ตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก อึมครึม ‘นักลงทุน-เฟด’ เอาไง?

สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์ที่ค่อนข้างมีความตึงเครียดในภาคการเงินสหรัฐ รวมถึงตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป หลังจากราคาหุ้น Credit Suisse ปรับตัวร่วงลงอย่างหนัก

แม้ว่าวันนี้ตลาดจะคลายกังวลขึ้น หลังจากทางการสหรัฐและทางการสวิส รวมถึงทั่วโลกได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถควบคุมวิกฤตภาคธนาคารได้

และแม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจะอ่อนแรงลง แต่ต้องติดตามต่อไปว่า ในรอบการประชุมเฟดวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ ท่าทีของเฟด ซึ่งถือเป็นจุดวัดใจว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน

วันนี้ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด

Q: ความคลุมเครือหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดโลกจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน

ดร.จิติพลกล่าวว่า จุดแรกที่เราต้องระมัดระวังก่อน ก็คือประเด็นของเรื่องความเสี่ยง ประเด็นนี้จะสร้างความกลัวให้กับตลาด ซึ่งผมเชื่อว่าปัจจุบันเป็นแค่จุดเริ่มต้น โอกาสที่จะมีความกังวลอยู่กับตลาด มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่กับเราประมาณ 1-2 เดือนเป็นอย่างน้อยกว่าที่เรื่องนี้จะซาลงไป

และจุดที่ผมคิดว่าน่ากังวลต่อจากนี้ ก็คือผลกระทบที่น่าจะเกิดตามมาจากเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Credit Suisse หรือ Silicon Valley Bank ซึ่งก็คงจะต้องมี Follower-up ต่อ และก็ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นในเรื่องของความกลัวของตลาดมากขึ้น

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจและต้องติดตามก็คือ ภาพรวมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ มันจะชะลอตัวลงไป หรือว่าจะไม่ฟื้นตัวแล้ว จะลงไป Recession แบบที่เราเคยมองกันปีที่แล้วหรือเปล่า

ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะว่าหลังจากเดือนสองเดือนที่เราคุยกันเรื่องนี้แล้ว สุดท้ายก็คงต้องกลับมาคุยกันในเรื่องแนวโน้มของเศรษฐกิจ ซึ่งผมเชื่อว่าภาพเศรษฐกิจในฝั่งของยุโรปและฝั่งของอเมริกาได้รับ

ผลกระทบค่อนข้างสูง อย่างน้อยก็เป็นในเรื่องของความเชื่อมั่น และการฟื้นตัวรอบนี้มันต้องใช้ความเชื่อมั่นในระดับที่สูงพอสมควร ก็คิดว่าอาจจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ก็คือการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงการลงทุน ในฝั่งตะวันตกก็อาจจะชะลอลง

พอพูดถึง Global ก็จะค่อนข้างชัดเจนเลยว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นเศรษฐกิจในฝั่งของยุโรปและอเมริกาชะลอตัวลง ปกติแล้วก็จะทำให้โลกชะลอตัวลงด้วย แต่รอบนี้จะมีความแตกต่างกัน พอเวลาเราพูดกันในบริบทของ Global จีนจะถือว่าใหญ่ขึ้นมา และเอเชียจะถือว่าใหญ่ขึ้นมาในปีนี้

และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเขาก็ถือว่าค่อยเป็นค่อยไป อาจจะไม่โดดเด่นมาก ถ้าเกิดในฝั่งของตะวันตกยังชะลอตัวอยู่ แต่ผมเชื่อว่าการฟื้นตัวของจีนรอบนี้ การ Reopening บวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบข้างจีน น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้การลงทุน และตลาดเงินตลาดทุนเริ่มมีการขยับเคลื่อนย้ายเงิน

จุดที่มองก็คือนักลงทุนอาจจะเลือกด้วยการมองหุ้นสหรัฐหรือหุ้นยุโรป ก็คงจะซื้อขายในกรอบเมื่อมีความเสี่ยงปรับฐานลงมา ก็เป็นจังหวะที่เข้าไปซื้อ แต่พอเวลาขึ้นไปต้องจำไว้เสมอว่าความเสี่ยงยังมี และอาจจะต้อง Take Profit ออกมา

