห็นว่าเฟดมีปัญหาเรื่องการมุ่งจุดสำคัญ หลังจากเหตุการณ์ธนาคารล้ม เฟดควรจะหันแกนหลัก
ไปสู่ความเป็นกลางทางดอกเบี้ยมากกว่านี้ เฟดแข็งกร้าวเกินไปในการขึ้นดอกเบี้ยและเกาะติดอยู่กับความแข็งกร้าวนั้น

ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงรุนแรงเมื่อปิดตลาด ดัชนีดาวโจนส์ติดลบ 530.49 จุด หรือ 1.63% ปิดที่ 32,030.11 จุด เอสแอนด์พี 500 ลดลง 65.90 จุด หรือ 1.65% ปิดที่ 3,936.97 จุด แนสแดคปรับลง 190.15 จุด หรือ 1.6% ปิดที่ 11,669.96 จุด ทั้งที่ในตอนแรกอยู่ในแดนบวก

จิม เครเมอร์ ผู้จัดรายการแมดมันนี่ ทางซีเอ็นบีซี และอดีตผู้จัดการกองทุนป้องกันความเสี่ยง ชี้ว่า การที่ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงแรงไม่ได้เกิดจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่เกิดจากคำพูดของเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่ว่ารัฐบาลจะไม่อุ้มผู้ถือหุ้น ผู้ถือพันธบัตรหรือผู้ฝากเงินของธนาคารใด ๆ ก็ตามที่ล้มไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

“นักลงทุนจำนวนมากคาดหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่เมื่อเยลเลนพูดในสิ่งตรงข้าม ก็ส่งคลื่นความกลัวไปทั่วตลาด การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นสมเหตุสมผลและมีเหตุผล ตลาดหุ้นจะไม่เป็นอะไร ถ้าไม่ใช่
เพราะคำพูดของเยลเลน”

“เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการจัดสรรการใช้จ่ายงบประมาณของวุฒิสภา ในวันเดียวกันนี้ว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐยังไม่มีแผนใด ๆ ที่จะรับประกันหรือคุ้มครองเงินฝากแบบครอบคลุมโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งตรงข้ามกับคำพูดของประธานเฟดที่ว่าจะใช้เครื่องมือทุกอย่างในการดูแลเงินฝากของผู้ฝากเงินให้ปลอดภัย