แต่ถ้าเกิดอยากลงทุนระยะยาว ก็อาจจะมีการปรับพอร์ตโฟลิโอ หรือว่าย้ายเงินลงทุนกลับมาในฝั่งของเอเชียมากกว่า ก็จะเป็นลักษณะที่คล้าย ๆ กัน ว่าถ้าตลาดอยู่ในความกังวล ความกลัว เราไม่จำเป็นต้องรีบเข้า เราอาจจะรอจังหวะ ถ้าเกิดตลาดมีการปรับฐานลงมา หรือย่อตัวลงมาก็ค่อยทยอยซื้อ

ผมเชื่อว่าภาพรวมของเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะไม่ได้ดีมากนัก ด้วยแรงกดดันหลาย ๆ อย่าง แต่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นจุดที่ทำให้การลงทุนยังถือว่าน่าสนใจและยังสามารถลงทุนได้

Q: ท่าทีของเฟดรอบนี้ จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือชะลอ-หยุดการขึ้นดอกเบี้ย

ในมุมมองส่วนตัว ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าความเปลี่ยนแปลงของตลาด รวมไปจนถึงหลังจากนี้ที่เขามองว่าโอกาสน่าจะเป็นอย่างไร

แต่ว่าอย่างแรกที่เราเห็นก่อน ว่าเรื่องราวที่เฟดใช้ในการขึ้นดอกเบี้ย หรือว่าขยับนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหลักคือเรื่องของเงินเฟ้อ เรื่องที่สองก็คือเรื่องของตลาดแรงงานที่ร้อนแรงเกินไป

ประเด็นของ SVB หรือว่าประเด็นของ Credit Suisse ไม่ได้ทำให้ทั้งสองเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยยังมีอยู่ตามเรื่องราวที่เฟดเคยให้กับเราไว้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

แต่ว่าจุดที่สำคัญจริง ๆ ก็คือเรื่องนี้อาจจะไปกระทบกับเรื่องสภาพคล่องแล้วก็เสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ธนาคารกลางสหรัฐตั้งตาและจับตาดูอยู่เช่นเดียวกัน จุดนี้ผมเชื่อว่าอาจจะไม่ได้กระทบแนวโน้มของการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ยังต้องใช้ในการคุมเงินเฟ้ออยู่ แต่อาจจะกระทบนโยบายอื่น ๆ รวมไปจนถึงเป้าหมายของเงินเฟ้อ รวมไปจนถึงเป้าหมายของเศรษฐกิจ และเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว

เพราะฉะนั้นถ้ามองในมุมของตัวเลขเศรษฐกิจและอนาคต ถ้ามันมีโอกาสที่จะชะลอตัวลง ผมเชื่อว่าเป้าหมายของเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ย หลายคนเคยมองว่า 6% หรือเปล่า หรือสูงกว่านั้น ผมเชื่อว่าไม่เกิดขึ้นแล้ว โอกาสเต็มที่ผมเชื่อว่าไปได้ไกลที่สุดคือ 5.5% อาจจะน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ แต่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น 25 bps (0.25%) ในประชุมครั้งนี้ ผมเชื่อว่ามีโอกาสสูง ยังมีโอกาสที่เขาจะขึ้นได้

Q: Asset Class ประเภทไหน ที่ดูจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนได้ หรือควรชะลอก่อนในช่วงนี้

จุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด พอเวลามองตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมองตลาดระยะสั้น ผมจะมอง 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกก็คือเรื่องของสภาพคล่อง ว่ามีสภาพคล่องเข้ามาใหม่ในตลาดหรือเปล่า ถ้าไม่มีโอกาสที่ตลาดจะเรียกว่าค่อย ๆ ขยับเข้าไปหาสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยมันจะมีอยู่แล้ว และเหตุการณ์ทั้ง 2-3 เหตุการณ์ที่เราเจอกันในช่วงที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สภาพคล่องมันลดลงทั้งหมด

เพราะฉะนั้นสัดส่วนการลงทุนอาจจะเอียงไปด้านตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน ในขณะเดียวกัน จุดที่ผมมองเป็นจุดที่สองนะครับ ก็คือเซนติเมนต์ของการลงทุน รวมถึงกับระดับราคาว่ามันน่าสนใจไหม และเซนติเมนต์มันเป็นเชิงบวกหรือว่าเป็นเชิงลบ

คือถ้าเซนติเมนต์เป็นเชิงลบมาก ๆ ราคาของสินทรัพย์มันมักจะอยู่ในระดับที่ถูก ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดเซนติเมนต์เป็นเชิงบวกมาก ๆ ระดับสินค้าก็จะอยู่ในระดับที่แพงมาก ดังนั้น ตรงนี้มันบอกเราอีกหนึ่งอย่างนะครับว่า โอเคเราอาจจะบอกว่าภาพรวมของความเสี่ยงตอนนี้มันเยอะมาก แต่ว่าในทางกลับกันจุดที่นักลงทุนควรจะต้องสนใจคือ มันมีสินทรัพย์ไหนที่มันผิดปกติหรือเปล่าจากเหตุการณ์นี้ และเราก็ใช้จังหวะนี้เข้าไปซื้อ

แต่ละสินทรัพย์ผมจะไล่ไป ในส่วนของ Cash (เงินสด) อย่างแรกเลยเราเห็นประโยชน์ของมันมากขึ้น โดยเฉพาะยิ่งในฝั่งของอเมริกาและยุโรปที่จะยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอยู่ โอกาสที่จะอ่อนค่าเร็ว ๆ ผมเชื่อว่ามีแต่ไม่มาก กรณีเดียวก็คือ ถ้าเกิดเขาหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และดอกเบี้ยเป็นขาลง อันนี้ถึงจะ reverse trend ผมเชื่อว่าน่าจะยังเห็นเหตุการณ์ที่ดอลลาร์หรือว่ายูโรยังเป็นสินทรัพย์ที่ถือว่าน่าสนใจ และก็พักไว้ได้ ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง

ลดสัดส่วนลงทุนบอนด์

ในส่วนของตราสารหนี้ ความกลัวเริ่มมีแล้ว แต่ว่าก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่เรียกว่าความเสี่ยงต่ำ เพราะฉะนั้น Inflow (การไหลเข้าของเงิน) พอจะเข้าใจอยู่ เราจะเห็นบอนด์ยีลด์ปรับตัวลงได้แม้ว่าตลาดจะกังวลว่าเฟดไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย หรืออาจจะยังขึ้นต่อเพราะกังวลเงินเฟ้อ ตรงนี้อย่างแรกเลยเรามองว่ามันไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ เป็นการลงทุนที่อาจจะไม่ได้เหมาะมากกับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

ระยะสั้นผมเชื่อว่า Hedge พอร์ตได้ แต่ระยะยาวเราแนะนำลดความเสี่ยงในการลงทุน หรือว่าลดสัดส่วนในการลงทุนในตราสารหนี้ลงก่อน ไปรอจนกว่าที่เราจะเห็นการเปลี่ยนนโยบายการเงินที่ชัดเจนก่อน เราให้สัดส่วนแค่ประมาณ 20-30% ของพอร์ตโฟลิโอเท่านั้นเอง

เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น

เพราะว่าสัดส่วนที่ผมให้มากขึ้น ก็คือในฝั่งของหุ้น ต้องบอกว่าหลายคนอาจจะพูดว่ามีความกังวล และมีเรื่องที่น่ากลัวเกิดขึ้นในตลาดมากมาย แต่ผมเชื่อว่าจุดสำคัญจริง ๆ มันอยู่ที่ว่าเราอยู่ในกลุ่มสินทรัพย์ที่รับความเสี่ยงตรงนั้นตรง ๆ หรือเปล่า ถ้าเราอยู่แนะนำเลยว่าออกก่อน มาดูสถานการณ์ก่อนก็ได้ ไม่ต้องไปเกี่ยงราคา

ในฝั่งของอเมริกายังเชื่อว่าโอกาสลงยังมีอยู่ ระดับราคายังแพงเกินไป ตรงนี้ก็แนะนำว่าลดสัดส่วนลงก่อน ยุโรป-ญี่ปุ่น เป็นที่แรกที่เราคิดว่ามีโอกาสที่เงินจะผันตัวไป เพราะว่าระดับราคาถือว่าอยู่ในระดับราคาที่ไม่ได้แพงมาก

ถ้าเกิดใครกังวลเรื่องแบงก์ในฝั่งของยุโรป ก็อาจจะไป North Asia ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน ผมเชื่อว่าตรงนี้จะเป็นค่อนข้างน่าสนใจ

โอกาสของจีน

อีกจุดหนึ่งที่เราเพิ่มการลงทุนคือในฝั่งของจีน ผมเชื่อว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ถ้าเทียบกับในฝั่งของอเมริกาและยุโรป ปัญหาถ้าจะเกิดขึ้นในฝั่งการเงินของเอเชียและจีน ก็น่าจะเริ่มมาจากอสังหาฯ ตอนนี้อสังหาฯยังไม่ฟื้นก็จริง แต่ผมเชื่อว่าโอกาสที่จะลงไปแรง ๆ และธนาคารกลางไม่ช่วยมันน้อยลงมาก ไม่เหมือนปีก่อน เราอาจจะบอกว่าใช้จังหวะนี้ ตอนที่ตลาดปรับฐานเข้าไปสะสม เน้นไปทางด้าน H-Share ที่เป็นเทคโนโลยี ตรงนี้ผมยังเชื่อว่ามีโอกาสที่จะรีบาวนด์ได้อยู่นะครับ

เลือกตั้งหนุนหุ้นไทย

ส่วนสุดท้ายก็คือของหุ้นไทย หุ้นไทยผมเชื่อว่าจุดเด่นจริง ๆ อาจจะมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ เราจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะมีนโยบายใหม่ ๆ และก็จะมี outlook ของการเติบโตใหม่ ๆ ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจ ตรงนี้ถ้านักลงทุนอยากลงทุน ผมเชื่อว่าไม่ต้องรีบ รอจังหวะตลาดปรับฐาน แล้วก็รอดูผลของการเลือกตั้งก่อนก็ได้ ถ้าเกิดเริ่มเห็นความสงบหลังเลือกตั้ง น่าจะลงทุนได้ ผมเชื่อว่าอนาคตมีดีกว่าเดิม และข้อ 2 เราก็มองความเกี่ยวข้องของการลงทุนในโลกกับการลงทุนไทย มันมีจุดที่สอดคล้องกันอยู่ 2-3 อย่าง

อย่างแรกเลยก็คือ ในกลุ่มพลังงาน พอราคาน้ำมันปรับตัวลงเป็นแรงกดดันของหุ้นไทย เพราะว่ามีกลุ่มพลังงานเยอะ แต่เราก็มองตรงนี้ว่าก็เป็นโอกาสเช่นเดียวกัน ว่าประเทศเราก็จะเป็นประเทศในการ import (นำเข้า) น้ำมัน

ดังนั้น เรามอง 2 จุดก็คือเราหาการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่ระดับราคาปรับตัวลงมามาก ๆ และซื้อ on rebound อีกอย่างหนึ่งเราก็จะมองหากลุ่มธุรกิจที่น่าจะได้รับประโยชน์กับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมา ก็จะมองไปทางด้านของกลุ่มผู้ผลิตพลังงาน หรือว่าในกลุ่มของการบริโภค ซึ่งผมเชื่อว่าก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกัน

นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่ให้นักลงทุนได้ศึกษาเพื่อตัดสินใจลงทุนในภาวะที่ตลาดเงินตลาดทุนโลกกำลังผันผวนอยู่ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